วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

จุดเปลี่ยนแห่งการรู้แจ้ง : การเรียนรู้เกิดจากภายใน



                                                                                 สุริยา เผือกพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา

“กำแพงสูงที่กักขังหน่วงเหนี่ยวอิสรภาพดูแน่นหนาทะมึน แต่กระนั้นอาจดูบางเบากว่ากำแพงแห่งความเกลียดกลัวชิงชังที่มีต่อผู้คนที่ถูกจองจำภายในรั้วรอบอันมิดชิดนั้น

                เปลวแดดแผดรัศมีเหนือกำแพงสูง...ลิบ ๆ ไปในนภากาศ ม่านเมฆกับฟ้าใสส่องสว่างแจ่มจรัส แต่ภายใต้การโอบล้อมของกำแพงยักษ์ ชีวิตของคนวัยอรุณรุ่งกลุ่มหนึ่งกลับมืดมน อิสรภาพถูกจำกัดไว้ด้วยเส้นของกฎเกณฑ์ ซ้ายกำแพง ขวากำแพง เหลี่ยมมุมทรงจัตุรัสคือ ผลิตผลของสถาปนิกผู้ออกแบบเสรีภาพของ คนชายขอบเช่นพวกเขา บ้านหลังใหญ่แต่ไม่มีใครอยากเข้าไปอยู่

                ไกลออกไปบริเวณชานเมือง สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดแห่งหนึ่ง มีเด็กและเยาวชนอยู่ในความควบคุมจำนวน 126 คน เป็นชาย 122 คน หญิง 4 คน ประเภทของความผิดประกอบด้วยฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ร้อยละ 36 ฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน ร้อยละ 29 ฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ร้อยละ 16 ฐานความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนวัตถุระเบิด ร้อยละ 13 ฐานความผิดเกี่ยวกับเพศ ร้อยละ 6


                พายุแห่งความยากจนของครอบครัวที่ล่มสลายในชนบทได้กวาดต้อนผู้คนในวัยแรงงานให้ละทิ้งถิ่นฐานไปแสวงโชคในเมืองใหญ่ ฝากความเหงาว้าเหว่ให้เฝ้าดูแลบุตรหลานและตายาย ขาดโอกาสทางการศึกษา เฉกเช่นคนทั่วไป
                “การได้เข้ามาอยู่ในที่นี้ ทำให้มีเวลาคิดได้ว่า ที่ผ่านมาหลงผิด ติดเพื่อน อยากลอง” เอ เด็กชายต้องคดีเสพและจำหน่ายยาเสพติดบอกความรู้สึก
                “เพียงชั่วระยะเวลาเพียงเสี้ยววินาทีของการกระดิกนิ้วลั่นไก ทำให้ผมต้องเข้ามาอยู่ในนี้อย่างยาวนาน หวนคิดได้ว่าวันเวลาที่ผ่านมาใช้เวลาอย่างไม่เป็นประโยชน์” บี เด็กชายอีกคนที่ต้องคดีพยายามฆ่าย้อนเวลาของตนเอง
                “ไม่รู้ว่าในกระเป๋าที่เพื่อนฝากไว้มีอะไร ระหว่างการนัดกินข้าวกับเพื่อนที่ร้านคาราโอเกะ เพียงชั่วประเดี๋ยวหลังจากที่เพื่อนปลีกตัวไป ตำรวจก็เข้ามาจับ ในกระเป๋ามียา 100 เม็ด” ซี เด็กผู้หญิงต้องคดียาเสพติดกล่าว
                “อยู่กับแฟนในห้องไม่รู้ว่ามียา โดนจับพร้อมแฟน” ดี เด็กหญิงอีกคนที่ถูกจับฐานมียาครอบครองจำนวนมาก


                กำแพงสูงที่กักขังหน่วงเหนี่ยวอิสรภาพดูแน่นหนาทะมึน แต่กระนั้นอาจดูบางเบากว่ากำแพงแห่งความเกลียดกลัวชิงชังที่มีต่อผู้คนที่ถูกจองจำภายในรั้วรอบอันมิดชิดนั้น มีผู้คนมากมายที่แวะเวียนมาดูพวกเขา ราวกับเป็นสิ่งแปลกปลอม ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้พวกเขามีความรู้สึกว่า พวกเขาได้ถูกสังคมผลักไสให้ถอยห่างออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ

                ทว่าพันตรีอริยะ เรืองวาทสาร อดีตครูฝึกนักศึกษาวิชาทหารที่เด็ก ๆ รู้จักกันดีในนามผู้กองยะ  หลังการลาออกจากราชการทหารได้หันมาดูแลเด็ก ๆ ในสถานพินิจแห่งนี้อย่างจริงจัง
                “ผมได้แรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ตรัสถึงเยาวชน ด้วยความห่วงใย ในครั้งที่ผมได้มีโอกาสรับใช้พระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด” ผู้กองยะเล่าถึงที่มาของการตัดสินใจเข้ามาทำงานเกี่ยวกับเยาวชน
                “ก่อนหน้านี้ผมเห็นคนเข้ามาดูเด็กและเยาวชนในสถานพินิจคล้ายกับมาดูสวนสัตว์ มันสะท้อนผลที่ไม่ดีทั้งสองฝ่าย เด็กในนี้ก็จะสงสัยว่ามาดูพวกเขาเหมือนสัตว์ประหลาด ในขณะที่ผู้มาดูก็ไม่ได้เรียนรู้อะไร” ผู้กองยะเล่าถึง การแวะเวียนมาดูงานของผู้คนเมื่อก่อนนั้น
                “ผมจึงนำเด็กและเยาวชนที่อายุใกล้เคียงกัน เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน ให้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ช่องว่างของคนทั้งสองฝ่ายก็จะหายไป คนที่อยู่ข้างในนี้เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวไป ก็ต้องไปอยู่ปะปนกับคนที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมเหล่านี้ ไม่สถานะใดก็สถานะหนึ่งในสังคม พวกเขาจะอยู่ร่วมกันได้เป็นปกติ” ผู้กองยะ เล่าถึงผลในระยะยาวที่จะได้รับจากการทำกิจกรรมของเขา



                “แล้ววันหนึ่ง ก็มีลูกหลานที่เรียนอยู่โรงเรียนมีชัยพัฒนา กับเพื่อนสองสามคนมาบอกว่า อยากทำงานจิตอาสาช่วยเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ผมเลยถามเค้าว่า มีความรู้อะไร” ผู้กองยะเล่าถึงที่มาของกลุ่มจิตอาสาของนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาที่ได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมในวันนี้
                “เด็กตอบว่า ทำกิจกรรมสันทนาการเป็น ผมเลยบอกว่า...เอ้างั้นลองดู” ผู้กองยะบอกอนุญาต
                การมีโอกาสได้เข้าไปทดลองงานของกลุ่มนักเรียนจิตอาสา เป็นการนำร่องประสบการณ์เพื่อขยายผลให้ความดีกระจายไปยังกลุ่มเพื่อน ๆ ในโรงเรียน
                ในวันนี้ “แต๋ม” นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนมีชัยพัฒนา จึงเป็นผู้นำกลุ่ม        จิตอาสา กลุ่มใหญ่จำนวน 27 คน โดยมีครูหน่อยและครูเต๊ก เป็นที่ปรึกษามาทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกันตามจุดประสงค์ของผู้กองยะที่ว่า “ต่างคนต่างได้อะไรจากกันและกัน”
                กิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วย เกม ความรู้เรื่องเอดส์ สันทนาการ มอบหนังสือ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เยี่ยมชมอาคารสถานที่
                หลังกิจกรรมสิ้นสุดลง สมาชิกกลุ่มทุกคนต่างพูดเป็นทำนองเดียวกันว่า “เมื่อก่อนนี้หนูเกลียด กลัว เข้ากลุ่มแรก ๆ หนูยังสั่น แต่พอได้พูดคุยกัน ทำกิจกรรมร่วมกันเสร็จแล้ว หนูกลับรู้สึกสงสารเห็นใจและเลิกเกลียดกลัวพวกเขา
                บ่ายคล้อยของวันอันทรงคุณค่าของกลุ่มจิตอาสาในวันนั้น พวกเขาเดินทางกลับโรงเรียนด้วยความ   อิ่มเอมใจ ทุกคนก้าวผ่านท่าขนถ่ายอวิชชาเชิงสะพานมังกรด้านฝั่งประตูโรงเรียนเพื่อกลับที่พัก ณ ที่ตรงนี้ ที่ที่ได้สร้างจุดเปลี่ยนแห่งการรู้แจ้ง แก่เด็ก ๆ ตามปรัชญาโรงเรียนได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นสาระของการศึกษา
                The more you give, the more you get
                ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น