วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

หน่ออ่อนความดี (Burgeoning of Goodness)


              


               ปัญหาด้านจริยธรรมมีให้รับรู้ได้ในชีวิตประจำวัน มีทั้งเรื่องเล็กน้อยไปจนกระทั่งถึงเรื่องใหญ่โตระดับชาติ เรื่องที่มีผลกระทบรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากผู้ใหญ่ที่มีการศึกษา มีสถานภาพทางสังคมและมีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง คนเหล่านี้มีความบกพร่องอะไรในเชิงจริยธรรม เกิดจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กหรือระบบโรงเรียนมีปัญหา
                เด็กชายสุรศักดิ์ สิทธิพรมมา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 บิดามารดามีอาชีพทำนา เก็บเงินที่เพื่อนในโรงเรียนทำหล่นหายในเช้าวันหนึ่งได้ แล้วนำส่งครูประกาศหาเจ้าของหน้าเสาธง เพื่อนได้รับเงินคืน สุรศักดิ์ สิทธิพรมมาได้รับคำชมเชยจากครูและเสียงปรบมือจากเพื่อนทั้งโรงเรียน


                                                    "เด็กชายสุรศักดิ์ สิทธิพรมมา"

                เด็กชายจารุกิตติ์ จานิกร นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 บิดามีอาชีพรับจ้าง มารดาเป็นแม่ค้าขายปลาที่ตลาดสด เก็บสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ที่มีคนทำหล่นหายในบริเวณโรงเรียนในเช้าวันหนึ่งได้ แล้วนำส่งครูประกาศหาเจ้าของหน้าเสาธง เจ้าของได้รับสร้อยคอคืน จารุกิตติ์ จานิกรได้รับคำชมเชยจากครูและเสียงปรบมือจากเพื่อนทั้งโรงเรียนเช่นกัน
                       ความซื่อสัตย์เหล่านี้เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนในวัย 6 – 7 ขวบได้อย่างไร
                “ผมเห็นสร้อยหล่นแล้วดีใจ.......อยากทำดีเลยไปคืนที่ครู” หนึ่งในนั้นกล่าวถึงความรู้สึกเมื่อพบสร้อยคอทองคำที่หล่นอยู่บนพื้นในสนามบาสเกตบอล


                                                       "เด็กชายจารุกิตต์ิ จานิกร"

                ความซื่อสัตย์ของเด็กเมื่อวิเคราะห์ตามหลักพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบริ์ก (Kohlberg) ซึ่งกล่าวว่า จริยธรรมเป็นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความถูกผิดและเกิดขึ้นจากกระบวนการทางความคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งต้องอาศัยวุฒิภาวะทางปัญญา การใช้เหตุผลเพื่อตัดสินที่จะเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง จะแสดงให้เห็นถึงความเจริญของจิตใจของบุคคล การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของสังคมใดสังคมหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการใช้เหตุผลที่ลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจยิ่งขึ้นตามลำดับของวุฒิภาวะทางปัญญา
                โคลเบริ์ก ได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรมออกเป็น 3 ระดับ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเฉพาะระดับที่ 1 ที่สอดคล้องกับวัยของเด็กทั้ง  2 คน
                ระดับที่ 1 ระดับก่อนมีจริยธรรมหรือระดับก่อนกฎเกณฑ์ทางสังคม (Pre – Conventional Level) ระดับนี้เด็กจะรับกฎเกณฑ์และข้อกำหนดของพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีจากผู้มีอำนาจเหนือตน เช่น บิดามารดา ครูหรือเด็กโตและมักจะคิดถึงถึงผลตามที่จะนำรางวัลหรือการลงโทษ พฤติกรรมดีคือ พฤติกรรมที่แสดงแล้วได้รางวัล พฤติกรรมไม่ดีคือ พฤติกรรมที่แสดงแล้วได้รับโทษ
            บุคคลจะตอบสนองต่อกฎเกณฑ์ซึ่งผู้มีอำนาจทางกายเหนือตนเองกำหนดขึ้น จึงตัดสินใจเลือกแสดงพฤติกรรมที่เป็นหลักต่อตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น จะพบในเด็ก 2 – 10 ปี
                จริยธรรมในวัยเด็ก (2 – 10 ปี) ไม่คำนึงถึงความยุติธรรมและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น แบ่งเป็น 2 ขั้น ดังนี้
                 ขั้นที่ 1 เด็กจะใช้ผลตามของพฤติกรรมเป็นเครื่องชี้ว่า พฤติกรรมของตนถูกหรือผิด เช่น ถูกลงโทษแสดงว่าสิ่งที่ตนทำผิด ได้รางวัลแสดงว่าสิ่งที่ตนทำถูก
                ขั้นที่ 2 เด็กจะทำตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับเพื่อประโยชน์หรือความพอใจของตนเอง หรือทำดีเพราะอยากได้ของตอบแทนหรือรางวัล พฤติกรรมของเด็กในขั้นนี้ ทำเพื่อสนองความต้องการของตนเอง
                ระบบโรงเรียนจึงต้องมีกิจกรรมที่แสดงให้เห็นผลตามของพฤติกรรมทั้งถูกและผิด เช่น กิจกรรมยกย่องชมเชยนักเรียนที่ทำความดีและลงโทษนักเรียนที่ทำความผิดทางจริยธรรม ระเบียบกฎเกณฑ์ของการกระทำความดีแล้วได้ของตอบแทนหรือรางวัล เช่น โครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมด้านต่าง ๆ เป็นต้น
                   จริยธรรมเป็นความรู้ความเข้าใจ เมื่อนำไปใช้ต้องมีทักษะคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ จนถึงประเมินค่าสิ่งที่ทำว่า เป็นสิ่งชอบหรือชั่วดี เป็นความรู้ระดับลึกที่เรียกว่า ปัญญา
                การเรียนรู้จริยธรรมของเด็กอาจใช้ความรู้ในระดับขั้นรู้สึกที่ทำตามแบบหรือความต้องการด้านบวกของตนเองเท่านั้น แต่มีความสำคัญเพราะเป็นหน่ออ่อนของความดีที่กำลังผลิบาน (Burgeoning of Goodness) และรอการเจริญเติบโตไปเป็นต้นไม้แห่งความดีที่ยั่งยืนในวัยผู้ใหญ่

                โรงเรียนจึงเป็นแปลงเพาะชำจริยธรรมของเด็กเพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น