วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เกาะติดจิตวิญญาณจันทบูร




                                  
                                                                                                                                       สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน


             “ไม้ใหญ่ที่ไร้รากย่อมไม่อาจเป็นที่พึงพาแก่กิ่งก้านสาขาต่อไปได้อีก ชุมชนที่ไม่รู้ที่มาก็ไม่อาจมีความเข้มแข็งยั่งยืนถึงลูกหลานเช่นกัน


                เสียงสวดแผ่เมตตาจากอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ส่งความห่วงใยไปยังพี่น้องชาวเนปาล ดังก้องไปทั่วบริเวณชุมชนวัดญวนริมฝั่งแม่น้ำจันทบุรี เช้านี้แดดเหลืองนวลใสทอประกาย แผ่รัศมีครอบคลุมลานกว้างหน้ารูปปั้น  พระนางมารีอา ผู้คนจากทุกสารทิศกระจัดกระจายถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่มาท่องเที่ยวในวันหยุดยาวต้นเดือนพฤษภาคม ร้านรวงรายรอบพระวิหารฯ อัดแน่นไปด้วยผู้คน บ้างหาของที่ระลึก บ้างหาอาหารเช้า มีทั้งเฝ๋อ (ก๋วยเตี๋ยวญวน) กาแฟ ไข่กระทะ รองท้องก่อนออกเดินทางตระเวนไปทั่วจังหวัดจันทบุรี


                              "สะพานข้ามฝั่งแม่น้ำจันทบุรีระหว่างชุมชนวัดญวณและชุมชนริมน้ำ" 

                ด้านหน้าอาสนวิหารฯ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรีไปยังฝั่งชุมชนริมน้ำ ที่นั่นเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงสภาพดั้งเดิมเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนใหญ่เป็นอาคารบ้านเรือนที่มีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้ คนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตที่เงียบสงบภายในตัวอาคาร มีร้านขายของที่ระลึก ร้านขายอาหาร ร้านขายของชำเปิดให้บริการอยู่ไม่กี่ร้าน แต่มีอาคารที่สะดุดตาอยู่หลังหนึ่งอยู่ลึกเข้าไปในใจกลางย่านชุมชนและดูเหมือนว่าผู้คนที่มาท่องเที่ยวจะมุ่งตรงไปที่นั่น...บ้านเลขที่ 69  !!


                                                                             "บ้านเลขที่ ๖๙"


                ชุมชนริมน้ำจันทรบูร เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานประมาณถึง 300 ปีเศษ นับตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราชทรงย้ายเมืองจันทบูรจากบ้านหัววัง ตำบลพุงทะลาย มาตั้งที่บ้านลุ่มหรือค่ายตากสิน ศาล ศาลากลางจังหวัดเก่าและวัดโบสถ์ปัจจุบัน ตัวเมืองจันทบูรสมัยนั้นสร้างอยู่บนเนินสูง เป็นเมืองสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนคันดิน มีกำแพงเมืองศิลารายรอบ
                จากตัวเมืองจันทบูรมีพื้นที่ลาดลงมาถึงริมฝั่งแม่น้ำจันทบุรีก็คือ บ้านท่าสิงห์และย่านท่าหลวง ซึ่งมีริมฝั่งแม่น้ำเป็นชายหาดกว้าง เหมาะแก่การใช้ประโยชน์ด้านคมนาคมขนส่ง ย่านท่าหลวงในอดีตราว 100 ปี มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นแหล่งศูนย์กลางการค้าของจังหวัด มีท่าเทียบเรือจอดเรือค้าขายหลายแห่งและมีถนนสายแรกคือ ถนนริมน้ำหรือถนนสุขาภิบาล
                ปัจจุบันชุมชนริมน้ำ ไม่ใช่ศูนย์กลางการค้าขายอีกต่อไป เพราะผู้คนไม่ได้ใช้การเดินทางทางเรือแล้ว นอกจากนี้ การเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ กลางชุมชนและเกิดน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องสร้างความไม่สะดวกให้กับชาวบ้าน ผู้คนบางส่วนอพยพออกนอกชุมชน บ้านเรือนจึงเสื่อมสภาพไปตามอายุและทรุดโทรมรวดเร็วขึ้น และเมื่อลูกหลานออกจากชุมชนจึงทำให้ขาดการสืบทอดทางประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตท้องถิ่น



                                                          "ทางเข้าชุมชนริมน้ำที่ตั้งบ้านเลขที่ ๖๙"

                หากแต่คุณค่าที่มีอยู่จริงในชุมชนนั้น สามารถทำให้ลูกหลานในชุมชนหันมาสนใจและเริ่มเกิดกระบวนการฟื้นฟูอย่างจริงจังขึ้นได้ในปี พ.ศ. 2552 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพาณิชย์ จังหวัดจันทบุรี สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นและภายนอกคือ ร.ร.ศรียานุสรณ์ วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี สถาบันอาศรมศิลป์และหน่วยงานราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องแต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือร่วมใจของคนริมน้ำจันทบูรเป็นหลักสำคัญที่สร้างให้กระบวนการพัฒนาเกิดขึ้นได้จริง

               บ้านเลขที่ 69 อยู่ในใจกลางย่านนี้ ที่มีลักษณะเป็นอาคารตึก 2 ชั้น ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476



                                    "พ.อ.(พิเศษ) ทันตแพทย์หญิงบุญพริ้ม ปฏิรูปานุสร"

