วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การศึกษาแบบไล่หมาให้แน !!!!


                                                                                                    
                                                                                                                   สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน

ไล่หมาให้แน !!!!!

เสียงประกาศตามสายจากวิไล สุดสายเนตรผู้ใหญ่บ้านยางหมู่ 2 ดังก้องไปทั้งหมู่บ้าน
หลังการแนะนำตัวและแจ้งวัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่จากนักเรียนและครูโรงเรียนมีชัยพัฒนา จำนวน 23 คนในเช้าวันที่ 25 สิงหาคม 2558 สิ้นสุดลง

“มื้อนี้ คณะนักเรียนโรงเรียนมีชัยจะมาศึกษาหมู่บ้าน เก็บข้อมูลในหมู่บ้านของเรา จึงขอแจ้งให้พี่น้องทั้งหลายทราบ เห็นนักเรียนเดินไปทางไหนก็ไล่หมาให้แน (ให้ด้วย)”




“ผู้ใหญ่วิไล สุดสายเนตร กำลังพูดคุยและแนะนำแหล่งข้อมูลในหมู่บ้าน”


ผู้ใหญ่วิไล สุดสายเนตรให้การต้อนรับคณะนักเรียนและครูโรงเรียนมีชัยพัฒนาที่เรียนในรายวิชานักพัฒนาสังคมด้วยท่าทางกระตือรือร้น การศึกษาชุมชนเป็นกิจกรรมหนึ่งของรายวิชาดังกล่าว และในวันนี้ยึดเอาบ้านยางหมู่ที่ 2 ตำบลบ้านยาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้

แนวคิดในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแนวทางนี้ เรียกว่าเป็นการสอนเพื่อการปฏิรูปสังคม (Social Reform) คือ การมองหาสังคมที่ดีกว่า (Seeking a Better Society) เป็นแนวคิดของแดน แพร็ตต์ (Dan Pratt, 1998) ที่ได้ศึกษาการสอนของครูที่สอนผู้ใหญ่จำนวน 253 คนใน 5 ประเทศ พบว่า มีการใช้วิธีการสอนต่าง ๆ กัน เพื่อให้ได้คุณภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งสรุปได้ 5 แนวทางกล่าวคือ การถ่ายทอดจะได้ผลดีเมื่อต้องการเน้นเนื้อหาสาระ (Effective Delivery of Content) วิธีนี้เรียกอีกอย่างว่า Objectivist approach การฝึกงานเป็นการสอนเพื่อต้องการให้คนทำเป็น (Modeling ways of Being) เรียนรู้ด้วยการกระทำภายใต้คำแนะนำของผู้รู้ การสอนคนให้พัฒนาตน (Cultivating ways of Thinking) ใช้การสอนแบบสรรค์สร้างนิยม การสร้างตนด้วยตนเอง (Facilitating Self –  Efficacy) ใช้การเรียนรู้ในโลกออนไลน์และการมองหาสังคมที่ดีกว่าใช้การสอนเพื่อการปฏิรูปสังคม




                     “คณะครูโรงเรียนมีชัยพัฒนาในฐานะครูนักปฏิรูปสังคม”

บรรดาครูทั้งหลายที่สอนโดยใช้แนวคิดปฏิรูปสังคมเพื่อสังคมที่ดีกว่า เชื่อว่าที่สุดแล้วการสอนของพวกเขาจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมเป็นคำตอบสุดท้าย  สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนเชื่อว่า การใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาชนบท (S-BIRD) แล้วสร้างหลักสูตรเพื่อใช้เรียนใช้สอนให้มีลักษณะเฉพาะผ่านรายวิชาธุรกิจเพื่อสังคมและรายวิชานักพัฒนาสังคม อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ผลลัพธ์สุดท้ายจะทำให้ความยากจนของคนในชนบทลดลงได้ เอกลักษณ์การสอนของครูเหล่านี้นำไปสู่การสร้างมุมมองและประโยชน์ที่มองเห็นได้ในระยะยาว ในขณะเดียวกัน อาจนำไปสู่การสร้างวิสัยทัศน์ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย
ครูที่เป็นนักปฏิรูปสังคมไม่ได้สอนให้ผู้เรียนเห็นวิธีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพียงมิติเดียว แต่จะทำให้ผู้เรียนมองเห็นวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งโดยทั่วไปปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมดขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่สังคมนั้น ๆ ต้องการเป็นการเฉพาะ และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้พวกเขาได้กระทำการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ดีกว่า
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ถ้าถือเอาความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้ (Epistemology) มาพิจารณาเพื่อให้เห็นทฤษฎีการสอนแล้ว การเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ไม่ได้เริมต้นจากทฤษฎี กลับเป็นการลงไปแสวงหาวิธีการด้วยตนเองของผู้เรียน เพราะครูนักปฏิรูปสังคมจะรู้เองว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในสถานการณ์ที่เป็นจริงนั้น



