วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กระจกเงา (Mirror)




                                                                                สุริยา เผือกพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา

 “ถ้าระบบโรงเรียนตามแนวกระแสหลักโดยทั่วไป สอนให้นักเรียนมีความคิดแบบที่ว่า  ต้องการแต่จะชนะ 
แพ้ไม่ได้ไร้ค่า ไม่มีใครเหลียวแล ต้องการเป็นปลาใหญ่ในสังคม เห็นแก่ตัว แข็งกระด้าง ไม่มีน้ำใจให้ผู้อื่น มือใครยาวสาวได้สาวเอา เรายังจะเลือกทางแพร่งนี้หรือไม่”

                สิ่งที่ผมต้องทำในเบื้องต้นในโรงเรียนคือ การทำความเข้าใจตนเอง ด้วยการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตผู้คน ระบบการทำงานและข้อมูลเชิงประจักษ์ต่าง ๆ ตัวหนังสือในโรงเรียนคือ หลักฐานอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงความต้องการ แนวความคิด ลึกไปถึงปรัชญาในการดำเนินชีวิตของสังคมเล็ก ๆ แห่งนี้ว่า มีทิศทางไปทางใด  ผมเห็นคำสำคัญ (Key words) หลายคำ หนึ่งในนั้นที่โดดเด่นที่สุดคือ ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนและสังคม

     ในต้นสัปดาห์แรก ๆ หลังจากที่การเรียนการสอนประจำวันสิ้นสุดลง พวกเรานัดประชุมกันเพื่อมา
ทำความเข้าใจตนเอง สิ่งที่ผมนำเสนอให้ทุกคนได้พินิจร่วมกันคือ แนวคิดที่ผมสืบค้นมาจากอาจารย์    เกียรติวรรณ อมาตยกุล ที่กล่าวถึง การพัฒนาตนและสังคม ว่า โลกของเราเดินทางมาถึงทางสองแพร่ง แพร่งที่หนึ่งคือ ทางเดินที่เป็นกระแสหลักของโลก เออร์วิน ลาสซ์โล (Irvin Laszlo) ได้แบ่งระยะการพัฒนาการของโลกออกเป็นช่วง ๆ ดังนี้ 1) ช่วงริเริ่มที่จะนำไปสู่จุดวิกฤต (1800-1960) การปฏิวัติอุตสาหกรรม ควบคุมธรรมชาติ 2) ช่วงสะสม (1960-2004) สะสมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆมีผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ สังคมมีความสลับซับซ้อน 3) ช่วงหน้าต่างของการตัดสินใจ (2005-2012) สังคมวิกฤตอย่างหนักจากระบบทุนนิยม
     จุดวิกฤตจึงเริ่มตั้งแต่ปี  2012 เป็นต้นมา กล่าวคือ 1) ด้านเศรษฐกิจ กระจายทรัพยากรไม่เป็นธรรม
ช่องว่างคนจน-คนรวยมีมากขึ้น 2) ด้านสังคม ผู้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น เห็นแก่วัตถุมากขึ้น เงินและความร่ำรวยกลายเป็นเป้าหมายของชีวิต ครอบครัวล่มสลาย 3) ด้านระบบนิเวศ ระบบทุนนิยมใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง เผาผลาญเชื้อเพลิงมโหฬาร ทำลายคุณภาพดินด้วยปุ๋ย ใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง ภาวะโลกร้อน เกิดภัยธรรมชาติ

                คำถามที่พวกเราตั้งเป็นโจทย์คือ เราจะเดินหน้าต่อไปหรือหยุดเพื่อมองหาหนทางใหม่ บนความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ของทางสองแพร่ง




