วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

โรงเรียนมีชัยพัฒนากับการเรียนรู้แนวสังคมวัฒนธรรม (Sociocultural Theory)

                                                                                                              

                                                                                                                                    สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน

“เมื่อหลายปีก่อน (2539) มีผู้จุดประกายความฝันของแผ่นดินเกี่ยวกับการศึกษาไว้หลายมิติ หนึ่งในนั้นฝันว่า เราฝันถึงการที่คนไทยหาความรู้ใส่ตัวตลอดชีวิต ตั้งแต่เด็ก ๆ ที่แสวงหาความรู้พื้นฐานเพื่อ ตั้งต้นชีวิต ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่ค่อย ๆ สะสมความรู้มากมายเพื่อ จรรโลงชีวิต ไปจนแก่เฒ่า”

                ลมร้อนของเดือนเมษายนอาจรุกไล่บางผู้คนให้หลบลี้ไปเสียจาก ความซ้ำซากจำเจของระอุไอและพยับแดด....ป่าไม้ ภูเขา ลำธารและทะเล คือภาพคุ้นชินที่พวกเราพานพบ แต่อาจแปลกใหม่ที่บางผู้คนเลือกหลบรู้ คลายร้อนที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ที่นั่นเขามีอะไร..
              ที่นั่นมีศูนย์การเรียนรู้หลักสูตร “อาชีวะพลังงาน ลูกอีสานคืนถิ่น”
                โดยอาจารย์นัน ภักดีและคณะเป็นวิทยากรภายใต้ความร่วมมือกับโรงเรียนมีชัยพัฒนา
                หลักสูตรประกอบด้วย 1) ระบบไฟแสงสว่าง 2) ระบบสูบน้ำ ระยะเวลา 3) รถไฟฟ้า 4) การเจาะน้ำบาดาล 5) การสีข้าวแปรรูปการเกษตร
                แต่ละหลักสูตรมุ่งให้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้พลังงานจากโซล่าเซลล์  ระยะเวลา 15 วัน



                                                           "อาจารย์นัน ภักดี (กลาง) กับทีมงาน"

                “ผมเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ที่มาช่วย ผอ.มีชัย เพราะเห็นว่าท่านทำได้ดีมามากมายแล้ว” อาจารย์นัน ภักดีเล่าถึงการมาปักหลักสร้างศูนย์การเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนมีชัยพัฒนา
                “เมื่อก่อนผมทำกิจกรรมแบบนี้โดยเริ่มจาก ความคิดเล็ก ๆ ที่จะนำความรู้ที่มีไปช่วยผู้อื่น ทีละเล็กทีละน้อย จนขยายมาเป็นกลุ่มใหญ่อย่างเช่นทุกวันนี้ ทุกอย่างก็ต้องเริ่มต้นจากเล็ก ๆ” อาจารย์นันท์เล่าเรื่องที่มาของกิจกรรม
                “แรก ๆ ก็บอกข่าวกันทางจดหมาย ประกาศทางวิทยุ เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีเฟสบุ๊คเหมือนทุกวันนี้” อาจารย์นันท์เล่าถึงการแจ้งข่าวให้ผู้สนใจเรียนก่อนที่ยุคอินเตอร์เน็ตจะเติบโต
                “หลักการของผมคือสอนโดยใช้งานเป็นฐานการสร้างความรู้ เมื่อเรียนจบก็ได้ทั้งความรู้และมีผลงานเกิดขึ้น”  อาจารย์นัน เล่าถึงรูปแบบการสอน
                “ต้องการให้คนเรียนรู้พึ่งตนเองได้ ขยายความรู้ อยู่อย่างพอเพียง นั่นคือ ความสงบ พอเพียงก็คือ สงบ สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี”  อาจารย์ขยายความแนวปรัชญาการจัดการเรียนรู้
                “ทำแล้ววาง วางใจ ไม่ยึดติด สิ่งของที่เกิดจากการเรียนและการทำงาน ทำเสร็จแล้วก็ไม่ยึดติดว่า เป็นของตนเอง ก็วางไว้เป็นของผู้อื่น”
                “ผมไม่เคยขาดเงิน เพราะมีคนช่วยตลอด ให้ตลอด ทุกอย่างมีคนให้ เพราะการให้มันเป็นเช่นนั้นเอง  เราทำเหตุให้ดี ผลมันจะดี ผมเน้นช่วยวัด จึงเห็นพระมาช่วยเป็นวิทยากรด้วย สอนทำต้องรู้ธรรมครูอาสา 7-10 คน เขามาช่วยก็ไม่ได้บอก พวกเขารู้ เขาก็มาช่วย”
                หลักสูตรอาชีวะพลังงาน ลูกอีสานคืนถิ่นในครั้งนี้ มีผู้สมัครเรียนผ่านเฟสบุ๊คจากที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวน  54คน มีทุกเพศ ทุกวัย



                                               "ลุงฐิติพงค์ พูลสวัสดิ์กับไฟฉุกเฉินไปช่วยเนปาล"

