วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือความยากจน



                                                                                                                                      สุริยา เผือกพันธ์ :  เขียน

                ใคร ๆ ก็รังเกียจความยากจน !!!!!
              ความยากจนน่าสนใจตรงไหน ????

              
               ป้ายโฆษณา 3 จีถูกแปะติดไว้บนเสาไฟฟ้าที่ยืนเรียงต้นเป็นระยะ ๆ แนบชิดกับถนนคอนกรีตที่มีพื้นผิวเรี่ยลาดด้วยมูลโคกระบือกระจัดกระจายไปตลอดเส้นทาง ทั้งสัญญาณ 3 จีและถนนคอนกรีตต่างมุ่งตรงไปยังหมู่บ้าน แล้วแตกตัวเป็นแขนงชอนไชเข้าสู่ครัวเรือน ฝูงโคกระบือถูกต้อนจากไร่นา ปลดแอกคันไถ ละทิ้งการหว่านดำ แล้วเดินดุ่มไต่ราวไม้ขึ้นไปกักขังตัวเองไว้บนท้ายรถกระบะมุ่งหน้าเข้าสู่เมือง.......... นี่คือวิถีหมู่บ้านในวันนี้

                ในปี พ.ศ. 2554 ยังมีคนจนถึงประมาณ 8.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 3.4 ล้านคนอยู่ในภาคอีสานและหากนับรวมกลุ่มคนใกล้จนก็จะมีมากกว่านี้ ความยากจนทำให้เห็นความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นในสังคมไทย


                                                  "ฝูงโคกระบือถูกต้อนจากไร่นาไปสู่เมือง"

                การแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันในเมืองไทยที่มีสูงในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะประเทศอื่นที่เคยมีปัญหาเหมือนเราหรือยิ่งกว่าเราก็ยังแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ด้วยการช่วยให้ชาวบ้านมีทักษะวิชาชีพและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่น

ในปากีสถานมูฮัมหมัด ฮัดสัน (Muhammad Hassan) วัย 29 ปี สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากจน ด้วยการให้ความรู้และการให้บริการแหล่งเงินทุนขนาดเล็ก หลังจากร่วมกับธนาคาร Khushhali จำกัด ในเดือนมิถุนายน 2004 ได้เป็นเจ้าหน้าที่ให้บริการลูกค้า ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งเงินทุนขนาดเล็กของธนาคาร ตามยุทธศาสตร์การลดความยากจนของปากีสถาน ในปี 2000

ความแตกต่างของแหล่งเงินทุนขนาดเล็กเกิดจากความต้องการที่แตกต่างกัน” เขาพูดอย่างมั่นใจ เมื่อย้อนถึงปู่ของเขาที่เป็นชาวนานยากจนเขากล่าวว่า “ผมสามารถช่วยเหลือปู่ของผมด้วยแหล่งเงินทุนนี้ได้ ถ้าเดี๋ยวนี้เขายังมีชีวิตอยู่ ผมต้องการช่วยเหลือชาวนาเล็ก ๆ คนค้าขาย ให้ทักษะกับคนที่ยังไม่มีธุรกิจ ผมเต็มใจที่จะทำงานเพื่อครอบครัวของพวกเขา”
จากการช่วยเหลือของ MFToT (Microfinance Training of Trainers) ฮุดสันได้ทำความฝันของประชาชนให้เป็นจริงและมีชีวิตที่ดีขึ้น “ผมต้องการทำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ผมสามารถที่จะให้ความรู้เหล่านี้ ผมต้องการให้ความรู้ไปทำให้ความยากจนลดลง แหล่งเงินทุนขนาดเล็กได้เปลี่ยนแปลงชีวิตคน มีคนจนเป็นล้านคนในปากีสถานและคนนับล้านมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินเพียงวันละหนึ่งดอลล่าร์ แหล่งเงินทุนขนาดเล็กได้ส่งผลสะเทือนที่ยิ่งใหญ่ต่อมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ผมพยายามให้บริการเป็นพิเศษเพื่อคนที่จนมาก ๆ โดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทน


          "Muhammad Hassan"  (ภาพจาก http://www.jointokyo.org/en/news/category/C198/P12)


