วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สิ้นสุดความแปลกแยก





                                                                                                                           สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน


“ดอกไม้ ดอกไม้จะบาน บริสุทธิ์กล้าหาญ จะบานในใจ สีขาวหนุ่มสาวจะใฝ่ แน่วแน่แก้ไข จุดไฟศรัทธา เรียนรู้ต่อสู้มายา ก้าวไปข้างหน้า เข้าหามวลชน” 


                การศึกษาคู่กับการพัฒนา คำสำคัญของอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนาได้ทำให้โรงเรียนกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชนบท หรือเป็นโรงเรียน S-BIRD (School Based Integrated Rural Development) ที่มีเป้าหมายสำคัญคือ ให้โรงเรียนเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชนและเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและประชาธิปไตย โรงเรียนเป็นจักรกลในการขับเคลื่อนชุมชน เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม การส่งเสริมศักยภาพชุมชนอย่างยั่งยืนและลดการย้ายถิ่นฐาน โดยการพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียน ส่งเสริมความเป็นผู้นำ เน้นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้รู้จักค้นคว้า มีคุณธรรม มีจิตสาธารณะ



                                  "คณะครูและนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาศึกษาดูงานในชุมชน"

                ชุมชนจึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนา โครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน (Village Development Partnership for Sustainable Health Development and Poverty Alleviation Project) จึงเป็นโครงการคู่ขนานกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง (S-BIRD) โดยการนำประสบการณ์จากการพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ ของสมาคมฯ มารวมกันเข้าเป็นรูปแบบการพัฒนาแบบองค์รวมในระดับหมู่บ้านหรือส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน 5 ด้าน ได้แก่
                -การพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน
                -การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและทักษะในการทำธุรกิจ
                -การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแหล่งน้ำ
                -การพัฒนาการศึกษาและเยาวชน
                -การส่งเสริมสุขภาพอนามัยผู้สูงอายุ

          
                   "ครูนางครูนักพัฒนาแห่ง VDP เดินนำหน้านำนักเรียนศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น"

                บทบาทของโรงเรียนมีชัยพัฒนา นอกจากจะเน้นการสอนเพื่อฝึกทักษะอาชีพ (Barefoot MBA) เพื่อสร้างคนให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) แล้ว ยังทำหน้าที่ฝึกอบรมครูในโรงเรียนเป้าหมาย ที่เป็นโรงเรียนเครือข่าย S-BIRD  นอกจากนี้ ยังมีการทำ BL & CNA (Bamboo Ladder and Community Need Assessment) กิจกรรมพี่สอนน้อง (Student Teach) เป็นพี่เลี้ยงให้การอบรมเยาวชนหรือห้องสมุดของเล่นฯ เป็นผู้ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับเยาวชนในโรงเรียน เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ ทำความสะอาดหมู่บ้าน โรงเรียนหรือสถานีอนามัย ร่วมทำธุรกิจกับเยาวชนและชาวบ้าน (เช่น ผู้ด้อยโอกาส) ร่วมในการติดตามประเมินผล เชิญชวนทุกภาคส่วนของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ (วัด ร.พ. สต.) เป็นต้น


                นาย เกรียงศักดิ์ วรรณพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิมงคล จังหวัดชัยนาทนำคณะครูและตัวแทนชุมชนเข้าอบรมทักษะอาชีพเกษตรเพื่อนำไปขยายผลในโรงเรียนที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา”




                “นายอนันต์ เอมสีแดง สมาชิกสภาเทศบาลตำบล ตัวแทนชุมชนโรงเรียนวัดโพธิ์มงคล จังหวัดชัยนาท เข้าร่วมอบรมปฏิบัติการที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา”



                                     "จากนาครสู่วนาครูนักพัฒนาไขยวัตร งามจิตรนำเพื่อนครูและนักเรียนศึกษา
โรงเรียนเครือข่าย School- BIRD" 

                สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนมีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาชนบทเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนจะต้องเน้น โครงการพัฒนาแบบองค์รวมในระดับหมู่บ้าน เพื่อขจัดปัญหาความยากจนที่เป็นต้นเหตุของปัญหา หนทางเดียวที่จะขจัดความยากจนได้คือ การทำธุรกิจ ด้วยการแนะนำให้ชาวบ้านประกอบอาชีพแบบนักธุรกิจ เพื่อเปลี่ยนจากความช่วยเหลือหรือแบบสงเคราะห์ ไปสู่การส่งเสริมให้ชาวบ้านมีทักษะในการทำธุรกิจ โดยใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ใช้หลักการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของโครงการ เริ่มตั้งแต่ ระดับความร่วมมือจากชาวบ้าน การวางแผนดำเนินโครงการ ไปจนถึงการติดตามและประเมินผล

            
                                           "ศาลาหลังนี้เป็นที่ปราชญ์ชาวบ้านมาปุจฉาวิสัชนา"


                โรงเรียนกับชุมชนจึงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิต ศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน เป็น  SC-BIRD (School and Community Based Integrated Rural Development)

                 จึงไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองสถาบันจะต้องแปลกแยกออกจากกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น