วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ดอกไม้ที่กำลังบาน




                                                                                สุริยา เผือกพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา


"โรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นส่วนผสมระหว่างสมาคม ฯ กับบริษัทพัฒนาประชากรจำกัด มูลนิธิมีชัยพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมฯ ที่ริเริ่มทำการทดลองศึกษาค้นคว้าแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ ๆ และเมื่อประสบความสำเร็จ สามารถนำไปดำเนินการและขยายผลต่อไปได้ "


นอกจากคำสำคัญ (Key words) ต่าง ๆ ที่ปรากฏให้ได้เห็นเพื่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงแนวคิดปรัชญาการบริหารจัดการโรงเรียนแล้ว รูปแบบการเรียนรู้ (Learning Module) ของนักเรียนรวมทั้งวิธีการทำงานของครูในโรงเรียนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ได้รับรู้และเข้าใจถึงการเรียนรู้แนวใหม่ (New Learning)
ทุก ๆ สัปดาห์ในรอบหนึ่งเดือนจะมีคณะศึกษาดูงานเข้ามาเยี่ยมโรงเรียนไม่มากก็น้อย กลุ่มคนเหล่านั้นเดินทางมาจากที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น สิ่งแรกที่ได้เห็นความแตกต่างจากโรงเรียนทั่ว ๆไปคือ ห้องเรียนแบบเดิมที่จำกัดด้วยกำแพงสี่ด้านและการถูกกักขังด้วยตารางเวลา (Bounded by four walls of the classroom and cells of the timetable) ได้กลายมาเป็นการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดพื้นที่และเวลาที่ตายตัว รวมทั้งการเรียนรู้มีอยู่ทั่วไปด้วย (Ubiquitous Learning)
ครูและนักเรียนต้องร่วมกันวางแผนให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลตามวัตถุประสงค์ของคณะที่มาศึกษาดูงานที่มีจำนวนตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อย การแสวงหาความรู้ตลอดจนวิธีการนำเสนอของนักเรียนเป็นการเรียนรู้แนวใหม่ (New Learning) ที่นักเรียนเผชิญในแต่ละสถานการณ์ ด้วยการเรียนรู้แบบเป็นฝ่ายรุก (Active Knowledge Making) ที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้และออกแบบวิธีการในการนำเสนอองค์ความรู้นั้น ๆ ต่างจากการเรียนรู้แบบเดิมที่นักเรียนเป็นฝ่ายรับ (Passive Knowledge Consumption) ที่ผู้เรียนเป็นผู้บริโภคความรู้ ดูดซับและทำซ้ำ ๆ ตามตำราอย่างเดียว


ดังนั้น ห้องเรียนแบบเดิมที่ถูกจำกัดจึงแปรสภาพมาเป็นห้องเรียนที่อยู่ในสถานการณ์จริง (Real World Experience) ที่ทุกคนได้เรียนรู้บนพื้นฐานของความสนใจและความรับผิดชอบในภาระหน้าที่ที่ตนมีในวันนั้น ๆ (Differentiated Learning) ได้มีความสัมพันธ์กับกลุ่ม (Collaboration Intelligence) ไม่เป็นระบบตัวคนเดียว (Individualized) ผู้เรียนได้เรียนรู้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ตนเองเผชิญในสนามการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนแบบเดิมที่ทุกคนต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบเดียวกัน (Homogenizing) ด้วยวิธีการสอนแบบเดียวเพื่อคนทุกคน (One size fits all) ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าและปีแล้วปีเล่า
ไม่เพียงแต่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น แหล่งเรียนรู้อื่น ๆ นอกโรงเรียนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่นักเรียนออกไปแสวงหาอยู่เสมอ
“พวกเราได้รับประสบการณ์ที่น่าอัศจรรย์มากในโรงเรียนที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ในบรรยากาศที่ให้การต้อนรับทุก ๆ คน ในที่ที่ทุกคนรู้สึกว่าได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในช่วงระยะเวลาอันสั้นได้รับความช่วยเหลือและพูดคุยกันด้วยความเข้าใจกับคณะครูและนักเรียน รู้สึกประทับใจที่เห็นการเรียนการสอนที่ฝึกความเป็นผู้นำให้กับนักเรียน รูปแบบการสอนที่จัดขึ้นในโรงเรียนมีชัยพัฒนา ช่วยพัฒนานักเรียนให้มีทักษะภาวะผู้นำและการสื่อสาร” คณะนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Nottingham University ประเทศมาเลเซียกล่าวชื่นชม


“ในนามของประชาชนและคณะคณะครู นักเรียน ผู้บริหารของเทศบาลตำบลเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ต้องขอขอบคุณมูลนิธิมีชัยฯ ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการอบรมและศึกษาดูงาน ณ ศูนย์แห่งนี้และมูลนิธิมีชัยฯ ยังให้การสนับสนุนในเรื่องของความรู้และประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ ตลอดจนในเรื่องของงบประมาณที่จะช่วยเหลือชุมชนในชนบท” นายกเทศมนตรีตำบลเจ้าพระยากล่าวแทนคณะ
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า การจัดการเรียนรู้แนวใหม่ท่ามกลางการจัดการศึกษากระแสหลักที่มุ่งส่งเสริมการแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน จะทำให้นักเรียนมีโอกาสเข้าไปยืนอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในกระแสสังคมเช่นคนทั่ว ๆ ไปหรือไม่
โรงเรียนมีชัยพัฒนา เปิดทำการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มาบัดนี้นักเรียนรุ่นแรกดังกล่าว ซึ่งมีจำนวน 25 คนจะจบหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา2557 นี้แล้ว ขณะนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2558) นักเรียนจำนวน 18 คน สามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าส่วนที่เหลืออีกไม่กี่คนจะมีที่ศึกษาต่อจนครบในโอกาสต่อไป


โรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นส่วนผสมระหว่างสมาคม ฯ กับบริษัทพัฒนาประชากรจำกัด มูลนิธิมีชัยพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมฯ ที่ริเริ่มทำการทดลองศึกษาค้นคว้าแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ ๆ และเมื่อประสบความสำเร็จ สามารถนำไปดำเนินการและขยายผลต่อไปได้ เชื่อว่าเราต้องผสมผสานการศึกษาและการพัฒนาไปด้วยกัน

การปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบนี้เป็นเสมือน “ดอกไม้ที่กำลังบาน”


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น