วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ปลดโซ่ตรวนนายเทค (Mr.Tech) !!!!!!



                                                                                                                                       สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน

                แม้การตีเกราะเคาะไม้ ปล่อยควันไฟและใช้นกพิราบ จะหายสาบสูญไปจากระบบการสื่อสารที่ปัจจุบันพัฒนาไปไกลจนสุดประมาณนานแล้ว แต่ก็ใช่ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารจะได้รับการอนุญาตให้ทำหน้าที่ได้ในทุกสถานการณ์
                มนุษย์ต้องการการสื่อสาร แบ่งปัน จัดเก็บและสร้างสรรค์ การเจริญเติบโตของเทคโนโลยีสามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันอัตราการเจริญเติบโตเกิดขึ้นเร็วมาก มากจนอุปกรณ์บางอย่างใช้ยังไม่ทันเก่า ก็มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทนเสียแล้ว
                การจัดการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน เทคโนโลยีได้แทรกตัวเข้าไปสู่ระบบการเรียนการสอนและการบริหารจัดการอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นและเครื่องมือต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทรศัพท์มือถือ ที่มีสมรรถนะมากกว่าคอมพิวเตอร์ในสมัยก่อน แต่นักเรียนส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ โรงเรียนส่วนมากห้ามนักเรียนใช้เทคโนโลยี !!!!


                ในขณะที่พวกเขากำลังก้าวสู่โลกของการทำงาน ซึ่งแตกต่างจากโลกในโรงเรียนอย่างมาก โลกที่ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาและหาข้อมูล กระนั้นก็ตาม โรงเรียนทั่วไปที่มีข้อห้ามการใช้เทคโนโลยี มิได้ห้ามด้วยเหตุผลเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นเหตุผลในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเสียมากกว่า
                ในสังคมของผู้ใช้เทคโนโลยี เราจะเห็นผู้คนแสดงความหยาบคายต่อผู้อื่นตลอดเวลา คุยโทรศัพท์ระหว่างที่ภาพยนตร์กำลังฉาย รับโทรศัพท์ขณะรับประทานอาหาร ส่งข้อความขณะขับรถ มีพฤติกรรมเสี่ยงอีกมากหรือไม่เหมาะสมแก่กาละเทศะทุกประการ
                ดักลาส พิชเชอร์และแนนซี่ เฟรย์ สองนักการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยซานดิเอโกสเตต (San Diego State University) ผู้พัฒนาการนำเทคโนโลยีทีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสุดขั้ว มาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของนักเรียนเสนอว่า ได้ยุติการห้ามใช้เทคโนโลยีและหันไปเน้นเรื่องมารยาท โดยสนับสนุนให้นักเรียนใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแทน


                หลังการใช้เทคโนโลยีแล้วมาหลายปีพบว่า เทคโนโลยีไม่มีปัญหาอีกต่อไป “ไม่ต้องยึดโทรศัพท์และไม่ได้เสียเวลาอันมีค่าไปกับการบังคับใช้นโยบายอย่างในศตวรรษก่อน” และข้อเสนอต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเรื่องของการมีมารยาทในการใช้เทคโนโลยี เช่น
                กล่าวคำว่า ขอความกรุณาและขอบคุณ
                ตั้งใจ/มีสมาธิในการเรียน
                สุงสิงกับเพื่อนในช่วงพักระหว่างคาบเรียนและพักกลางวัน
                ถามคำถามและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นและครู
                ร้องขอยอมรับ เสนอหรือปฏิเสธความช่วยเหลืออย่างสุภาพ
                ให้ครูและเพื่อนร่วมชั้นพูดจบโดยไม่พูดแทรก
                ทิ้งขยะหลังรับประทานอาหารเสร็จ
                รักษาความสะอาดบริเวณที่ตนทำงาน
                รายงานปัญหาความปลอดภัยหรือปัญหาอื่น ๆ ที่เจ้าหน้าที่ควรให้ความสนใจ เป็นต้น
                ส่วนตัวอย่างเรื่อง ความไร้มารยาทที่ไม่ควรประพฤติ เช่น
                ใช้ภาษาไม่สุภาพ หยาบคาย ล่วงเกินหรือดูหมิ่น
                ฟังเพลงจากไอพอด เอ็มพี 3 ระหว่างการเรียนอย่างเป็นทางการ เช่น ขณะครูบรรยายหรือขณะทำงานกลุ่ม
                ส่งข้อความหรือคุยโทรศัพท์ในเวลาเรียน
                พาลหาเรื่อง ยั่วเย้าหรือคุกคามผู้อื่น
                แย่งแบรนด์วิทและหรือเวลาใช้คอมพิวเตอร์
                ผิดนัดหรือทำงานไม่เสร็จตามกำหนด
                ไม่แจ้งให้ทราบเมื่อมาโรงเรียนไม่ได้ เป็นต้น