 “นักเรียนนำข้อค้นพบจากการลงพื้นที่มาแลกเปลี่ยนกันเพื่อสร้างองค์ความรู้แบบแฝงภายในตน (Tacit Knowledge)

โรงเรียนมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในรายวิชาธุรกิจเพื่อสังคมและรายวิชานักพัฒนาสังคม โดยหวังว่าจะเป็นพื้นฐานในการเป็นผู้ประกอบการสังคมในอนาคตด้วยการฝึกทักษะการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม การประกอบสัมมาชีพ การสร้างรายได้ที่เกื้อกูลต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและโลก นอกจากนี้ ยังเรียนรู้การสร้างสรรค์และการพัฒนาสังคมด้วย

การลงพื้นที่ศึกษาชุมชนเป็นการเรียนรู้ผ่านศิลปะและประสบการณ์ตรง (Artistic and Experiential Learning) คือ การเรียนรู้ที่ผู้เรียนนำตนเองเข้าสู่การลงมือสร้างสรรค์งานเชิงศิลปะหรือการปฏิบัติกิจต่าง ๆ ในสถานการณ์จริง พร้อมทั้งสามารถสะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านใหม่ ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ วิธีคิดและการมองโลกในแง่มุมที่แตกต่างไปจากเดิม วิธีการเรียนรู้เช่นนี้ จะเอื้อให้ผู้เรียนตระหนักต่อความรู้ที่แฝงอยู่ภายในตน (Tacit Knowledge) และสามารถระบุ นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อโจทย์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม (สถาบันอาศรมศิลป์ : 2555)

“เฮ็ดพอได้ซื้อยากิน...เฮ็ดอย่างอื่นไม่มีแรงแล้ว ได้นั่งทำอันนี้ (สานกระแตง) ก็พอทำได้อยู่” พ่อใหญ่โฮม ตาชูชาติ วัย 80 บอกเหตุผลในสิ่งที่พ่อใหญ่ทำอยู่
“สองสามมื้อจะได้อันหนึ่ง ราคาร้อยห้าสิบ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครทำแล้ว พ่อทำมาตั้งแต่อยู่ชั้น ป. 4” พ่อใหญ่เล่าความหลัง
เค้าไปหาที่ตลาดกันหมด” พ่อใหญ่สรุป




                      “พ่อใหญ่โฮม ตาชูชาติ วัย 80 ผู้สืบทอดมรดกของชุมชน”

“วันนี้ออกไปเก็บข้อมูลปัญหาของชุมชน ทำให้รู้ว่าส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง” ณัฐริกา งามนวล” นักเรียนชั้นม. 4 หนึ่งในหลายคนที่ออกมาเรียนรู้ชุมชน
“รู้สึกดีใจ ไม่เคยทำอย่างนี้มาก่อน เย็นนี้จะไปช่วยยายเลี้ยงหม่อนไหม และเมื่อเช้านี้ยังได้ช่วยทำความสะอาดวัดอีกด้วย” เธอกล่าวอย่างภาคภูมิใจ




                                          “ณัฐริกา งามนวล” นักเรียนชั้นม. 4

บางบทตอน ของข้อสรุปหลักสูตรสถาบันอาศรมศิลป์ระบุว่า ถ้าระบบการศึกษาสามารถสร้างคนให้เป็นผู้ประกอบการ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้คิด ริเริ่ม พัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาและทุนทางสังคมในท้องถิ่นหรือการพัฒนาระบบกสิกรรมธรรมชาติจากเรือกสวนไร่นา ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ หากผู้เรียนสามารถทำได้เช่นนี้ ย่อมมีค่ากว่าคะแนนในแต่ละรายวิชาและปริญญาบัตร ซึ่งสุดท้ายเมื่อจบการศึกษาแล้ว ไม่รู้จะเอาปริญญาบัตรไปทำอะไร แต่ถ้าพวกเขาสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง มีรายได้ มีความพออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้ นี้จะเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าใบปริญญาเป็นไหน ๆ

ไล่หมาให้แน !!!!!
เสียงประกาศตามสายจากวิไล สุดสายเนตรผู้ใหญ่บ้านยางหมู่ 2 ดังก้องไปทั้งหมู่บ้าน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น