วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สามนโยบายหลักที่สนับสนุนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง




                                                                                                                                  Comeron Pipkin : เขียน
                                                                                                              สุริยา เผือกพันธ์ : แปลและเรียบเรียง

                “เด็กทุกคนต้องปฏิบัติเหมือนกันหมดราวกับว่า ทุกคนมีรูปแบบหรือวิธีการเรียนรู้เหมือนกัน มีอัตราการเรียนรู้เท่ากัน ใครเป็นผู้กำหนดไว้เช่นนั้น ทำกันมาตั้งแต่สมัยไหน กี่ร้อยปีมาแล้วและทำไมต้องทำเช่นนั้น ผลที่ได้เป็นอย่างไร” (ธงชัย ชิวปรีชา)

คำสำคัญ : การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student – Centered Learning), วิธีการเรียน (Pacing), การให้คะแนน (Grading) และตารางเรียน (Scheduling)

                การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนแสวงหาวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองและผู้บริหารโรงเรียนต้องให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกเรียนและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยืดหยุ่นเพื่อสนับสนุนให้การเรียนรู้ของผู้เรียนสัมฤทธิ์ผล
                การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเป็นพลังผลักดันให้ผู้บริหารโรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กลับมาหวนคิดเกี่ยวกับนโยบายใหม่ ด้วยการสอบถามตัวเองว่า มีนโยบายอะไรที่จะอำนวยความสะดวกหรือใช้เป็นแนวทางใหม่ในการสอนแบบนี้หรือไม่
                นี่คือ สามนโยบายหลักในการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสนับสนุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง


1.              วิธีการเรียน

เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้แบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างเต็มที่ โรงเรียนและหน่วยงาน
ทางการศึกษา ต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียน โดยสามารถเรียนข้ามชั้นได้ ไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบที่ตายตัวของโรงเรียน แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้
                       ผู้บริหารโรงเรียนสามารถนำวิธีการใหม่ที่ท้าทายนี้ไปใช้ได้หลาย ๆ ทาง บางครั้งอาจใช้กับนักเรียนในระดับชั้นเดียวกัน ขณะที่คนอื่น ๆ อาจรักษาวิธีการแบบดั้งเดิมอยู่ แต่บางคนอาจเรียนในสิ่งที่เขาสนใจ ไปพร้อม ๆ กันในชั้นเรียนเดียวกันนั้น เนื้อหาบางอย่างนักเรียนหลายคนมีความพร้อมแล้ว เขาไม่ต้องรอเวลาที่จะต้องเรียนพร้อมกับเพื่อนในหัวข้อดังกล่าว
                     ตัวอย่างเช่น สมมุติว่านักเรียนในเกรดสาม เรียนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับเกรดสี่ แต่เรียนการอ่านอยู่ในระดับเกรดสอง ด้วยในห้องเรียนแบบดั้งเดิม นักเรียนอาจมีความเบื่อหน่ายในเรื่องที่เขามีความรู้แล้ว จึงอยากจะเรียนในเรื่องที่เขาสนใจ โดยไปเรียนร่วมในระดับเกรดสี่ แต่ถ้าเขารู้สึกบกพร่องในการอ่าน ซึ่งทำให้ลำบากในการเรียนในเนื้อหาต่าง ๆ เขาอาจต้องไปเรียนร่วมกับนักเรียนในระดับที่ต่ำกว่า เป็นต้น
                     ในสิ่งแวดล้อมที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง นักเรียนสามารถเรียนรู้ในระดับเกรดสี่ในวิชาคณิตศาสตร์และเมื่อเขาพร้อมที่จะเรียนต่อไป เขาก็สามารถที่จะก้าวไปเรียนในระดับเกรดห้าในวิชาเดียวกันนี้ได้เลยหรือไม่ก็ในช่วงกลางปี ในขณะเดียวกันกับที่ผู้เรียนคนเดียวกันนี้ก็สามารถที่จะไปเรียนการอ่านในเกรดสองได้ แม้ว่าจะต้องเพิ่มเวลาในการฝึกหัดทักษะและทำความเร็วในการยกระดับการเรียนรู้ไปสู่มาตรฐานของระดับนั้น ๆ ก็ตาม
                “เราอยากเห็นผู้เรียน เป็นอย่างนั้นและก้าวหน้าด้วยวิธีการแบบนั้น” ราเชล เธอร์เนอร์ (Rachael Turner) ผู้จัดการเครือข่ายการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาโรงเรียนกล่าว