                เมื่อนโยบายการใช้เทคโนโลยีในโรงเรียนเปลี่ยนไปเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ โดยมีจุดเน้นที่ต้องการการสื่อสาร การแบ่งปัน การจัดเก็บและการสร้างสรรค์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น การออกแบบการใช้เทคโนโลยีจึงต้องเป็นภารกิจของครู ผ่านการสอนอย่างจงใจ (Intentional Instruction) เพื่อปล่อยความรับผิดชอบในการเรียนรู้เป็นของนักเรียน โดยใช้โมเดลแบบปล่อยความรับผิดชอบทีละน้อย (Gradual release of responsibility)
                ดุกค์และเพียร์สัน (Duke & Pearson) กล่าวว่า ให้ครูเปลี่ยนจาก “การรับผิดชอบในงานทั้งหมดไปสู่สถานการณ์ที่นักเรียนเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด” บทบาทการสอนเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยี (Web 2.0 Tools) เป็นเรื่องสำคัญมาก โมเดลแบบปล่อยความรับผิดชอบทีละน้อยที่นำมาใช้ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ประการคือ
                1.บทเรียนเน้นประเด็น ด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์และการที่ครูสร้างโมเดลการใช้เทคโนโลยีให้เป็นตัวอย่างแก่นักเรียนในขณะเรียน บทเรียนลักษณะนี้มุ่งการสอนแบบชี้แนะ ไม่ใช่เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
                2. การสอนแบบชี้แนะ เป็นการบอกใบ้ ตั้งคำถาม กระตุ้น เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนใช้ความคิด โดยใช้เทคโนโลยี (Web 2.0 Tools) เพื่อตอบสนองการสอนที่เจาะจงได้ เช่น Website Twitter Facebook    E-mail เพราะเครื่องมือเหล่านี้ ช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนความรับผิดชอบ จากครูไปสู่นักเรียนและให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่นักเรียนในการพัฒนาทักษะการคิด
                3. ภารกิจความร่วมมือ ผ่านกิจกรรมการเขียนและการสอนแบบช่วยเหลือกันทางอินเทอร์เน็ต ผ่าน Web 2.0 Tools เช่น การเขียนบทความ ค้นหาบทความ อ่าน วิพากษ์ วิจารณ์ เป็นการสร้างเงื่อนไขให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์โดยใช้ภาษาและเนื้อหาในสาขาวิชานั้น ๆ และนักเรียนต้องรับผิดชอบในส่วนงานของตนเองที่มีผลต่องานของกลุ่ม
                4. การเรียนรู้ด้วยตนเอง นักเรียนต้องผ่านการฝึกฝน การใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ก่อนถูกสั่งให้ไปทำงานด้วยตนเอง เครื่องมือ Web 2.0 Tools เช่น พอดคาสต์ Discussion Board เป็นต้น



                ข้อกังวลของโรงเรียนที่มีนโยบายเน้นรูปแบบการใช้เทคโนโลยีคือ งบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น เพราะการเน้นรูปแบบการใช้เทคโนโลยีเป็นหลักไม่สามารถติดตามความก้าวหน้าได้ทัน หากเปลี่ยนมุมมองมาเป็นการเน้นหน้าที่เป็นหลัก โรงเรียนจะหมดกังวลเรื่องทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ปัจจุบันนักเรียนบางคนจะมีอยู่แล้ว เช่น คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค แทปเล็ต และโทรศัพท์มือถือไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง หากได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้แก่นักเรียน จะเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างตรงไปตรงมา โรงเรียนอย่ามัวตีเกราะเคาะไม้อยู่เลย

                โปรดคืนอิสรภาพแก่เทคโนโลยี !!!!