ในมองโกเลีย ที่บ้านของเจงจิส ข่าน (Genghis Khan) แถบทะเลทรายโกบี แถบภูเขาและที่ราบ แหล่งเงินทุนขนาดเล็กมีความหมายที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะสำหรับเนอกุย สนาแดกแจพ (Nergui Snadagjav) ที่ได้เห็นความจริงว่า ประเทศที่มีประชากรมากหนึ่งในห้าของโลกมีรายได้ต่อวันเพียง 1.25 เหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน เธอได้แสดงบทบาทที่ขยันขันแข็งที่จะทำให้ชาวมองโกเลียได้ทำความฝันของพวกเขาเป็นจริง

เธอเริ่มอาชีพของเธอด้วยการทำงานเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนขนาดเล็กที่เป็นงานพิเศษ ตามโครงการลดความยากจนแห่งชาติมองโกเลีย โดยได้เงินทุนสนับสนุนจากธนาคารโลกในปี 1996 ตั้งแต่นั้นมา เธอได้ทำงานพัฒนาในพื้นที่ตามนโยบายการให้สินเชื่อและให้การอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐจากส่วนกลางและตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ที่ปฏิบัติตามนโยบายบริการแหล่งเงินทุนขนาดเล็ก จากโครงการนี้เธอได้ลงทะเบียนเรียนในหลักสูตร MFToT ในปี 2005
                “ฉันดีใจมากที่ได้เรียนในหลักสูตรนี้ มันเป็นความคาดหวังของฉันและเป็นประสบการณ์ครั้งแรกในการเรียนหลักสูตรออนไลน์” สำหรับเธอผลลัพธ์มีค่ามหาศาลมาก มันได้ขยายเครือข่ายในวิชาชีพไปทั่วโลกและเป็นการเพิ่มโอกาสในการเริ่มต้นร่วมงานกับแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เธอพูดว่า MFToT ได้เพิ่มพูนความรู้ให้เธอด้วยการเรียนรู้ทางไกลและการสอนแบบผสมผสาน

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2009 เธอได้ร่วมงานกับเพื่อนบางคนก่อตั้ง NGO ขึ้นมาเรียกว่า TERI (Training, Evaluation, Research Institute)
 “เราต้องการพัฒนาคุณภาพการอบรม การประเมินผลและการวิจัยเกี่ยวกับการลดความยากจนให้สูงขึ้นและยั่งยืน” เธอกล่าว “เราต้องการขยายความเข้าใจให้ลึกมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสาเหตุของความยากจนและความไม่เพียงพอและยุทธวิธีการให้ความรู้นี้จะทำให้เกิดความสำเร็จได้”

ทีมงานของเธอได้จัดทำสื่อและอุปกรณ์การอบรมหลักสูตร MFToT ในพื้นที่ของมองโกเลีย พวกเธอเพิ่งเสร็จจากการบันทึกเสียงลงใน CD-ROM เรียกว่า MFToT6. ซึ่งจะใช้ในการอบรมครั้งหน้า ชุดการเรียนที่เสร็จแต่ละครั้ง พวกเธอจะบรรจุลงเป็นหลักสูตรวิชาเลือก (Elective Course) ในมหาวิทยาลัยมองโกเลีย
   “ฉันหวังว่า จะทำให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นโดยใช้ภาษาท้องถิ่น ทั้งผู้ใช้เงินทุนและนักเรียนที่เรียนและทำให้พวกเขาสามารถใช้สื่ออุปกรณ์ด้วยภาษาของพวกเขาเอง”


               "Nergui Snadagiav " (ภาพจาก Tokyo Development Learning Center

สำหรับในเมืองไทยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) ได้กำหนดวิธีการลดความยากจน (Eradication of Poverty) ไว้ด้วยเงื่อนไข 2 ประการคือ การฝึกทักษะวิชาชีพและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดเล็กในหมู่บ้าน โดยมีองค์ประกอบสนับสนุน 3 ประการคือ การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาที่เรียกว่า School – Based Integrated Rural Development (S-BIRD) กิจกรรมทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้โครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้านหรือ Village Development Partnership (VDP


