วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ปลดโซ่ตรวนนายเทค (Mr.Tech) !!!!!!



                                                                                                                                       สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน

                แม้การตีเกราะเคาะไม้ ปล่อยควันไฟและใช้นกพิราบ จะหายสาบสูญไปจากระบบการสื่อสารที่ปัจจุบันพัฒนาไปไกลจนสุดประมาณนานแล้ว แต่ก็ใช่ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารจะได้รับการอนุญาตให้ทำหน้าที่ได้ในทุกสถานการณ์
                มนุษย์ต้องการการสื่อสาร แบ่งปัน จัดเก็บและสร้างสรรค์ การเจริญเติบโตของเทคโนโลยีสามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันอัตราการเจริญเติบโตเกิดขึ้นเร็วมาก มากจนอุปกรณ์บางอย่างใช้ยังไม่ทันเก่า ก็มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทนเสียแล้ว
                การจัดการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน เทคโนโลยีได้แทรกตัวเข้าไปสู่ระบบการเรียนการสอนและการบริหารจัดการอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นและเครื่องมือต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทรศัพท์มือถือ ที่มีสมรรถนะมากกว่าคอมพิวเตอร์ในสมัยก่อน แต่นักเรียนส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ โรงเรียนส่วนมากห้ามนักเรียนใช้เทคโนโลยี !!!!


                ในขณะที่พวกเขากำลังก้าวสู่โลกของการทำงาน ซึ่งแตกต่างจากโลกในโรงเรียนอย่างมาก โลกที่ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาและหาข้อมูล กระนั้นก็ตาม โรงเรียนทั่วไปที่มีข้อห้ามการใช้เทคโนโลยี มิได้ห้ามด้วยเหตุผลเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นเหตุผลในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเสียมากกว่า
                ในสังคมของผู้ใช้เทคโนโลยี เราจะเห็นผู้คนแสดงความหยาบคายต่อผู้อื่นตลอดเวลา คุยโทรศัพท์ระหว่างที่ภาพยนตร์กำลังฉาย รับโทรศัพท์ขณะรับประทานอาหาร ส่งข้อความขณะขับรถ มีพฤติกรรมเสี่ยงอีกมากหรือไม่เหมาะสมแก่กาละเทศะทุกประการ
                ดักลาส พิชเชอร์และแนนซี่ เฟรย์ สองนักการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยซานดิเอโกสเตต (San Diego State University) ผู้พัฒนาการนำเทคโนโลยีทีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสุดขั้ว มาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของนักเรียนเสนอว่า ได้ยุติการห้ามใช้เทคโนโลยีและหันไปเน้นเรื่องมารยาท โดยสนับสนุนให้นักเรียนใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแทน


                หลังการใช้เทคโนโลยีแล้วมาหลายปีพบว่า เทคโนโลยีไม่มีปัญหาอีกต่อไป “ไม่ต้องยึดโทรศัพท์และไม่ได้เสียเวลาอันมีค่าไปกับการบังคับใช้นโยบายอย่างในศตวรรษก่อน” และข้อเสนอต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเรื่องของการมีมารยาทในการใช้เทคโนโลยี เช่น
                กล่าวคำว่า ขอความกรุณาและขอบคุณ
                ตั้งใจ/มีสมาธิในการเรียน
                สุงสิงกับเพื่อนในช่วงพักระหว่างคาบเรียนและพักกลางวัน
                ถามคำถามและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นและครู
                ร้องขอยอมรับ เสนอหรือปฏิเสธความช่วยเหลืออย่างสุภาพ
                ให้ครูและเพื่อนร่วมชั้นพูดจบโดยไม่พูดแทรก
                ทิ้งขยะหลังรับประทานอาหารเสร็จ
                รักษาความสะอาดบริเวณที่ตนทำงาน
                รายงานปัญหาความปลอดภัยหรือปัญหาอื่น ๆ ที่เจ้าหน้าที่ควรให้ความสนใจ เป็นต้น
                ส่วนตัวอย่างเรื่อง ความไร้มารยาทที่ไม่ควรประพฤติ เช่น
                ใช้ภาษาไม่สุภาพ หยาบคาย ล่วงเกินหรือดูหมิ่น
                ฟังเพลงจากไอพอด เอ็มพี 3 ระหว่างการเรียนอย่างเป็นทางการ เช่น ขณะครูบรรยายหรือขณะทำงานกลุ่ม
                ส่งข้อความหรือคุยโทรศัพท์ในเวลาเรียน
                พาลหาเรื่อง ยั่วเย้าหรือคุกคามผู้อื่น
                แย่งแบรนด์วิทและหรือเวลาใช้คอมพิวเตอร์
                ผิดนัดหรือทำงานไม่เสร็จตามกำหนด
                ไม่แจ้งให้ทราบเมื่อมาโรงเรียนไม่ได้ เป็นต้น



