วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อาศรมศิลป์อาศรมศาสตร์: ศาสตร์แห่งผู้ก่อการดี



                                                                                                                                         สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน

                ปราชญ์ ผู้รู้ นักการศึกษา ศิลปิน สถาปนิกและนักวิชาการที่มีประสบการณ์ ได้ตระหนักถึงปัญหาของการศึกษาไทย ที่ใช้วิชาเป็นตัวตั้งมาเป็นเวลานาน จนทำให้ผู้เรียนแปลกแยกออกจากสิ่งแวดล้อมและสังคมมากยิ่งขึ้น ผู้รู้เหล่านี้จึงปรึกษาหารือกันถึงการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นอุดมศึกษาทางเลือก เป็นการศึกษาแบบบูรณาการชีวิตในขั้นอุดมศึกษา ที่จะนำไปสู่ความเป็นสถาบันการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้สูงสุดของมนุษย์ ด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างสรรค์ชุมชนแห่งการเรียนรู้ใหม่ ที่ผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ากับองค์ความรู้ร่วมสมัย ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร และความเอาใจใส่ดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิดจากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกที่เข้าถึงวิชาการและวิชาชีวิต


                                   "ทีมวิทยากร PAD ลำปลายมาศนำโดยพี่สมคิด พี่นางและพี่โอ๋"

                สถาบันอาศรมศิลป์ เกิดจากประสบการณ์และแนวคิดในการจัดการศึกษาทางเลือกใหม่กับสังคมไทยในนามของโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นโรงเรียนวิถีพุทธที่มีประสบการณ์ในการเรียนการเรียนการสอนมาร่วม 10 ปี จนเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จระดับหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการแห่งชีวิตที่มุ่งเน้นการประสานกลมกลืนกัน ระหว่างศิลปะกับวิทยาการ ประการหนึ่งและเป็นความกลมกลืนกันระหว่างวิชาการกับการเรียนรู้ร่วมกันผ่านวิถีชุมชน อีกประการหนึ่ง
                ปรัชญาของสถาบันอาศรมศิลป์คือ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะต้องศึกษาและปฏิบัติให้เข้าถึงสาระสำคัญของการดำรงชีวิต ซึ่งตั้งอยู่บนความจริง ความงามและ ความดี โดยการผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยหลักการที่สำคัญคือ สุทรียธรรม (Aesthetics) มงคลธรรม (Virtues) และวัฒนธรรม (Cultures)
                 สถาบันอาศรมศิลป์ มีจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาในรูปแบบ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และกับเครือข่าย อันเป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อความเจริญงอกงามของชีวิตคือ การเข้าถึงคุณค่า ความดี ความงามและความจริงด้วยปัญญาและเป็นแหล่งบุคคลแห่งการเรียนรู้ไปสู่สังคม เพื่อนำกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่กระบวนทัศน์ใหม่ โดยอาศัยการขยายต่อองค์ความรู้ของตนกับผู้อื่น


                     "กลุ่มเยาวชนและนักศึกษาอาศรมศิลป์ผู้เข้าอบรม BOT ที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา"

                การเรียนไม่ได้มุ่งผลิตบัณฑิตเพื่อจะไปแข่งขันสอบบรรจุ รับจ้างหางานทำ ต้องการให้บัณฑิตเป็นผู้ประกอบการ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้คิด ริเริ่ม พัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาและทุนทางสังคมในท้องถิ่นหรือการพัฒนาระบบกสิกรรมธรรมชาติจากเรือกสวนไร่นา ที่สามารถจะเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ หากนักศึกษาสามารถกระทำเช่นนี้ได้ ย่อมมีค่ากว่าคะแนนในแต่ละรายวิชาและปริญญาบัตร ซึ่งสุดท้ายเมื่อจบการศึกษาแล้ว ไม่รู้จะเอาใบปริญญาบัตรไปทำประโยชน์อะไร แต่ถ้าพวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง มีรายได้ มีความพออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้ นี้จะเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าใบปริญญาเป็นไหน ๆ
                นักศึกษาต้องมีโครงงานการเป็นผู้ประกอบการสังคม ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน ให้นักศึกษาตั้งเป้าเอาไว้จะทำอะไร ให้สรุปรวบรวมแจ้งให้ส่วนกลางทราบด้วย เพื่อจะได้เห็นภาพรวมของการเคลื่อนงาน ในการเรียนแต่ละสัปดาห์ ให้นักศึกษารายงานความก้าวหน้าของโครงการประกอบการสังคม เพื่อเรียนรู้ร่วมกันและการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความก้าวหน้า
                Microsoft YouthSpark – Enhancing ICT Skills for Youth SMEs in Thailand-Years\ III คือโครงการร่วมระหว่างสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PAD) ศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและบริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทยจำกัดที่สนับสนุนความก้าวหน้าของโครงการประกอบการสังคมของนักศึกษาในด้าน ICT

              “เรียนคอมพิวเตอร์ทำแผ่นพับ โฆษณาสินค้า เพิ่งมาเป็นครั้งแรก ยังได้ความรู้ไม่เต็มที่” วงเดือน ปิตายัง นักศึกษาปี 1 ทำธุรกิจรับซื้อของเก่า กล่าวถึงการมาอบรม BOT เป็นครั้งแรก
                “อยากมาอีกให้ชำนาญ” เธอย้ำ


                เรียนเกี่ยวกับเอ็กเซล ทำกราฟ บันทึกข้อมูลของร้าน รายการสินค้า” จารุณี ชิรัมย์ นักศึกษาอีกคนที่ทำธุรกิจปลูกมะนาวนอกฤดูกล่าว


                “วันนี้ได้เพียงแค่ สมัครเฟสบุ๊ค อีเมล์ก็ถือว่าดีแล้ว และยังได้ฝึกทำแผ่นพับด้วย” สุภาภรณ์ เจริญตา นักศึกษาที่เลี้ยงปลาดุก กล่าวถึงสิ่งที่เธอได้เรียนรู้มา


                เช่นเดียวกับนภาจันทร์ สารสูงเนินกล่าวว่า “ได้เรียนรู้เพิ่มเติม เทคนิคการทำตัวหนังสือ ทำตารางแผ่นพับโฆษณาสินค้า ก็อยู่ระดับปานกลาง ต้องฝึกอีกเพิ่มจะได้ชำนาญ”
                


                โรงเรียนมีชัยพัฒนาร่วมกับ PDA ลำปลายมาศ จึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ให้การสนับสนุนด้านสื่อ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ห้องเรียน ยุววิทยากร และส่งนักเรียนส่วนหนึ่งเข้าร่วมอบรมหลักสูตร Basic of Training (BOT) ที่มีเป้าหมายเพื่ออบรมชาวบ้านหรือเยาวชนที่ตนเองหรือครอบครัวทำธุรกิจอยู่แล้ว ให้สามารถนำความรู้ด้านไอทีไปต่อยอดสร้างตลาดเพิ่มเติม และจำนวนผู้เข้าอบรมส่วนหนึ่งนั้นเป็นนักศึกษาสถาบันอาศรมศิลป์


                นอกจากการสนับสนุนดังกล่าวแล้ว โรงเรียนมีชัยพัฒนายังได้ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ จัดหลักสูตรเตรียมบัณฑิตของหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการประกอบการสังคมที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างนักกิจการเพื่อสังคมให้แก่สังคมไทยอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น