วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือความยากจน



                                                                                                                                      สุริยา เผือกพันธ์ :  เขียน

                ใคร ๆ ก็รังเกียจความยากจน !!!!!
              ความยากจนน่าสนใจตรงไหน ????

              
               ป้ายโฆษณา 3 จีถูกแปะติดไว้บนเสาไฟฟ้าที่ยืนเรียงต้นเป็นระยะ ๆ แนบชิดกับถนนคอนกรีตที่มีพื้นผิวเรี่ยลาดด้วยมูลโคกระบือกระจัดกระจายไปตลอดเส้นทาง ทั้งสัญญาณ 3 จีและถนนคอนกรีตต่างมุ่งตรงไปยังหมู่บ้าน แล้วแตกตัวเป็นแขนงชอนไชเข้าสู่ครัวเรือน ฝูงโคกระบือถูกต้อนจากไร่นา ปลดแอกคันไถ ละทิ้งการหว่านดำ แล้วเดินดุ่มไต่ราวไม้ขึ้นไปกักขังตัวเองไว้บนท้ายรถกระบะมุ่งหน้าเข้าสู่เมือง.......... นี่คือวิถีหมู่บ้านในวันนี้

                ในปี พ.ศ. 2554 ยังมีคนจนถึงประมาณ 8.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 3.4 ล้านคนอยู่ในภาคอีสานและหากนับรวมกลุ่มคนใกล้จนก็จะมีมากกว่านี้ ความยากจนทำให้เห็นความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นในสังคมไทย


                                                  "ฝูงโคกระบือถูกต้อนจากไร่นาไปสู่เมือง"

                การแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันในเมืองไทยที่มีสูงในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะประเทศอื่นที่เคยมีปัญหาเหมือนเราหรือยิ่งกว่าเราก็ยังแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ด้วยการช่วยให้ชาวบ้านมีทักษะวิชาชีพและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่น

ในปากีสถานมูฮัมหมัด ฮัดสัน (Muhammad Hassan) วัย 29 ปี สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากจน ด้วยการให้ความรู้และการให้บริการแหล่งเงินทุนขนาดเล็ก หลังจากร่วมกับธนาคาร Khushhali จำกัด ในเดือนมิถุนายน 2004 ได้เป็นเจ้าหน้าที่ให้บริการลูกค้า ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งเงินทุนขนาดเล็กของธนาคาร ตามยุทธศาสตร์การลดความยากจนของปากีสถาน ในปี 2000

ความแตกต่างของแหล่งเงินทุนขนาดเล็กเกิดจากความต้องการที่แตกต่างกัน” เขาพูดอย่างมั่นใจ เมื่อย้อนถึงปู่ของเขาที่เป็นชาวนานยากจนเขากล่าวว่า “ผมสามารถช่วยเหลือปู่ของผมด้วยแหล่งเงินทุนนี้ได้ ถ้าเดี๋ยวนี้เขายังมีชีวิตอยู่ ผมต้องการช่วยเหลือชาวนาเล็ก ๆ คนค้าขาย ให้ทักษะกับคนที่ยังไม่มีธุรกิจ ผมเต็มใจที่จะทำงานเพื่อครอบครัวของพวกเขา”
จากการช่วยเหลือของ MFToT (Microfinance Training of Trainers) ฮุดสันได้ทำความฝันของประชาชนให้เป็นจริงและมีชีวิตที่ดีขึ้น “ผมต้องการทำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ผมสามารถที่จะให้ความรู้เหล่านี้ ผมต้องการให้ความรู้ไปทำให้ความยากจนลดลง แหล่งเงินทุนขนาดเล็กได้เปลี่ยนแปลงชีวิตคน มีคนจนเป็นล้านคนในปากีสถานและคนนับล้านมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินเพียงวันละหนึ่งดอลล่าร์ แหล่งเงินทุนขนาดเล็กได้ส่งผลสะเทือนที่ยิ่งใหญ่ต่อมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ผมพยายามให้บริการเป็นพิเศษเพื่อคนที่จนมาก ๆ โดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทน


          "Muhammad Hassan"  (ภาพจาก http://www.jointokyo.org/en/news/category/C198/P12)


ในมองโกเลีย ที่บ้านของเจงจิส ข่าน (Genghis Khan) แถบทะเลทรายโกบี แถบภูเขาและที่ราบ แหล่งเงินทุนขนาดเล็กมีความหมายที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะสำหรับเนอกุย สนาแดกแจพ (Nergui Snadagjav) ที่ได้เห็นความจริงว่า ประเทศที่มีประชากรมากหนึ่งในห้าของโลกมีรายได้ต่อวันเพียง 1.25 เหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน เธอได้แสดงบทบาทที่ขยันขันแข็งที่จะทำให้ชาวมองโกเลียได้ทำความฝันของพวกเขาเป็นจริง