ดักลาส พิชเชอร์ & แนซี่ เฟรย์ (2556). การเตรียมนักเรียนให้เชี่ยวชาญทักษะแห่งศตวรรษที่ 21. ทักษะแห่ง
อนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21. บริษัทโอเพ่นเวิรลด์ พับพลิชเฮาส์ จำกัด.
               

                

วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พัฒนาโรงเรียนโดยพลังของนักเรียน



                                                                                                                                         สุริยา เผือกพันธ์: เขียน

                             “วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเดิมที่นักเรียนเป็นผู้รับ (Passive learning) ครูเป็นผู้ให้ ไม่อาจทำให้นักเรียนกลายเป็นผู้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอนาคตได้”

                อรพินท์ สพโชคชัย (2537) กล่าวถึง การมีส่วนร่วมในการวางแผนและการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนไว้ว่า ชุมชนหรือหมู่บ้านประกอบด้วยครอบครัวหลาย ๆ ครอบครัวและกลุ่มบุคคลหลาย ๆ กลุ่มรวมตัวเข้าด้วยกัน มิใช่เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดังนั้น วิธีการที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการพัฒนาชุมชนที่เหมาะสมเป็นประชาธิปไตยและจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้คือ การพัฒนาที่เปิดโอกาสให้บุคคลและผู้แทนของกลุ่มบุคคลที่อยู่ในชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางในการพัฒนาชุมชน ร่วมตัดสินอนาคตของชุมชน ร่วมดำเนินกิจกรรมการพัฒนาและร่วมรักษาสมบัติของชุมชน ทั้งน้เพราะการที่จัดให้ผู้แทนจากกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนและตัดสินใจ เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินงานพัฒนาของชุมชน สร้างความยอมรับและความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนและสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการและมีความภูมิใจในผลงาน สิ่งเหล่านี้จะเป็นพลังผลักดันให้โครงการหรือกิจกรรมการพัฒนาชุมชนหรือหมู่บ้านดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ
                โรงเรียนมีชัยพัฒนา จัดกิจกรรมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการร่วมเป็นคณะกรรมการจัดซื้อและตรวจรับพัสดุของโรงเรียนทั้งนี้ เพื่อฝึกฝนให้เรียนรู้และมีทักษะด้านการงบประมาณ การวางแผน ความโปร่งใสและการเจรจาต่อรอง




                “นายอังกูร ธนภานุวงศ์ (ชีร์) ชั้น ม.4 และ ด.ญ. พัชริดา ทองลาด (มายด์) ชั้นม. 3 ยุวนักพัฒนาผู้ทำหน้าที่เก็บข้อมูลศึกษาสภาพของโรงเรียน ปีการศึกษา 2558

                กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวได้ศึกษาบทเรียนของกระบวนการพัฒนาชุมชนมาประยุกต์ใช้ โดยการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียน เพื่อเป็นส่วนช่วยเสริมให้งานของนักเรียนที่เรียนรู้การเป็นยุวนักพัฒนา โดยผสมกลมกลืนกับกระบวนการพัฒนาโรงเรียน อันจะเป็นกระบวนการที่ช่วยเสริมงานของครูนักพัฒนาได้ใกล้ชิด เข้าใจความต้องการ เข้าใจความรู้สึกของนักเรียนและเป็นโอกาสที่จะกระตุ้นนักเรียนให้พร้อมใจกันพัฒนาโรงเรียนของตนเอง กระบวนการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาโรงเรียน ประยุกต์มาจากกระบวนการพัฒนาชนบทดังแผนภูมิ
                   1. การศึกษาโรงเรียน              2.  การเตรียมโรงเรียน                3. การเตรียมการประชุม

