วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ครูพกพา (Portable Teachers)


                                                                                                                     สุริยา เผือกพันธ์ เขียน

“ตารางเรียนที่จัดในแต่ละวันเป็นตารางเรียนของคนที่อ่านหนังสือออกเขียนหนังสือได้ เด็กที่มีปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือทันเพื่อน”


คำสำคัญ : ครูพกพา (Portable Teachers), การเรียนรู้เคลื่อนที่ (Mobile Learning) การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (Illiteracy) ระบบนิเวศน์ทางการศึกษา, (Educational Ecology), ห่วงโซ่ความรู้ (Knowledge Chain)

                การแห้งขอดของลำธารที่เคยชุ่มเย็นด้วยสายน้ำ ทำให้ฝูงสรรพสัตว์ในผืนป่าต้องอพยพไปยังแหล่งน้ำที่ยังพอเหลือให้ได้ดื่มกิน เกิดเป็นชุมชนแห่งใหม่ที่หนาแน่นและมีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ของชีวิตเป็นระบบนิเวศน์ (Ecology) ใหม่ ที่เต็มไปด้วยการต่อสู้แย่งชิงเพื่อความอยู่รอด ห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) อาจแปรเปลี่ยนไปตามระบบความสัมพันธ์แบบใหม่ด้วย
                ระบบการศึกษามีปรากฏการณ์คล้ายกันกับการเกิดระบบนิเวศน์ใหม่ในถิ่นทุรกันดาร ประชากรในวัยเรียนต่างอาศัยเส้นทางคมนาคมที่มีความสะดวกเพิ่มขึ้น ใช้เป็นเส้นทางอพยพโดยมีรถยนต์ลำเลียงออกมาจากหมู่บ้านต่าง ๆ ที่กระจายตัวอยู่รอบเมือง เข้าไปออกันแน่นในโรงเรียนไม่กี่แห่ง ทำให้โรงเรียนในเมืองมีจำนวนนักเรียนหนาแน่น เกิดเป็นชุมชนใหม่ที่มีปัญหาต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ที่เป็นปัญหามากก็คือ การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (Illiteracy) ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ทางการศึกษา (Educational Ecology) ใหม่ ที่มีห่วงโซ่ความรู้ (Knowledge Chain) ใหม่เกิดขึ้นด้วย


                ครูพกพา (Portable Teachers) เกิดขึ้นเพราะครูประจำการไม่สามารถใช้เวลาในตารางเรียนปกติมาทำการสอนเด็กนักเรียนที่มีปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากตารางเรียนที่จัดในแต่ละวันเป็นตารางเรียนของคนที่อ่านหนังสือออกเขียนหนังสือได้ เด็กที่มีปัญหาเหล่านั้นจึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือทันเพื่อน จำเป็นที่ครูจะต้องหยุดกักขังตนเองไว้ในตารางเรียน แล้วมาจัดความสัมพันธ์แบบใหม่กับนักเรียนที่มีปัญหาในเวลานอกตารางเรียน เช่น ก่อนเข้าเรียนตอนเช้า หลังอาหารเที่ยงหรือหลังเลิกเรียนเป็นต้น สถานที่พบกันอาจเป็นที่ต่าง ๆ ที่ครูกับนักเรียนคิดว่าเหมาะสมกับการเรียนการเรียนรู้แบบเคลื่อนที่ (Mobile Learning)


                และนี่เป็นกรณีศึกษา (Case Study) สำหรับการจัดระบบนิเวศน์ทางการศึกษา (Educational Ecology) ใหม่ ที่มีห่วงโซ่ความรู้ (Knowledge Chain) ใหม่เกิดขึ้นด้วย โดยครูพกพา (Portable Teachers) ที่โรงเรียนบำรุงวิทยา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
                การใหลบ่าของนักเรียนจากหมู่บ้านต่าง ๆ เข้ามาเรียนในเมืองทำให้โรงเรียนกลายเป็นชุมชนที่มีอาการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี อาการเจ็บป่วยเหล่านี้คือ การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ (Illiteracy) อันเป็นทักษะพื้นฐานของนักเรียนที่จะต้องมีเพื่อขยายการเรียนรู้ไปสู่สาขาวิชาต่าง ๆ ปัจจุบันในภาพรวมระดับประเทศได้กลายเป็นปัญหาของชาติไปแล้ว จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเป็นนโยบาย “นักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ต้องไม่มี” ในที่สุด
                ก่อนการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายจตุรนต์ ฉายแสงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ปฏิรูปการศึกษาภารกิจที่ท้าทายในประเด็น การจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยไว้ว่า ผลการสแกนการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนชั้น ป. 3 และ ป. 6 ในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศกว่า 8 แสนคนพบว่า มีนักเรียนชั้น ป. 3 ที่อ่านไม่ได้ 27,000 คน ส่วนนักเรียนชั้น ป. 6 ที่อ่านไม่ได้ 7,880 คนและอ่านได้แต่อยู่ในระดับควรปรับปรุง 6,750 คน ซึ่งวิชาภาษาไทยมีความสำคัญที่สุด เพราะหากอ่านไม่ออกก็จะเรียนวิชาอื่นไม่รู้เรื่อง
                นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนะการปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาไทยหลายรูปแบบ เช่น จัดเรียนแบบ   ติวเข้ม เพิ่มชั่วโมง แยกเด็กอ่อนเรียนต่างหาก โดยเรียนเฉพาะวิชาภาษาไทยในครึ่งวันเช้าหรือบางโรงเรียนเรียนทั้งวัน
                จะด้วยกลวิธีอย่างไรก็ตาม ระบบโรงเรียนมีการจัดตารางเรียนตามโครงสร้างของหลักสูตร ตั้งแต่เช้าจรดเย็นและเป็นตารางเรียนสำหรับคนอ่านออกเขียนได้ พื้นที่ของคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จึงไม่เหลือไว้ให้ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดครูพกพา (Portable Teachers) ขึ้น การเกิดขึ้นของครูพกพา ไม่ต่างอะไรกับการเกิดขึ้นของวิทยุพกพา (Portable Radio) ที่มาพร้อมกับความนิยมในเพลงร็อคแอนด์โรล (Rock and Roll) ของคนร่วมสมัย ที่แหวกกฏเกณฑ์ของนักฟังเพลงที่มีข้อจำกัดจากวิทยุในบ้านไปเป็นการฟังได้ทุกที่ทุกเวลา
ครูพกพาก็มาพร้อมกับปัญหาของนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แต่ถูกจำกัดพื้นที่ด้วยตารางเรียนในแต่ละวันเช่นกัน โดยครูใช้แวลาก่อนเข้าเรียนในตอนเช้า หลังอาหารเที่ยงและหลังเลิกเรียนมาทำการสอนนักเรียน ซึ่งทั้งหมดเป็นเวลานอกตารางเรียนปกติ สถานที่ก็กำหนดขึ้นเองตามความเหมาะสมของการทำกิจกรรมการเรียนการสอน และแน่นอนที่สุดว่า ครูที่สอนก็ไม่จำกัดเฉพาะครูวิชาภาษาไทยเท่านั้น


