วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สิทธิและเสรีภาพในโรงเรียน


                                                                     สุริยา เผือกพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา

“ความช่วยเหลือที่มีผลอันยั่งยืนเพียงประการเดียวที่พ่อแม่จะให้แก่ลูกของตนได้นั่นคือ การช่วยให้เขารู้จักช่วยตนเองได้เท่านั้น” (นโปเลียน ฮิลล์)

คำสำคัญ (Key Words): สิทธิ (Right), เสรีภาพ (Liberty), สิทธิเด็ก (Rights of Child), สังคมอารยะ (Civic Society), ประชาธิปไตย (Democracy)

                ข่าวคราวเกี่ยวกับการแสดงออกถึงความต้องการของนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนของตนมีให้เห็นอยู่เสมอ ๆ แต่ละครั้งแต่ละแห่งสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการในระบบโรงเรียนที่มาจากสาเหตุแตกต่างกัน แต่โดยภาพรวมแล้วเป็น ผลกระทบจากระบบประกันคุณภาพด้านสิทธิและเสรีภาพเด็ก ตามหลักการพื้นฐานของสังคมอารยะ (Civil Society)
สิทธิเป็นประโยชน์หรืออำนาจของบุคคลที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองมิให้มีการละเมิด รวมทั้งบังคับการให้เป็นไปตามสิทธิในกรณีที่มีการละเมิดด้วย เช่น สิทธิในครอบครัว สิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในการเลือกอาชีพ ถิ่นที่อยู่ การเดินทาง สิทธิในทรัพย์สิน เป็นต้น
ส่วนเสรีภาพเป็นอำนาจตัดสินใจด้วยตนเองของมนุษย์ที่จะเลือกดำเนินพฤติกรรมของตนเอง โดยไม่มีบุคคลอื่นใดอ้างหรือใช้อำนาจแทรกแซงเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจนั้น และเป็นการตัดสินใจด้วยตนเองที่จะกระทำหรือไม่กระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่การที่ มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแล้วแต่ละคนจะตัดสินใจกระทำการหรือไม่กระทำการสิ่งใดนอกเหนือ นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ย่อมต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสังคม ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรม
สิทธิและเสรีภาพ จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการบ่งชี้ว่า สังคมหรือบ้านเมืองใด มีความสงบสุขมีสันติ มีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

                             
                  "คณะกรรมการต้อนรับผู้เยี่ยมชมโรงเรียน"
วันที่ 20 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2532 องค์การสหประชาชาติประกาศใช้กฎหมายระหว่างประเทศในรูปแบบอนุสัญญาฉบับหนึ่งเรียกว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) เป็น  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมุ่งเน้นให้เป็นข้อตกลงสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิที่มีความเท่าเทียมกันคือ ถือว่าเด็กเป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งมีสิทธิและต้องปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา หรืออื่นใดก็ตาม โดยรัฐภาคีที่เข้าร่วมลงนามต้องให้การยอมรับและคุ้มครองสิทธินี้แก่เด็กทุกคน ในปัจจุบันอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กมีประเทศที่เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีที่ยอมรับหลักการและเข้าร่วมถึง 195 ประเทศ ประเทศไทยเราได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญานี้ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 และมีผลบังคับใช้ในอีกสามเดือนต่อมา อนุสัญญาฉบับนี้ระบุรายละเอียดของสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ไว้ว่าทุกประเทศต้องรับประกันเด็กในประเทศของตน ในเรื่องสิทธิเด็กที่มีเนื้อหาสาระที่สำคัญอยู่ 4 ประการคือ
ประการที่ 1 สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) ประกอบด้วย การได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพ และความปลอดภัยเป็นสิทธิในการมีชีวิตรอด ได้รับโภชนาการที่ดี ได้รับความรักเอาใจใส่จากครอบครัวและสังคม ได้รับการบริการด้านสุขภาพ การให้ทักษะชีวิตที่ถูกต้อง การให้ที่อยู่อาศัยและการเลี้ยงดู
ประการที่ 2 สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development) ประกอบด้วย การมีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม การได้รับการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เข้าถึงข่าวสารที่เหมาะสม เสรีภาพในความคิด มโนธรรมและศาสนา พัฒนาบุคลิกภาพทั้งทางสังคมและจิตใจ พัฒนาสุขภาพร่างกาย
ประการที่ 3 สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection) ประกอบด้วย การให้รอดพ้นจากการทำร้าย การถูกล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้ง และการแสวงประโยชน์ในทุกรูปแบบ การคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด การทำร้าย การกลั่นแกล้งรังแก การถูกทอดทิ้งละเลย การลักพาตัว การใช้แรงงานเด็ก ความยุติธรรมต่อผู้เยาว์ การเอารัดเอาเปรียบทางเพศ
ประการที่ 4 สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม (Right of Participation) ประกอบด้วย การแสดงความคิดเห็น แสดงออก การมีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง เสรีภาพในการติดต่อข่าวสารข้อมูล การมีบทบาทในชุมชน