                          6.  การประเมินผล         5. การดำเนินการพัฒนาโรงเรียนการ     4. จัดประชุมนักเรียน


                การจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาโรงเรียน ควรดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

                                1.ขั้นการเตรียมการ หมายถึง กิจกรรมที่ควรดำเนินการก่อนที่จะจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียน โดยมีขั้นตอนที่จำเป็นดังนี้
                                  1.1 การศึกษาชุมชนโรงเรียน การที่ยุวนักพัฒนาจะจัดประชมระดับโรงเรียนได้ต้องทำความเข้าใจข้อมูล สภาพโรงเรียน ลักษณะภูมิประเทศ นักเรียนระดับชั้นต่าง ๆ ผู้นำ ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม การบริหารโรงเรียน ตลอดจนสภาพปัญหาต่าง ๆ
                                1.2 การวิเคราะห์และคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่จะทำให้การประชุมประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น ครูนักพัฒนา (ผู้นำการประชุม) ควรวิเคราะห์และคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายในโรงเรียนจากระดับชั้นต่าง ๆ ประมาณ 30 คน
                                1.3 การจัดประชุมกรรมการที่คัดเลือกมาและการเตรียมการประชุม ก่อนที่จะจัดการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียน การเตรียมนักเรียนเพื่อให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประชุม ประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับ ขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการอีกขั้นตอนหนึ่ง



    “การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative learning) เป็นการฝึกทักษะที่จำเป็นของศตวรรษที่ 21st

                                1.4 การเตรียมตัวของครูนักพัฒนาผู้นำการประชุม ความสำเร็จประการหนึ่งในการจัดการประชุมตามกระบวนการนี้อยู่ที่ความสามารถและศิลปะของผู้นำการประชุมที่สามารถฝึกฝนได้
                                1.5 การเตรียมการประชุม เตรียมอุปกรณ์และสถานที่ ห้องประชุมหรือสถานที่ประชุมควรเป็นห้องขนาดพอสมควร มีพื้นที่เพียงพอสำหรับจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ควรอยู่ในโรงเรียนเพื่อสะดวกในการเดินทาง ควรมีผนังหรือแผ่นกระดาษที่สามารถใช้ติดภาพและรายงานได้ การจัดที่นั่งประชุมควรเป็นรูปครึ่งวงกลมไม่จำเป็นต้อใช้โต๊ะ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเคลื่อนไหว พูดคุยและเสนอความเห็นได้สะดวก


                                       “การศึกษาดูงานของกลุ่มต่าง ๆ เป็นสภาพปกติของโรงเรียน”

                ความเป็นประชาธิปไตย เป็นคุณค่าหลักหนึ่งในหลายอย่างที่โรงเรียนมีชัยพัฒนาได้ส่งเสริมนักเรียนให้ได้เรียนรู้ กระบวนการพัฒนาโรงเรียนโดยใช้พลังนักเรียนเป็นการเรียนรู้ทักษะชีวิตในสถานการณ์จริงและเป็นโลกของความเป็นจริง เป็นการเตรียมนักเรียนให้เรียนรู้กับการเผชิญและแก้ปัญหาในอนาคต ที่ปัญหาใหม่ต่าง ๆ กำลังคุกคามเราทั้งภายในภายนอกจนทำให้เราต้องใส่ใจกับวิธีคิดและการแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนเพิ่มสูงขึ้น

                ด้วยว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเดิมที่นักเรียนเป็นผู้รับ (Passive learning) ครูเป็นผู้ให้ ไม่อาจทำให้นักเรียนกลายเป็นผู้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอนาคตได้
                               



อรพินท์ สพโชคชัย (2537). คู่มือการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดในการพัฒนาหมู่บ้าน การพัฒนาหมู่บ้าน
โดยพลังประชาชน.  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.



วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อาศรมศิลป์อาศรมศาสตร์: ศาสตร์แห่งผู้ก่อการดี



                                                                                                                                         สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน

                ปราชญ์ ผู้รู้ นักการศึกษา ศิลปิน สถาปนิกและนักวิชาการที่มีประสบการณ์ ได้ตระหนักถึงปัญหาของการศึกษาไทย ที่ใช้วิชาเป็นตัวตั้งมาเป็นเวลานาน จนทำให้ผู้เรียนแปลกแยกออกจากสิ่งแวดล้อมและสังคมมากยิ่งขึ้น ผู้รู้เหล่านี้จึงปรึกษาหารือกันถึงการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นอุดมศึกษาทางเลือก เป็นการศึกษาแบบบูรณาการชีวิตในขั้นอุดมศึกษา ที่จะนำไปสู่ความเป็นสถาบันการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้สูงสุดของมนุษย์ ด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างสรรค์ชุมชนแห่งการเรียนรู้ใหม่ ที่ผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ากับองค์ความรู้ร่วมสมัย ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร และความเอาใจใส่ดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิดจากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกที่เข้าถึงวิชาการและวิชาชีวิต


                                   "ทีมวิทยากร PAD ลำปลายมาศนำโดยพี่สมคิด พี่นางและพี่โอ๋"

                สถาบันอาศรมศิลป์ เกิดจากประสบการณ์และแนวคิดในการจัดการศึกษาทางเลือกใหม่กับสังคมไทยในนามของโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นโรงเรียนวิถีพุทธที่มีประสบการณ์ในการเรียนการเรียนการสอนมาร่วม 10 ปี จนเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จระดับหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการแห่งชีวิตที่มุ่งเน้นการประสานกลมกลืนกัน ระหว่างศิลปะกับวิทยาการ ประการหนึ่งและเป็นความกลมกลืนกันระหว่างวิชาการกับการเรียนรู้ร่วมกันผ่านวิถีชุมชน อีกประการหนึ่ง
                ปรัชญาของสถาบันอาศรมศิลป์คือ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่จะต้องศึกษาและปฏิบัติให้เข้าถึงสาระสำคัญของการดำรงชีวิต ซึ่งตั้งอยู่บนความจริง ความงามและ ความดี โดยการผ่านการจัดการเรียนการสอนด้วยหลักการที่สำคัญคือ สุทรียธรรม (Aesthetics) มงคลธรรม (Virtues) และวัฒนธรรม (Cultures)
                 สถาบันอาศรมศิลป์ มีจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาในรูปแบบ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และกับเครือข่าย อันเป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อความเจริญงอกงามของชีวิตคือ การเข้าถึงคุณค่า ความดี ความงามและความจริงด้วยปัญญาและเป็นแหล่งบุคคลแห่งการเรียนรู้ไปสู่สังคม เพื่อนำกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่กระบวนทัศน์ใหม่ โดยอาศัยการขยายต่อองค์ความรู้ของตนกับผู้อื่น


                     "กลุ่มเยาวชนและนักศึกษาอาศรมศิลป์ผู้เข้าอบรม BOT ที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา"

                การเรียนไม่ได้มุ่งผลิตบัณฑิตเพื่อจะไปแข่งขันสอบบรรจุ รับจ้างหางานทำ ต้องการให้บัณฑิตเป็นผู้ประกอบการ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้คิด ริเริ่ม พัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาและทุนทางสังคมในท้องถิ่นหรือการพัฒนาระบบกสิกรรมธรรมชาติจากเรือกสวนไร่นา ที่สามารถจะเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ หากนักศึกษาสามารถกระทำเช่นนี้ได้ ย่อมมีค่ากว่าคะแนนในแต่ละรายวิชาและปริญญาบัตร ซึ่งสุดท้ายเมื่อจบการศึกษาแล้ว ไม่รู้จะเอาใบปริญญาบัตรไปทำประโยชน์อะไร แต่ถ้าพวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง มีรายได้ มีความพออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้ นี้จะเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าใบปริญญาเป็นไหน ๆ
                นักศึกษาต้องมีโครงงานการเป็นผู้ประกอบการสังคม ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน ให้นักศึกษาตั้งเป้าเอาไว้จะทำอะไร ให้สรุปรวบรวมแจ้งให้ส่วนกลางทราบด้วย เพื่อจะได้เห็นภาพรวมของการเคลื่อนงาน ในการเรียนแต่ละสัปดาห์ ให้นักศึกษารายงานความก้าวหน้าของโครงการประกอบการสังคม เพื่อเรียนรู้ร่วมกันและการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความก้าวหน้า
                Microsoft YouthSpark – Enhancing ICT Skills for Youth SMEs in Thailand-Years\ III คือโครงการร่วมระหว่างสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PAD) ศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและบริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทยจำกัดที่สนับสนุนความก้าวหน้าของโครงการประกอบการสังคมของนักศึกษาในด้าน ICT