2.              การให้คะแนน

การเปลี่ยนแปลงในวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน ต้องการการเปลี่ยนแปลงในการให้ระดับคะแนน
ผู้เรียนด้วย
                      ตัวอย่าง เช่น ถ้านักเรียนทำงานเสร็จด้วยวิธีการของพวกเขา จะมีผลสะท้อนต่อระบบการให้ระดับคะแนนของเราอย่างไร ถ้านักเรียนไม่มีคะแนนในวิชาคณิตศาสตร์ตอนสิ้นปี แน่นอนว่าเขาสอบตกแน่นอน
                     แต่หลาย ๆ โรงเรียนที่มีการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงการให้คะแนนแบบดั้งเดิมที่เป็นตัวเลข ไปสู่การให้คะแนนแบบยึดมาตรฐานเป็นหลัก โดยเฉพาะโรงเรียนระดับประถมศึกษา  ในระบบเช่นนี้ จะมีรายงานผลการเรียนของผู้เรียนที่แสดงให้เห็นว่า นักเรียนเก่งขึ้น  หรือไม่ก็บรรลุผลการเรียนตามมาตรฐานของแต่ละคน วิธีการนี้ได้ผลดีเพราะสนับสนุนสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
     “ถ้าเราเคยให้ระดับคะแนนนักเรียนในชั้นเด็กเล็ก” พวกเราเคยพิจารณาเอาวิธีการนั้นไปใช้ในชั้นเรียนที่สูงขึ้นหรือไม่ เช่น ในระดับชั้นที่ 5 6 7 หรือ 8  เธอร์เนอร์ถาม
    ในระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนต่าง ๆ ยังคงใช้ระดับคะแนนที่เป็นตัวเลขหรือการคำนวณระดับคะแนนเฉลี่ยให้นักเรียน ในระดับวิทยาลัยอาจใช้วิธีการผสมผสาน  ระหว่างแนวคิดที่ใช้มาตรฐานเป็นฐานกับการให้ระดับคะแนนที่เป็นตัวเลข เช่น ประเมินผลผ่านร้อยละ 70 ของจุดประสงค์ ให้ระดับคะแนน C ถ้าผ่านร้อยละ 80 ให้ระดับคะแนน B เป็นต้น


3.              ตารางเรียน

การให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุน
ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง วิธีหนึ่งในการดำเนินการคือ ให้ผู้เรียนมีอิสระในการตัดสินใจว่า อะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการเรียนและเมื่อใดที่พวกเขาต้องการเรียน พวกเขาสามารถเลือกรายวิชาในหลักสูตรได้ตลอดเวลา
                      โรงเรียนมัธยมศึกษาบางแห่งที่มีความก้าวหน้า นักเรียนจะรู้ว่าพวกเขาต้องทำหน่วยกิตในการเรียนเทอมแรกเท่าใดและที่เหลือปลายปีอีกเท่าใด พวกเขาอาจเลือกเรียนให้จบในวิชา แองจิบาภายในสองสามสัปดาห์แรกของภาคเรียน โดยเน้นเฉพาะวิชานี้วิชาเดียวและเรียนภาษาอังกฤษแบบเดียวกันนี้ ในเวลาสองสามสัปดาห์ถัดไป หรือพวกเขาสามารถใช้วิธีเรียนแบบคู่ขนานไปกับการเรียนแบบดั้งเดิมได้ โดยใช้เวลาเรียนในแต่ละวัน วันละหนึ่งชั่วโมง
                      “พวกเราชอบเปรียบเทียบว่าในชีวิตจริงของผู้ใหญ่” เธอร์เนอร์ให้ข้อสังเกต
                      “บางคนคอยไปทำความสะอาดทุกอย่างในวันอาทิตย์ ขณะที่คนอื่น ๆ เลือกซักผ้าทีละเล็กทีละน้อยตลอดสัปดาห์”  แล้วแต่ว่า วิธีไหนเป็นวิธีที่ดีที่สุดของแต่ละคนและเราต้องการประยุกต์สิ่งนี้กับนักเรียน โดยพิจารณาว่าอะไรคือ วิธีที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา และพวกเขาเรียนรู้ได้ดีที่สุดอย่างไร

                    วิธีการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการพิจารณาว่า อะไรคือวิธีที่ดีที่สุดของแต่ละคน ที่ควรนำไปสู่การตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิธีการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ถ้าผู้นำสามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ได้เสียแต่ทีแรกก็จะนำไปสู่การจัดการเรื่องวิธีการเรียน การให้คะแนนและการทำตารางเรียนในโรงเรียนอย่างง่ายดาย
      
Cameron Pipkin is a Senior Marketing Strategist at School Improvement Network and former teacher. He's driven by a passion to help educators master their craft and improve the lives of their students.
https://www.edsurge.com/n/2015-05-05-three-key-policy-changes-to-support-student-centered-learning


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น