                                           "คณะดนตรี กีฬาและศาสนา"

โรงเรียนมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการในเรื่องระบบประกันคุณภาพด้านสิทธิและเสรีภาพเด็กในโรงเรียนด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยและความเป็นผู้นำในโรงเรียน ซึ่งสนับสนุนให้นักเรียนได้มีกิจกรรมการเรียนรู้ตามกระบวนการประชาธิปไตยด้วยการปฏิบัติจริงในรูปแบบการเลือกตั้งผู้แทนนักเรียน ให้สิทธิและหน้าที่เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปของคณะกรรมการ โดยเริ่มจากการเลือกตั้งคณะหัวหน้าโรงเรียน (School Captains and Senior Prefects) หัวหน้านักเรียน ม.6 (Prefects) รองหัวหน้านักเรียน ม.6 (Sub-Prefects) ผู้ช่วยหัวหน้านักเรียน ม.5 (Assistant Prefects) นักเรียนจะมีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนโดยผ่านคณะกรรมการต่าง ๆ 26 คณะดังนี้
1) คณะกรรมการจัดซื้อ 2) คณะกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อ 3) คณะกรรมการวิชาการ 4) คณะกรรมการพลังงานทดแทนสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ 5) คณะกรรมการผู้ปกครองสัมพันธ์และเยี่ยมบ้าน6) คณะกรรมการประสานการทำความดีเพื่อสังคม 7) คณะดนตรี กีฬาและศาสนา 8) คณะกรรมการต้อนรับผู้เยี่ยมชมโรงเรียน จัดกิจกรรมพิเศษและดูแลความสะอาดโดมและห้องน้ำ 9) คณะระเบียบ วินัย ดูแลและพัฒนาพฤติกรรมของนักเรียนและชั่วโมงอิสระและการบ้าน 10) คณะการเกษตรมะนาว ผัก หน่อไม้ 11) คณะการเกษตรไก่ไข่ 12) คณะการเกษตรเห็ด ผักไร้ดิน 13) คณะดูแลโรงอาหาร ครัว สโมสรนักเรียนและห้องน้ำ 14) คณะดูแลหอพักนักเรียนหญิง (ม.1 – 2) และพื้นที่รอบบริเวณหอพักนักเรียนหญิงและคลอง 15) คณะดูแลหอพักนักเรียนหญิง (ม.3 – ม. 4) 16) คณะดูแลหอพักนักเรียนหญิง (ม.5 – ม. 6) 17) คณะดูแลพื้นที่รอบหอพักนักเรียนชายและพื้นที่ศูนย์พัฒนามีชัย 18) คณะดูแลพื้นที่บริเวณรอบห้องเรียน ม. 1- ม. 6 อาคารครู อาคารวิทยาศาสตร์และอาคาร IDEA Center 19) คณะดูแลความสะอาดพื้นที่รอบเสาธงหน้าโรงเรียน อาคาร สำนักงาน อาคารคอมพิวเตอร์ เส้นทางเดินติดรั้วและการมารับส่งนักเรียน 20) คณะดูแลสระว่ายน้ำ 21) คณะประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน 22) คณะดูแลและประสานการบำรุงซ่อมแซม 23) คณะดูแลความปลอดภัย 24) คณะการใช้ภาษาต่างประเทศ25) คณะดูแลสุขภาพและห้องพยาบาล 26) คณะเงินกู้และบัญชีเพื่อธุรกิจของนักเรียน เป็นต้น



โรงเรียนมีความเชื่อว่า สิทธิการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง ผ่านการแสดงความคิดเห็นและมีผู้รับฟัง ร่วมลงมือปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบ เป็นประตูบานแรกที่เปิดไปสู่การมีหลักประกันคุณภาพในเรื่อง สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาและสิทธิที่จะมีชีวิตรอดตามหลักการสิทธิเด็กขั้นพื้นฐานแห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอันเป็นกฎหมายสากล
ทั้งนี้ด้วยความเคารพและปฏิบัติตามหลักกฎหมาย กฎเกณฑ์ของสังคม ระเบียบข้อบังคับของสถาบัน ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมโดยรวม





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น