วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พัฒนาโรงเรียนโดยพลังของนักเรียน



                                                                                                                                         สุริยา เผือกพันธ์: เขียน

                             “วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเดิมที่นักเรียนเป็นผู้รับ (Passive learning) ครูเป็นผู้ให้ ไม่อาจทำให้นักเรียนกลายเป็นผู้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอนาคตได้”

                อรพินท์ สพโชคชัย (2537) กล่าวถึง การมีส่วนร่วมในการวางแผนและการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนไว้ว่า ชุมชนหรือหมู่บ้านประกอบด้วยครอบครัวหลาย ๆ ครอบครัวและกลุ่มบุคคลหลาย ๆ กลุ่มรวมตัวเข้าด้วยกัน มิใช่เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดังนั้น วิธีการที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการพัฒนาชุมชนที่เหมาะสมเป็นประชาธิปไตยและจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้คือ การพัฒนาที่เปิดโอกาสให้บุคคลและผู้แทนของกลุ่มบุคคลที่อยู่ในชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางในการพัฒนาชุมชน ร่วมตัดสินอนาคตของชุมชน ร่วมดำเนินกิจกรรมการพัฒนาและร่วมรักษาสมบัติของชุมชน ทั้งน้เพราะการที่จัดให้ผู้แทนจากกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนและตัดสินใจ เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินงานพัฒนาของชุมชน สร้างความยอมรับและความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนและสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการและมีความภูมิใจในผลงาน สิ่งเหล่านี้จะเป็นพลังผลักดันให้โครงการหรือกิจกรรมการพัฒนาชุมชนหรือหมู่บ้านดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ
                โรงเรียนมีชัยพัฒนา จัดกิจกรรมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการร่วมเป็นคณะกรรมการจัดซื้อและตรวจรับพัสดุของโรงเรียนทั้งนี้ เพื่อฝึกฝนให้เรียนรู้และมีทักษะด้านการงบประมาณ การวางแผน ความโปร่งใสและการเจรจาต่อรอง




                “นายอังกูร ธนภานุวงศ์ (ชีร์) ชั้น ม.4 และ ด.ญ. พัชริดา ทองลาด (มายด์) ชั้นม. 3 ยุวนักพัฒนาผู้ทำหน้าที่เก็บข้อมูลศึกษาสภาพของโรงเรียน ปีการศึกษา 2558

                กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวได้ศึกษาบทเรียนของกระบวนการพัฒนาชุมชนมาประยุกต์ใช้ โดยการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียน เพื่อเป็นส่วนช่วยเสริมให้งานของนักเรียนที่เรียนรู้การเป็นยุวนักพัฒนา โดยผสมกลมกลืนกับกระบวนการพัฒนาโรงเรียน อันจะเป็นกระบวนการที่ช่วยเสริมงานของครูนักพัฒนาได้ใกล้ชิด เข้าใจความต้องการ เข้าใจความรู้สึกของนักเรียนและเป็นโอกาสที่จะกระตุ้นนักเรียนให้พร้อมใจกันพัฒนาโรงเรียนของตนเอง กระบวนการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาโรงเรียน ประยุกต์มาจากกระบวนการพัฒนาชนบทดังแผนภูมิ
                   1. การศึกษาโรงเรียน              2.  การเตรียมโรงเรียน                3. การเตรียมการประชุม

                          6.  การประเมินผล         5. การดำเนินการพัฒนาโรงเรียนการ     4. จัดประชุมนักเรียน


                การจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาโรงเรียน ควรดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

                                1.ขั้นการเตรียมการ หมายถึง กิจกรรมที่ควรดำเนินการก่อนที่จะจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียน โดยมีขั้นตอนที่จำเป็นดังนี้
                                  1.1 การศึกษาชุมชนโรงเรียน การที่ยุวนักพัฒนาจะจัดประชมระดับโรงเรียนได้ต้องทำความเข้าใจข้อมูล สภาพโรงเรียน ลักษณะภูมิประเทศ นักเรียนระดับชั้นต่าง ๆ ผู้นำ ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม การบริหารโรงเรียน ตลอดจนสภาพปัญหาต่าง ๆ
                                1.2 การวิเคราะห์และคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่จะทำให้การประชุมประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น ครูนักพัฒนา (ผู้นำการประชุม) ควรวิเคราะห์และคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายในโรงเรียนจากระดับชั้นต่าง ๆ ประมาณ 30 คน
                                1.3 การจัดประชุมกรรมการที่คัดเลือกมาและการเตรียมการประชุม ก่อนที่จะจัดการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียน การเตรียมนักเรียนเพื่อให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประชุม ประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับ ขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการอีกขั้นตอนหนึ่ง



    “การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative learning) เป็นการฝึกทักษะที่จำเป็นของศตวรรษที่ 21st

                                1.4 การเตรียมตัวของครูนักพัฒนาผู้นำการประชุม ความสำเร็จประการหนึ่งในการจัดการประชุมตามกระบวนการนี้อยู่ที่ความสามารถและศิลปะของผู้นำการประชุมที่สามารถฝึกฝนได้
                                1.5 การเตรียมการประชุม เตรียมอุปกรณ์และสถานที่ ห้องประชุมหรือสถานที่ประชุมควรเป็นห้องขนาดพอสมควร มีพื้นที่เพียงพอสำหรับจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ควรอยู่ในโรงเรียนเพื่อสะดวกในการเดินทาง ควรมีผนังหรือแผ่นกระดาษที่สามารถใช้ติดภาพและรายงานได้ การจัดที่นั่งประชุมควรเป็นรูปครึ่งวงกลมไม่จำเป็นต้อใช้โต๊ะ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเคลื่อนไหว พูดคุยและเสนอความเห็นได้สะดวก


                                       “การศึกษาดูงานของกลุ่มต่าง ๆ เป็นสภาพปกติของโรงเรียน”

                ความเป็นประชาธิปไตย เป็นคุณค่าหลักหนึ่งในหลายอย่างที่โรงเรียนมีชัยพัฒนาได้ส่งเสริมนักเรียนให้ได้เรียนรู้ กระบวนการพัฒนาโรงเรียนโดยใช้พลังนักเรียนเป็นการเรียนรู้ทักษะชีวิตในสถานการณ์จริงและเป็นโลกของความเป็นจริง เป็นการเตรียมนักเรียนให้เรียนรู้กับการเผชิญและแก้ปัญหาในอนาคต ที่ปัญหาใหม่ต่าง ๆ กำลังคุกคามเราทั้งภายในภายนอกจนทำให้เราต้องใส่ใจกับวิธีคิดและการแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนเพิ่มสูงขึ้น

                ด้วยว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเดิมที่นักเรียนเป็นผู้รับ (Passive learning) ครูเป็นผู้ให้ ไม่อาจทำให้นักเรียนกลายเป็นผู้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอนาคตได้
                               



อรพินท์ สพโชคชัย (2537). คู่มือการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดในการพัฒนาหมู่บ้าน การพัฒนาหมู่บ้าน
โดยพลังประชาชน.  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น