              “เรียนคอมพิวเตอร์ทำแผ่นพับ โฆษณาสินค้า เพิ่งมาเป็นครั้งแรก ยังได้ความรู้ไม่เต็มที่” วงเดือน ปิตายัง นักศึกษาปี 1 ทำธุรกิจรับซื้อของเก่า กล่าวถึงการมาอบรม BOT เป็นครั้งแรก
                “อยากมาอีกให้ชำนาญ” เธอย้ำ


                เรียนเกี่ยวกับเอ็กเซล ทำกราฟ บันทึกข้อมูลของร้าน รายการสินค้า” จารุณี ชิรัมย์ นักศึกษาอีกคนที่ทำธุรกิจปลูกมะนาวนอกฤดูกล่าว


                “วันนี้ได้เพียงแค่ สมัครเฟสบุ๊ค อีเมล์ก็ถือว่าดีแล้ว และยังได้ฝึกทำแผ่นพับด้วย” สุภาภรณ์ เจริญตา นักศึกษาที่เลี้ยงปลาดุก กล่าวถึงสิ่งที่เธอได้เรียนรู้มา


                เช่นเดียวกับนภาจันทร์ สารสูงเนินกล่าวว่า “ได้เรียนรู้เพิ่มเติม เทคนิคการทำตัวหนังสือ ทำตารางแผ่นพับโฆษณาสินค้า ก็อยู่ระดับปานกลาง ต้องฝึกอีกเพิ่มจะได้ชำนาญ”
                


                โรงเรียนมีชัยพัฒนาร่วมกับ PDA ลำปลายมาศ จึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ให้การสนับสนุนด้านสื่อ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ห้องเรียน ยุววิทยากร และส่งนักเรียนส่วนหนึ่งเข้าร่วมอบรมหลักสูตร Basic of Training (BOT) ที่มีเป้าหมายเพื่ออบรมชาวบ้านหรือเยาวชนที่ตนเองหรือครอบครัวทำธุรกิจอยู่แล้ว ให้สามารถนำความรู้ด้านไอทีไปต่อยอดสร้างตลาดเพิ่มเติม และจำนวนผู้เข้าอบรมส่วนหนึ่งนั้นเป็นนักศึกษาสถาบันอาศรมศิลป์


                นอกจากการสนับสนุนดังกล่าวแล้ว โรงเรียนมีชัยพัฒนายังได้ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ จัดหลักสูตรเตรียมบัณฑิตของหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการประกอบการสังคมที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างนักกิจการเพื่อสังคมให้แก่สังคมไทยอีกด้วย

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สิ้นสุดความแปลกแยก





                                                                                                                           สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน


“ดอกไม้ ดอกไม้จะบาน บริสุทธิ์กล้าหาญ จะบานในใจ สีขาวหนุ่มสาวจะใฝ่ แน่วแน่แก้ไข จุดไฟศรัทธา เรียนรู้ต่อสู้มายา ก้าวไปข้างหน้า เข้าหามวลชน” 


                การศึกษาคู่กับการพัฒนา คำสำคัญของอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนาได้ทำให้โรงเรียนกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชนบท หรือเป็นโรงเรียน S-BIRD (School Based Integrated Rural Development) ที่มีเป้าหมายสำคัญคือ ให้โรงเรียนเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชนและเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและประชาธิปไตย โรงเรียนเป็นจักรกลในการขับเคลื่อนชุมชน เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม การส่งเสริมศักยภาพชุมชนอย่างยั่งยืนและลดการย้ายถิ่นฐาน โดยการพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียน ส่งเสริมความเป็นผู้นำ เน้นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้รู้จักค้นคว้า มีคุณธรรม มีจิตสาธารณะ