                ความเชื่อหนึ่งที่สนับสนุนการพัฒนาโลกตามแนวทางทุนนิยมอันเป็นกระแสหลักคือ  ความเชื่อพื้นฐานที่เชื่อว่า 1) ยกย่องคนที่เข้มแข็งกว่า มีอำนาจมากกว่า 2) ทรัพยากรของโลกใช้ไม่มีวันหมด 3) ส่งเสริมการผลิต การบริโภค การใช้จ่ายอย่างไม่จำกัด 4) เน้นการทำกำไร เอาเปรียบผู้อื่นสูงสุด 5) สรรพสิ่งในจักรวาลแยกส่วน
        อีกความเชื่อหนึ่งที่เป็นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมีความเชื่อพื้นฐานที่เชื่อว่า 1) ยกย่องความเท่า
เทียม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 2) ทรัพยากรมีจำกัดต้องใช้อย่างประหยัด 3) ลดการผลิต การบริโภค การใช้จ่ายของคนในสังคม 4) พึ่งตนเอง ช่วยผู้อื่น กำไรพอควร 5) สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์กัน การพัฒนาสังคม เริ่มจากตัวเราก่อน
                “เริ่มจากตัวเราก่อน”  คือ คำสำคัญที่พวกเราเห็นคล้อยว่า ตรงกับการปฏิรูปโรงเรียนของพวกเรามากที่สุด ที่กล่าวเป็นวลีว่า ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนและสังคม
        อาจารย์เกียรติวรรณ อมาตยกุลอธิบายว่า การพัฒนาตนเองที่เป็นการพัฒนาตามหลักปรัชญา Neo-
humanist เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนเราเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteem) อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ เมื่อคนเราเห็นคุณค่าในตนเองก็จะเห็นคุณค่าของผู้อื่น
                เมื่อคนแต่ละคนที่เห็นคุณค่าในตนเองมาร่วมกันเป็นกลุ่มสังคมก็จะเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ สำคัญที่ว่า พวกเราจะออกแบบสังคมในโรงเรียนของเราอย่างไรที่จะเอื้อต่อการพัฒนาตนเองของนักเรียน ครูและบุคลากรทั้งหมดให้มีความภาคภูมิใจในตนเอง
        ถ้าระบบโรงเรียนตามแนวกระแสหลักโดยทั่วไป สอนให้นักเรียนมีความคิดแบบที่ว่า  ต้องการแต่
จะชนะ แพ้ไม่ได้ไร้ค่า ไม่มีใครเหลียวแล ต้องการเป็นปลาใหญ่ในสังคม เห็นแก่ตัว แข็งกระด้าง ไม่มีน้ำใจให้ผู้อื่น มือใครยาวสาวได้สาวเอา เรายังจะเลือกทางแพร่งนี้หรือไม่
                จากการศึกษางานของอาจารย์เกียรติวรรณ อมาตยกุลทำให้ผมทราบมาว่า อาจารย์ตั้งโรงเรียนสอนนักเรียนตามแนวคิดปรัชญา Neo-humanist ชื่อว่า โรงเรียนอมาตยกุล จึงแสวงหาเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนนั้นว่า สังคมโรงเรียนของพวกเขามีความเป็นอยู่กันอย่างไร


                “5 ปีที่ทำงานที่โรงเรียนนี้มา ผมมีชีวิตที่มีความสุขและได้เห็นความแปลกแตกต่างของโรงเรียนแห่งนี้ว่ามีอะไรที่ไม่ธรรมดาหลายอย่าง ผมมีโอกาสได้อยู่เบื้องหลังและได้เห็นบรรยากาศการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ หลายครั้ง ทำงานที่นี่ผมมีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย เพราะมีเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยการวิ่งและเล่นวอลเล่ย์บอลกับคุณครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนในตอนเย็น ได้ทำโยคะ สมาธิที่โรงเรียนทุกวันอาทิตย์เวลา 9 โมงเช้าถึง 11 โมง เหมือนได้ชาร์ทพลังก่อนเริ่มงานในสัปดาห์ถัดไป คุณครูและเจ้าหน้าที่ทุกคนน่ารัก มีน้ำใจ มีคุณธรรมและเอาใจใส่เด็ก ๆ พูดเพราะกับเด็ก ๆ ผมมีชีวิตอย่างพอเพียงมีความสุข มีเงินเหลือเก็บ เพราะมีค่าใช้จ่ายน้อย อาหารเช้าและกลางวันทานที่โรงเรียน ชุดทำงานก็เป็นสวัสดิการที่โรงเรียนมีให้ ได้ไปเปิดหูเปิดตาในหลายประเทศ มีวันหยุดแบบเต็ม ๆ เพื่อเติมพลังให้ตัวเองปีละ 2 เดือนครึ่ง โดยที่ไม่ต้องมาโรงเรียนแต่ได้รับเงินเดือน แม้เงินเดือนพวกเราจะไม่มากมายเท่าบริษัทเอกชนแต่พวกเราก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับเกรด B+ ทีเดียว ถ้าใครรู้จักกินรู้จักใช้จะมีเงินเหลือเก็บมากมาย” ครูคนหนึ่งในโรงเรียนอมาตยากุลเขียนบอกเล่าถึงสังคมในโรงเรียนของพวกเขา
        การประชุมเพื่อทำความเข้าใจตนเองของพวกเราใช้เวลาร่วมสองชั่วโมง มีประเด็นปัญหาให้ทุก
คนได้กลับไปขบคิด เคี้ยวย่อยคำสำคัญ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม
ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงโลกทั้งด้านในและด้านนอก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รับใช้พึ่งพากันและกัน ในระดับบุคคลระหว่างกายกับจิตและในระดับองค์กร เป็นการพึ่งพากันระหว่างระบบคุณค่าและวัฒนธรรมในองค์กรกับโครงสร้างการบริหารขององค์กรที่เกื้อกูลกันและกันของโลกทั้งสองด้าน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น