วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แสงตะวันฉาบฉายที่โรงเรียนไม้ไผ่





                                                                                       สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน


เวลาช่วงหนึ่งสัปดาห์ ผ่านไปรวดเร็วราวกับงานพลิกหน้าหนังสือ
            เช้านี้.....เป็นวันกล่าวคำลา
            “ผมอยากมาที่นี่อีกครั้ง ผมอยากมาหาพี่การ์ตูน พี่เมล์และทุกคน ถ้าผมขึ้น ม. 1 ผมจะมาเรียนที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา” เฟส- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนชุมชนบ้านแป้น อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีกล่าว
            “หนูได้ความรู้มากมายเกี่ยวกับฟาร์มขจัดความยากจนและธุรกิจที่เป็นรายได้ในเวลาเรียน” นุช โดรนียานา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนศึกษาศาสตร์อิสลาม จังหวัดนราธิวาส กล่าวเป็นคนต่อมา
            ในทำนองเดียวกัน รูสมี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเดียวกันก็กล่าวว่า “มาที่นี่ทำให้หนูได้ความรู้มากมายและได้รู้จักการทำธุรกิจด้วยตนเอง”
             ......................................................................................
            หลังการกลับไปของสุรัยยา ดอเลาะและเพื่อนได้ไม่นาน ในฐานะหัวหน้าคณะสำรวจเส้นทางจากแดนใต้สู่อีสาน ของสำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คณะครูและนักเรียนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มาถึง โรงเรียนมีชัยพัฒนา
 เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการวิสาหกิจโรงเรียนและการมีส่วนร่วมของโรงเรียนต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน



“สุรัยยา ดอเลาะผู้ประสานงานสำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี”

            ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ดำเนินการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามนัยของพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.. ๒๕๕๓ ในมาตรา ๙ (๑๐) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ โดยมีกลุ่มเยาวชน เป็นเป้าหมายสำคัญในการปฏิบัติงาน เนื่องจากเยาวชนมีบทบาทและพลังในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา การพัฒนาและการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะแกนนำเยาวชนที่มีศักยภาพที่เป็นแกนกลางการประสาน นำไปสู่การรวมตัวกันของเยาวชนในพื้นที่เพื่อสร้างพลังงานการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต



“ เฟส- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนชุมชนบ้านแป้น อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี”

                นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนเด็กและเยาวชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยและการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ดีกว่า ได้หารือร่วมกับเลขาธิการ ศอ.บต. แม่ทัพภาคที่ ๔ และผู้บริหารส่วนราชการที่เกี่ยวข้องภายในห้องรับรองของ กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้า โดยที่ประชุมเห็นชอบที่จะมีการนำเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ร่วมกับคณะครูและผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายอื่นที่มีศักยภาพและสามารถต่อยอดองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การรวมกลุ่มวิสาหกิจสถานศึกษาและวิสาหกิจชุมชนตลอดจนการส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศไทย



“นุช โดรนียานา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนศึกษาศาสตร์อิสลาม จังหวัดนราธิวาส

                นายมีชัยฯ เสนอความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ ศอ.บต. ในลักษณะโครงการนำร่อง (Pilot Project) ที่ต้องการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความพร้อมสู่การเป็น โรงเรียนเพื่อการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม ตามแบบของโรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือโรงเรียนไม้ไผ่ ที่มีความสำเร็จและเป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมด้านการปฏิรูปไทยและสังคมในอนาคต มุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว (ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม)  รวมทั้ง การปลูกฝังการเป็นพลเมืองที่ดีและการฝึกทำธุรกิจบนหลักของความเสมอภาค ยุติธรรม เคารพธรรมชาติและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก เพื่อนำแบบอย่างการจัดการเรียนการสอน ไปประยุกต์ในโรงเรียนของตนเองต่อไป


                                           “เรียนรู้การสาธิตการประกอบรางไฮโดรโปนิคส์”

                สำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี (สปส.)ซึ่งเป็นส่วนงานภายใน ศอ.บต. มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการประสานงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนมีส่วนรร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาคุณภาพของประชาชนให้สอดคล้องต่อวิถีชีวิต พหุวัฒนธรรม ความจำเป็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างพื้นที่ บรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเปิดพื้นที่เพื่อการพูดคุยและแสดงความคิดเห็น เพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี และร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ความเจริญ พิจารณาเห็นว่า การสร้างโอกาสให้กับสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงเด็กและเยาวชน บุคลากรสถานศึกษาและผู้นำกลุ่มต่างๆที่มีศักยภาพในการร่วมเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปจังหวัดชายแดนภาคใต้ การปฏิรูปประเทศไทยและสังคมในอนาคต จึงเห็นควรดำเนินการจัด โครงการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการวิสาหกิจโรงเรียนและการมีส่วนร่วมของโรงเรียนต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จังหวัดบุรีรัมย์ 


                                          “การศึกษาดูงานในโรงเรียนโครงการ School-BIRD
           
                โดยมีโรงเรียนมีชัยพัฒนา เป็นโรงเรียนตัวอย่างเพื่อการเรียนรู้ ประกอบด้วย
                การฝึกปฏิบัติด้านการเกษตรของโรงเรียน “ฟาร์มขจัดความยากจน” 5 ฐานได้แก่ 1) เพาะกล้าผัก 2) ผักไร้ดิน: ไฮโดรโปนิกส์และแซนโดรโปนิกส์ 3) มะนาวนอกฤดูกาล 4) ไก่ไข่ 5) เห็ดนางฟ้า 6) สาธิตการประกอบรางไฮโดรโปนิคส์
                นอกจากนี้ยังศึกษารูปแบบการบริหารโรงเรียนโดยมีนักเรียนเป็นส่วนร่วม การทำธุรกิจของนักเรียน การเรียนรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม ระหว่างนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาและคณะศึกษาดูงานจากภาคใต้
                กิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด ดำเนินการโดยนักเรียน
                ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ เป็นการเยี่ยมชมและศึกษาดูงานโครงการ School – BIRD และโครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน (VDP) ในจังหวัดบุรีรัมย์


               


                “วา นักศึกษาวิทยาลัยชุมชน ปี 1 จังหวัดยะลา”

เวลาช่วงอีกหนึ่งสัปดาห์ ผ่านไปรวดเร็วราวกับงานพลิกหน้าหนังสือ
            เช้านี้.....เป็นวันกล่าวคำลาอีกครั้ง
                 “อยู่มีชัย กินดีอยู่ดี ฮักหลาย ตั้งแต่ได้มาอยู่ในโรงเรียนรู้สึกมีความสุขมาก จนผมไม่อยากกลับเลย” เป็นความรู้สึกของวา นักศึกษาวิทยาลัยชุมชน ปี 1 จังหวัดยะลา เขียนไว้บนแผ่นกระดาษรูปหัวใจสีชมพูฝากไว้แทนใจก่อนจาก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น