เธอเริ่มอาชีพของเธอด้วยการทำงานเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนขนาดเล็กที่เป็นงานพิเศษ ตามโครงการลดความยากจนแห่งชาติมองโกเลีย โดยได้เงินทุนสนับสนุนจากธนาคารโลกในปี 1996 ตั้งแต่นั้นมา เธอได้ทำงานพัฒนาในพื้นที่ตามนโยบายการให้สินเชื่อและให้การอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐจากส่วนกลางและตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ที่ปฏิบัติตามนโยบายบริการแหล่งเงินทุนขนาดเล็ก จากโครงการนี้เธอได้ลงทะเบียนเรียนในหลักสูตร MFToT ในปี 2005
                “ฉันดีใจมากที่ได้เรียนในหลักสูตรนี้ มันเป็นความคาดหวังของฉันและเป็นประสบการณ์ครั้งแรกในการเรียนหลักสูตรออนไลน์” สำหรับเธอผลลัพธ์มีค่ามหาศาลมาก มันได้ขยายเครือข่ายในวิชาชีพไปทั่วโลกและเป็นการเพิ่มโอกาสในการเริ่มต้นร่วมงานกับแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เธอพูดว่า MFToT ได้เพิ่มพูนความรู้ให้เธอด้วยการเรียนรู้ทางไกลและการสอนแบบผสมผสาน

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2009 เธอได้ร่วมงานกับเพื่อนบางคนก่อตั้ง NGO ขึ้นมาเรียกว่า TERI (Training, Evaluation, Research Institute)
 “เราต้องการพัฒนาคุณภาพการอบรม การประเมินผลและการวิจัยเกี่ยวกับการลดความยากจนให้สูงขึ้นและยั่งยืน” เธอกล่าว “เราต้องการขยายความเข้าใจให้ลึกมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสาเหตุของความยากจนและความไม่เพียงพอและยุทธวิธีการให้ความรู้นี้จะทำให้เกิดความสำเร็จได้”

ทีมงานของเธอได้จัดทำสื่อและอุปกรณ์การอบรมหลักสูตร MFToT ในพื้นที่ของมองโกเลีย พวกเธอเพิ่งเสร็จจากการบันทึกเสียงลงใน CD-ROM เรียกว่า MFToT6. ซึ่งจะใช้ในการอบรมครั้งหน้า ชุดการเรียนที่เสร็จแต่ละครั้ง พวกเธอจะบรรจุลงเป็นหลักสูตรวิชาเลือก (Elective Course) ในมหาวิทยาลัยมองโกเลีย
   “ฉันหวังว่า จะทำให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นโดยใช้ภาษาท้องถิ่น ทั้งผู้ใช้เงินทุนและนักเรียนที่เรียนและทำให้พวกเขาสามารถใช้สื่ออุปกรณ์ด้วยภาษาของพวกเขาเอง”


               "Nergui Snadagiav " (ภาพจาก Tokyo Development Learning Center

สำหรับในเมืองไทยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) ได้กำหนดวิธีการลดความยากจน (Eradication of Poverty) ไว้ด้วยเงื่อนไข 2 ประการคือ การฝึกทักษะวิชาชีพและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดเล็กในหมู่บ้าน โดยมีองค์ประกอบสนับสนุน 3 ประการคือ การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาที่เรียกว่า School – Based Integrated Rural Development (S-BIRD) กิจกรรมทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้โครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้านหรือ Village Development Partnership (VDP


           "ทีม Micro finance Training of Trainers ของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน"


 หมู่บ้านในวันนี้....บางครัวเรือนอยู่ระหว่างรอการเก็บเกี่ยว  มีแม่บ้านและผู้เฒ่ากำลังสร้างงาน
มันบ่มีตลาดครูเอ้ย เฮ็ดไปงั้นแหละ” ชาวบ้านคนหนึ่งรำพึงระหว่างนั่งกรอเส้นใหม
“ทอผ้าก็ไม่ได้ไปขายที่ไหน เอาไว้ใช้เอง ถ้ามีคนอยากได้ก็ขายเหมือนกัน” อีกคนกล่าวเสริม
             “บ่ได้ขายทุกวัน อันละร้อยห้าสิบ พอได้ซื้อยากิน” พ่อใหญ่คนหนึ่งพูด ขณะที่ก้มหน้าสานกระแตง



          "ทีมครูและนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาเข้าหมู่บ้านศึกษาเรียนรู้ชุมชน"

                “ปัญหาในเมืองไทยขณะนี้คือ เรามีสินค้าและบริการสาธารณะไม่เพียงพอ เช่น โรงเรียนคุณภาพดี ถนนดี โรงพยาบาลดี ฯลฯ เป็นต้น การศึกษาเป็นบริการสาธารณะ เยาวชนไทยจำนวนมากไม่มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพของตน เพื่อที่จะมีอาชีพที่ให้รายได้ดี เพราะขาดการศึกษาหรือได้รับการศึกษาที่ด้อยคุณภาพในขณะเดียวกันประชาชนระดับล่างขาดความสามารถและโอกาสทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาและทักษะความชำนาญที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมข่าวสาร”

                ถ้อยความสรุปข้างต้นได้จากงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อการชำแหละความมั่งคั่ง ตีแผ่โครงสร้างอำนาจ สู้วิถีการปฏิรูปสู่สังคมไทยเสมอหน้าของผาสุก พงษ์ไพจิตร(2557)  ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                การเข้าใจความยากจนเพียงระดับความรู้สึกไม่เพียงพอ แต่ต้องเรียนรู้ให้ลึกไปถึงระดับเหตุผล ภาวการณ์ขาดแคลนทักษะแรงงาน ได้กลายเป็นปัญหาในประเทศไทย การเสริมทักษะการทำงานและสร้างนวัตกรรม จะช่วยเพิ่มรายได้และลดความยากจนได้

                สำหรับโรงเรียนแล้ว ความยากจนจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุดของนักเรียน


               

                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น