ระบบที่ครูพกพาใช้ในการทำงานคือ ระบบที่มีขั้นตอน โดยเริ่มจากการคัดกรองนักเรียนที่มีปัญหาในการอ่าน วิเคราะห์เพื่อคัดแยกนักเรียนออกเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของอาการ ใช้สื่อนวัตกรรมพัฒนาตามสภาพปัญหา เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ผล สรุปและรายงานผลการดำเนินงานและเผยแพร่ในที่สุด
จากการคัดกรองนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -  6 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 พบว่า ในจำนวนนักเรียน 995 คน มีนักเรียนที่มีปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถึง 429 คน คิดเป็นร้อยละ 43.11 โดยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีจำนวนมากที่สุดคือ 183 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 125 คน ไม่มีปัญหาทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 100
นักเรียนที่มีปัญหาในการอ่าน แบ่งออกเป็นกลุ่มตามอาการ ได้ดังนี้
ระดับที่ 1 ระดับที่อ่านพยัญชนะ สระและอ่านแจกลูก สะกดคำตามมาตราตัวสะกดพื้นฐานได้ ใช้แบบอ่านชุดที่ 1 แบบฝึกการอ่านและสะกดคำพื้นฐานเป็นสื่อนวัตกรรม
ระดับที่ 2 ระดับที่สามารถอ่านแจกลูกสะกดคำตามมาตราตัวสะกดพื้นฐานและผันวรรณยุกต์ได้ ใช้แบบอ่านชุดที่ 2  แบบฝึกการอ่านและผันวรรณยุกต์เป็นสื่อนวัตกรรม
ระดับที่ 3 ระดับที่สามารถอ่านคำยากที่ประกอบด้วยการอ่านและเขียนคำที่สะกดไม่ตรงตามตัวสะกด การอ่านและเขียนคำที่ไม่ประวิสรรชนีย์ การอ่านและเขียนคำที่มีตัวการันต์ การอ่านและเขียนคำที่มีอักษรนำ การอ่านและเขียนคำควบกล้ำ ฯลฯ ใช้แบบอ่านชุดที่ 3  แบบฝึกการอ่านและเขียนคำยากเป็นสื่อนวัตกรรม
การดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบเคลื่อนที่ (Mobile Learning)  เริ่มตันเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน 2557 ได้มีการสรุปเปรียบเทียบผลการพัฒนาระหว่างก่อนเข้าโครงการและหลังเข้าโครงการพบว่า จำนวนนักเรียนที่มีปัญหา 429 คนคิดเป็นร้อยละ 43.11 ได้รับการพัฒนาจนอ่านออกเขียนได้เป็นส่วนใหญ่ ยังเหลือที่เป็นปัญหาให้ได้แก้ไขต่อไปอีกเพียง 17 คนคิดเป็นร้อยละ 1.70 ในจำนวนนี้เป็นเด็กพิเศษและเด็กที่มีความบกพร่องต่าง ๆ ที่จะต้องใช้วิธีการเฉพาะเพื่อแก้ไขในโอกาสต่อไป


บนพื้นที่ของการคิดใหม่ทำใหม่ (Rethinking and Redoing) ที่เป็นงานสร้างสรรค์ (Creative Work) ต้องการความรู้ ทักษะและแรงบันดาลใจใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้ จะไม่เกิดขึ้นเลยในวัฒนธรรมการทำงานแบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ (Routine Work) โรงเรียนที่มีรูปแบบการสอนอยู่กับประเพณีนิยม ส่วนใหญ่จึงอยู่ในประเทศพัฒนาน้อย (Less Developed Countries) ต่างกับโรงเรียนในประเทศที่พัฒนาแล้ว (More Developed Countries) ที่มีวัฒนธรรมการทำงานอยู่บนพื้นฐานการออกแบบ (Design) การวิจัย (Research) และการพัฒนา (Development) อยู่ตลอดเวลา
และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ จิตใจที่เสียสละของครูที่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเท่าที่เคยมีเคยทำ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น