                เมื่อนโยบายการใช้เทคโนโลยีในโรงเรียนเปลี่ยนไปเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ โดยมีจุดเน้นที่ต้องการการสื่อสาร การแบ่งปัน การจัดเก็บและการสร้างสรรค์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น การออกแบบการใช้เทคโนโลยีจึงต้องเป็นภารกิจของครู ผ่านการสอนอย่างจงใจ (Intentional Instruction) เพื่อปล่อยความรับผิดชอบในการเรียนรู้เป็นของนักเรียน โดยใช้โมเดลแบบปล่อยความรับผิดชอบทีละน้อย (Gradual release of responsibility)
                ดุกค์และเพียร์สัน (Duke & Pearson) กล่าวว่า ให้ครูเปลี่ยนจาก “การรับผิดชอบในงานทั้งหมดไปสู่สถานการณ์ที่นักเรียนเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด” บทบาทการสอนเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยี (Web 2.0 Tools) เป็นเรื่องสำคัญมาก โมเดลแบบปล่อยความรับผิดชอบทีละน้อยที่นำมาใช้ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ประการคือ
                1.บทเรียนเน้นประเด็น ด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์และการที่ครูสร้างโมเดลการใช้เทคโนโลยีให้เป็นตัวอย่างแก่นักเรียนในขณะเรียน บทเรียนลักษณะนี้มุ่งการสอนแบบชี้แนะ ไม่ใช่เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
                2. การสอนแบบชี้แนะ เป็นการบอกใบ้ ตั้งคำถาม กระตุ้น เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนใช้ความคิด โดยใช้เทคโนโลยี (Web 2.0 Tools) เพื่อตอบสนองการสอนที่เจาะจงได้ เช่น Website Twitter Facebook    E-mail เพราะเครื่องมือเหล่านี้ ช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนความรับผิดชอบ จากครูไปสู่นักเรียนและให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่นักเรียนในการพัฒนาทักษะการคิด
                3. ภารกิจความร่วมมือ ผ่านกิจกรรมการเขียนและการสอนแบบช่วยเหลือกันทางอินเทอร์เน็ต ผ่าน Web 2.0 Tools เช่น การเขียนบทความ ค้นหาบทความ อ่าน วิพากษ์ วิจารณ์ เป็นการสร้างเงื่อนไขให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์โดยใช้ภาษาและเนื้อหาในสาขาวิชานั้น ๆ และนักเรียนต้องรับผิดชอบในส่วนงานของตนเองที่มีผลต่องานของกลุ่ม
                4. การเรียนรู้ด้วยตนเอง นักเรียนต้องผ่านการฝึกฝน การใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ก่อนถูกสั่งให้ไปทำงานด้วยตนเอง เครื่องมือ Web 2.0 Tools เช่น พอดคาสต์ Discussion Board เป็นต้น



                ข้อกังวลของโรงเรียนที่มีนโยบายเน้นรูปแบบการใช้เทคโนโลยีคือ งบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น เพราะการเน้นรูปแบบการใช้เทคโนโลยีเป็นหลักไม่สามารถติดตามความก้าวหน้าได้ทัน หากเปลี่ยนมุมมองมาเป็นการเน้นหน้าที่เป็นหลัก โรงเรียนจะหมดกังวลเรื่องทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ปัจจุบันนักเรียนบางคนจะมีอยู่แล้ว เช่น คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค แทปเล็ต และโทรศัพท์มือถือไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง หากได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้แก่นักเรียน จะเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างตรงไปตรงมา โรงเรียนอย่ามัวตีเกราะเคาะไม้อยู่เลย

                โปรดคืนอิสรภาพแก่เทคโนโลยี !!!!




ดักลาส พิชเชอร์ & แนซี่ เฟรย์ (2556). การเตรียมนักเรียนให้เชี่ยวชาญทักษะแห่งศตวรรษที่ 21. ทักษะแห่ง
อนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21. บริษัทโอเพ่นเวิรลด์ พับพลิชเฮาส์ จำกัด.
               

                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น