               ฐิติพงค์ พูลสวัสดิ์ อายุ 59 ปี อาชีพทำไร่และทำบ้านเช่า ชาวกาญจนบุรี หนึ่งในผู้สนใจที่สมัครเข้ามาเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้
             “ผมมาที่นี่เป็นครั้งที่สองแล้ว ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไร ไม่มีความรู้มาก่อนเลย ได้ดูตามเฟสเห็นโครงการนี้เลยมา มาคราวนี้ได้ดูแผงโซล่าหันตามตะวัน และการเจาะบ่อบาดาล”  ลุงฐิติพงค์ เล่าถึงที่มาของตัวเอง
            “ได้ประโยชน์มากครับ ที่บ้านเช่าค่ำลงผมก็ใช้แสงไฟจากโซล่าเซลล์ ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น” ลุงคนเดิมเล่าถึงประโยชน์จากความรู้ที่ได้รับ
             สิ่งที่สังเกตได้จากศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้คือ ทุกคนมีความต้องการในการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของตนเอง ในมุมมองทางทฤษฎีการเรียนรู้ การเรียนรู้แนวนี้เรียกว่า ทฤษฎีการเรียนรู้แนวสังคมวัฒนธรรม (Sociocultural Theory) ทฤษฎีการเรียนรู้แนวสังคมวัฒนธรรม เป็นการขยายการเรียนรู้ไปสู่บริบททางวัฒนธรรม สถาบันและประวัติศาสตร์ของชุมชน จุดเน้นจึงเป็นการสร้างบทบาทของผู้เรียนในการมีส่วนร่วมกับชุมชนทางสังคมและวัฒนธรรม อันเป็นผลจากจิตวิทยาพัฒนาการด้วย (Sarah Scott, AnnemaricPalincsar, 2013)


                            
                                        "พระภิกษุ สามเณร ชาวบ้านทุกเพศวัย ทุกสาขาอาชีพกำลังเรียนรู้
                                                       การต่อแผงโซล่าเซลล์จากการสร้างผลงานจริง"

          เลฟ วีก็อตสกี้ (Lev Vegotsky) กล่าวว่า วิธีการเรียนรู้ตามแนวสังคมวัฒนธรรม (Sociocultural Approaches)เป็นการพึ่งพากันระหว่างบุคคลและสังคมในการร่วมกันสร้างองค์ความรู้ ทุก ๆ บทบาทในการเรียนรู้ของผู้เรียนจะมีการพัฒนาใน  2 ระดับคือ ในระดับสังคมและบุคคล การเรียนรู้ในระดับสังคมจะส่งผลทางจิตวิทยาต่อการเรียนรู้ในตัวบุคคล การเรียนรู้ตามทฤษฎีสังคมวัฒนธรรม ไม่เป็นเฉพาะเรื่องที่ว่า ผู้ใหญ่และเพื่อนจะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของแต่ละคนอย่างไรเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของทัศนคติ ความเชื่อเข้ามามีอิทธิพลต่อวิธีการจัดการเรียนการสอนด้วย  

            ขอบเขตการพัฒนาที่ใกล้ชิดกัน (The Zone of Proximal Development) แนวคิดสำคัญของทฤษฎีสังคมวัฒนธรรมคือ เรื่องของการกำหนดขอบเขตการพัฒนาที่ใกล้ชิดกัน ระหว่างวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละคนกับการพัฒนาศักยภาพเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวภายใต้การแนะนำของผู้รู้เช่นผู้ใหญ่หรือเพื่อน ๆ ในเรื่อง ความรู้และทักษะ ต่าง ๆ ที่แต่ละคนยังไม่เข้าใจหรือทำด้วยตัวเองยังไม่ได้ เป็นการพัฒนาการเรียนรู้โดยการแนะนำจากผู้อื่นโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการสังเกต เลียนแบบและดูตัวแบบ (Model)

                                      
                                                  "รถยนต์บรรทุกพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ในโรงเรียน"

           “สิ่งที่พวกเราทำและแบ่งปันมาแล้ว เช่น การนำผลิตภัณฑ์โซล่าเซลล์ไปบริจาควัดในเชียงราย เมื่อคราวที่เกิดแผ่นดินไหว ตอนนี้เกิดที่เนปาล พวกเรากำลังทำไฟฉุกเฉิน ส่งไปช่วยโดยจะบริจาคผ่านสถานฑูต ขณะนี้ก็แจ้งข่าวทางเฟสบุ๊คอยู่” อาจารย์นันเล่าถึงการแบ่งปันสังคมในระยะที่ผ่านมาและกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้

             “ก่อนหน้านี้ผมทำมาหมดแล้วเกี่ยวกับอาชีพการงาน มีฐานะ มีเงิน มีเกียรติ แต่สรุปแล้ว ไม่มีอะไรดีเท่าทำงานรับใช้แผ่นดิน” อาจารย์นัน สรุป


หมายเหตุ  Lev Vygotsky เป็นนักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ได้เสนอทฤษฎีการพัฒนาสติปัญญาให้สูงขึ้นในตัวของเด็กด้วยการทำกิจกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น