                                  "คณะครูและนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาศึกษาดูงานในชุมชน"

                ชุมชนจึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนา โครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน (Village Development Partnership for Sustainable Health Development and Poverty Alleviation Project) จึงเป็นโครงการคู่ขนานกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง (S-BIRD) โดยการนำประสบการณ์จากการพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ ของสมาคมฯ มารวมกันเข้าเป็นรูปแบบการพัฒนาแบบองค์รวมในระดับหมู่บ้านหรือส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน 5 ด้าน ได้แก่
                -การพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน
                -การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและทักษะในการทำธุรกิจ
                -การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแหล่งน้ำ
                -การพัฒนาการศึกษาและเยาวชน
                -การส่งเสริมสุขภาพอนามัยผู้สูงอายุ

          
                   "ครูนางครูนักพัฒนาแห่ง VDP เดินนำหน้านำนักเรียนศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น"

                บทบาทของโรงเรียนมีชัยพัฒนา นอกจากจะเน้นการสอนเพื่อฝึกทักษะอาชีพ (Barefoot MBA) เพื่อสร้างคนให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) แล้ว ยังทำหน้าที่ฝึกอบรมครูในโรงเรียนเป้าหมาย ที่เป็นโรงเรียนเครือข่าย S-BIRD  นอกจากนี้ ยังมีการทำ BL & CNA (Bamboo Ladder and Community Need Assessment) กิจกรรมพี่สอนน้อง (Student Teach) เป็นพี่เลี้ยงให้การอบรมเยาวชนหรือห้องสมุดของเล่นฯ เป็นผู้ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับเยาวชนในโรงเรียน เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ ทำความสะอาดหมู่บ้าน โรงเรียนหรือสถานีอนามัย ร่วมทำธุรกิจกับเยาวชนและชาวบ้าน (เช่น ผู้ด้อยโอกาส) ร่วมในการติดตามประเมินผล เชิญชวนทุกภาคส่วนของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ (วัด ร.พ. สต.) เป็นต้น


                นาย เกรียงศักดิ์ วรรณพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิมงคล จังหวัดชัยนาทนำคณะครูและตัวแทนชุมชนเข้าอบรมทักษะอาชีพเกษตรเพื่อนำไปขยายผลในโรงเรียนที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา”




                “นายอนันต์ เอมสีแดง สมาชิกสภาเทศบาลตำบล ตัวแทนชุมชนโรงเรียนวัดโพธิ์มงคล จังหวัดชัยนาท เข้าร่วมอบรมปฏิบัติการที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา”



                                     "จากนาครสู่วนาครูนักพัฒนาไขยวัตร งามจิตรนำเพื่อนครูและนักเรียนศึกษา
โรงเรียนเครือข่าย School- BIRD" 

                สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนมีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาชนบทเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนจะต้องเน้น โครงการพัฒนาแบบองค์รวมในระดับหมู่บ้าน เพื่อขจัดปัญหาความยากจนที่เป็นต้นเหตุของปัญหา หนทางเดียวที่จะขจัดความยากจนได้คือ การทำธุรกิจ ด้วยการแนะนำให้ชาวบ้านประกอบอาชีพแบบนักธุรกิจ เพื่อเปลี่ยนจากความช่วยเหลือหรือแบบสงเคราะห์ ไปสู่การส่งเสริมให้ชาวบ้านมีทักษะในการทำธุรกิจ โดยใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ใช้หลักการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของโครงการ เริ่มตั้งแต่ ระดับความร่วมมือจากชาวบ้าน การวางแผนดำเนินโครงการ ไปจนถึงการติดตามและประเมินผล

            
                                           "ศาลาหลังนี้เป็นที่ปราชญ์ชาวบ้านมาปุจฉาวิสัชนา"


                โรงเรียนกับชุมชนจึงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิต ศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน เป็น  SC-BIRD (School and Community Based Integrated Rural Development)

                 จึงไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองสถาบันจะต้องแปลกแยกออกจากกัน