                นายเทียมและนางนวม พาณิชย์สิทธิ์ เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 69 ถนนสุขาภิบาล ตำบลวัดใหม่ อำเภอ
เมือง จังหวัดจันทบุรีมีบุตรสาวสองคนคือ น.ส. เงิกกุ่ย (อบเชย) และ น.ส.เงิกเอ็ง (ทับทิม)
                นายม็อก แซ่ลี้ ได้เดินทางมาจากเมืองแต้จิ๋ว ประเทศจีนเมื่ออายุ 16 ปี มาพักอาศัยและทำงานที่โรง ยาฝิ่น ที่ตลาดล่างซึ่งตั้งอยู่คนละฟากถนนเยื้องกับบ้านนายเทียมและนางนวม นายม็อกทำงานและหัดพูดภาษาไทยกับผู้รู้จนสามารถอ่านออกเขียนได้ ต่อมาได้เข้ารับราชการที่แผนกคลังมณฑลจันทบุรี เป็นผู้ช่วยคลังมณฑลแผนกฝิ่น ต่อมาได้สมรสกับนางสาวเงิกกุ่ย และต่อมาได้นางสาวเงิกเอ็งเป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง รับราชการจนได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์ตรีขุนอนุสรสมบัติ และได้รับพระราชทานนามสกุลใน    รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ปฏิรูปานุสร
                 ลักษณะของบ้านด้านหน้าจะเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนผสมสีเหลืองอ่อน ตามเทคนิควิธีของช่าง
สมัยก่อนและมีลวดลายปูนปั้นตามแบบอย่างตึกฝรั่งด้านหน้า ในส่วนชั้นล่างจะแบ่งเป็นสามส่วนมีประตูบานเพี้ยมเป็นทางเข้าทั้งสามส่วน


                                                                   "ภายในบริเวณบ้านเลขที่ ๖๙" 


                ด้านบนในส่วนที่ตรงกับประตูด้านล่างจะมีระเบียงสำหรับนั่งเล่นได้โดยประตูที่เปิดออก สู่ระเบียงด้านนอกจะอยู่ถัดเข้าไปประมาณ 3 เมตร
                ผนังอีกสามด้านโดยรอบบ้าน จะเป็นผนังซีเมนต์ขัดมันโชว์แนวเสา โดยมีบางส่วนเว้นกรอบไว้เป็นช่องเหนือหน้าต่าง
                พื้นด้านหลังของชั้นล่างที่ติดกับผนังบ้านจะเป็นส่วนครัวลานซักล้างและห้องน้ำ ต่อมาเตี่ย (รองอำมาตย์ตรีขุนอนุสรสมบัติ) ได้สร้างเรือนไม้สองห้องนอนต่อจากครัว เป็นเรือนใต้ถุนสูงมีบันได 3 ขั้น ขึ้นบันไดไปจะเป็นระเบียงกั้นลูกกรงด้านหนึ่งและย้ายครัวจากที่เดิมที่อยู่ด้านในสุดของพื้นที่มาทำครัวตรงข้ามกับเรือนนอนนี้ ซึ่งปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว
                ปัจจุบันบ้านนี้ตกทอดมาเป็นมรดกของ พ.อ.(พิเศษ) ทันตแพทย์หญิงบุญพริ้ม ปฏิรูปานุสร ลูกสาวคนสุดท้องและนายธวัช ปฏิรูปานุสรบุตรคนเดียวของพี่ชายคนโต ซึ่งทายาทต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนและสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน คุณป้าบุญพริ้ม ได้สนับสนุนงบประมาณเบื้องต้นในการปรับปรุงบ้านนี้เบื้องต้นด้วย
                ต่อมาผู้รับมรดกได้ติดต่อประสานงานกับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อเด็กและเยาวชนของชาติเพื่อมอบบ้านและที่ดินให้ทางสถาบันฯ รับไว้เป็นสมบัติของสถาบันฯ เพื่อทำการบูรณะซ่อมแซมและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเพื่อให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนตลอดไป


"ภาพถ่ายมุมสูงชุมชนริมน้ำ"

                วิกฤตการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม อันเนื่องมาจากการแตกฉานซ่านเซ็นของสังคมชนบท ตลอดจนเบี่ยงเบนค่านิยมไปตามกระแสสังคมโลกที่เน้นแต่การไขว่คว้าหาความมั่งคั่งทางวัตถุและสภาพการแข่งขันที่นำไปสู่การเผชิญหน้าและไม่ผ่อนปรนกันระหว่างคนในสังคม
                การเรียนรู้เพื่อกอบกู้ชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาระบบเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเพื่อการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและทันสมัย ยังควรถูกนำไปใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้ของชุมชน ระบบการเรียนรู้ของชุมชนจะทำให้ชุมชนสามารถรวมพลังกันคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาในชีวิตจริง (ความฝันของแผ่นดิน, 2539: 72)
                ไม้ใหญ่ที่ไร้รากย่อมไม่อาจเป็นที่พึงพาแก่กิ่งก้านสาขาต่อไปได้อีก ชุมชนที่ไม่รู้ที่มาก็ไม่อาจมีความเข้มแข็งยั่งยืนถึงลูกหลานเช่นกัน

                บ้านเลขที่ 69 บ้านเรียนรู้ชุมชนริมน้ำจันทบูร บ้านที่บอกรากเหง้าชาวจันทบุรี

                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น