           "ทีม Micro finance Training of Trainers ของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน"


 หมู่บ้านในวันนี้....บางครัวเรือนอยู่ระหว่างรอการเก็บเกี่ยว  มีแม่บ้านและผู้เฒ่ากำลังสร้างงาน
มันบ่มีตลาดครูเอ้ย เฮ็ดไปงั้นแหละ” ชาวบ้านคนหนึ่งรำพึงระหว่างนั่งกรอเส้นใหม
“ทอผ้าก็ไม่ได้ไปขายที่ไหน เอาไว้ใช้เอง ถ้ามีคนอยากได้ก็ขายเหมือนกัน” อีกคนกล่าวเสริม
             “บ่ได้ขายทุกวัน อันละร้อยห้าสิบ พอได้ซื้อยากิน” พ่อใหญ่คนหนึ่งพูด ขณะที่ก้มหน้าสานกระแตง



          "ทีมครูและนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาเข้าหมู่บ้านศึกษาเรียนรู้ชุมชน"

                “ปัญหาในเมืองไทยขณะนี้คือ เรามีสินค้าและบริการสาธารณะไม่เพียงพอ เช่น โรงเรียนคุณภาพดี ถนนดี โรงพยาบาลดี ฯลฯ เป็นต้น การศึกษาเป็นบริการสาธารณะ เยาวชนไทยจำนวนมากไม่มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพของตน เพื่อที่จะมีอาชีพที่ให้รายได้ดี เพราะขาดการศึกษาหรือได้รับการศึกษาที่ด้อยคุณภาพในขณะเดียวกันประชาชนระดับล่างขาดความสามารถและโอกาสทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาและทักษะความชำนาญที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมข่าวสาร”

                ถ้อยความสรุปข้างต้นได้จากงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อการชำแหละความมั่งคั่ง ตีแผ่โครงสร้างอำนาจ สู้วิถีการปฏิรูปสู่สังคมไทยเสมอหน้าของผาสุก พงษ์ไพจิตร(2557)  ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                การเข้าใจความยากจนเพียงระดับความรู้สึกไม่เพียงพอ แต่ต้องเรียนรู้ให้ลึกไปถึงระดับเหตุผล ภาวการณ์ขาดแคลนทักษะแรงงาน ได้กลายเป็นปัญหาในประเทศไทย การเสริมทักษะการทำงานและสร้างนวัตกรรม จะช่วยเพิ่มรายได้และลดความยากจนได้

                สำหรับโรงเรียนแล้ว ความยากจนจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุดของนักเรียน


               

                

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การศึกษาแบบไล่หมาให้แน !!!!


                                                                                                    
                                                                                                                   สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน

ไล่หมาให้แน !!!!!

เสียงประกาศตามสายจากวิไล สุดสายเนตรผู้ใหญ่บ้านยางหมู่ 2 ดังก้องไปทั้งหมู่บ้าน
หลังการแนะนำตัวและแจ้งวัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่จากนักเรียนและครูโรงเรียนมีชัยพัฒนา จำนวน 23 คนในเช้าวันที่ 25 สิงหาคม 2558 สิ้นสุดลง

“มื้อนี้ คณะนักเรียนโรงเรียนมีชัยจะมาศึกษาหมู่บ้าน เก็บข้อมูลในหมู่บ้านของเรา จึงขอแจ้งให้พี่น้องทั้งหลายทราบ เห็นนักเรียนเดินไปทางไหนก็ไล่หมาให้แน (ให้ด้วย)”




“ผู้ใหญ่วิไล สุดสายเนตร กำลังพูดคุยและแนะนำแหล่งข้อมูลในหมู่บ้าน”


ผู้ใหญ่วิไล สุดสายเนตรให้การต้อนรับคณะนักเรียนและครูโรงเรียนมีชัยพัฒนาที่เรียนในรายวิชานักพัฒนาสังคมด้วยท่าทางกระตือรือร้น การศึกษาชุมชนเป็นกิจกรรมหนึ่งของรายวิชาดังกล่าว และในวันนี้ยึดเอาบ้านยางหมู่ที่ 2 ตำบลบ้านยาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้

แนวคิดในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแนวทางนี้ เรียกว่าเป็นการสอนเพื่อการปฏิรูปสังคม (Social Reform) คือ การมองหาสังคมที่ดีกว่า (Seeking a Better Society) เป็นแนวคิดของแดน แพร็ตต์ (Dan Pratt, 1998) ที่ได้ศึกษาการสอนของครูที่สอนผู้ใหญ่จำนวน 253 คนใน 5 ประเทศ พบว่า มีการใช้วิธีการสอนต่าง ๆ กัน เพื่อให้ได้คุณภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งสรุปได้ 5 แนวทางกล่าวคือ การถ่ายทอดจะได้ผลดีเมื่อต้องการเน้นเนื้อหาสาระ (Effective Delivery of Content) วิธีนี้เรียกอีกอย่างว่า Objectivist approach การฝึกงานเป็นการสอนเพื่อต้องการให้คนทำเป็น (Modeling ways of Being) เรียนรู้ด้วยการกระทำภายใต้คำแนะนำของผู้รู้ การสอนคนให้พัฒนาตน (Cultivating ways of Thinking) ใช้การสอนแบบสรรค์สร้างนิยม การสร้างตนด้วยตนเอง (Facilitating Self –  Efficacy) ใช้การเรียนรู้ในโลกออนไลน์และการมองหาสังคมที่ดีกว่าใช้การสอนเพื่อการปฏิรูปสังคม




                     “คณะครูโรงเรียนมีชัยพัฒนาในฐานะครูนักปฏิรูปสังคม”

บรรดาครูทั้งหลายที่สอนโดยใช้แนวคิดปฏิรูปสังคมเพื่อสังคมที่ดีกว่า เชื่อว่าที่สุดแล้วการสอนของพวกเขาจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมเป็นคำตอบสุดท้าย  สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนเชื่อว่า การใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาชนบท (S-BIRD) แล้วสร้างหลักสูตรเพื่อใช้เรียนใช้สอนให้มีลักษณะเฉพาะผ่านรายวิชาธุรกิจเพื่อสังคมและรายวิชานักพัฒนาสังคม อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ผลลัพธ์สุดท้ายจะทำให้ความยากจนของคนในชนบทลดลงได้ เอกลักษณ์การสอนของครูเหล่านี้นำไปสู่การสร้างมุมมองและประโยชน์ที่มองเห็นได้ในระยะยาว ในขณะเดียวกัน อาจนำไปสู่การสร้างวิสัยทัศน์ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย
ครูที่เป็นนักปฏิรูปสังคมไม่ได้สอนให้ผู้เรียนเห็นวิธีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพียงมิติเดียว แต่จะทำให้ผู้เรียนมองเห็นวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งโดยทั่วไปปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมดขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่สังคมนั้น ๆ ต้องการเป็นการเฉพาะ และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้พวกเขาได้กระทำการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ดีกว่า
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ถ้าถือเอาความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้ (Epistemology) มาพิจารณาเพื่อให้เห็นทฤษฎีการสอนแล้ว การเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ไม่ได้เริมต้นจากทฤษฎี กลับเป็นการลงไปแสวงหาวิธีการด้วยตนเองของผู้เรียน เพราะครูนักปฏิรูปสังคมจะรู้เองว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในสถานการณ์ที่เป็นจริงนั้น



 “นักเรียนนำข้อค้นพบจากการลงพื้นที่มาแลกเปลี่ยนกันเพื่อสร้างองค์ความรู้แบบแฝงภายในตน (Tacit Knowledge)

โรงเรียนมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในรายวิชาธุรกิจเพื่อสังคมและรายวิชานักพัฒนาสังคม โดยหวังว่าจะเป็นพื้นฐานในการเป็นผู้ประกอบการสังคมในอนาคตด้วยการฝึกทักษะการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม การประกอบสัมมาชีพ การสร้างรายได้ที่เกื้อกูลต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและโลก นอกจากนี้ ยังเรียนรู้การสร้างสรรค์และการพัฒนาสังคมด้วย

การลงพื้นที่ศึกษาชุมชนเป็นการเรียนรู้ผ่านศิลปะและประสบการณ์ตรง (Artistic and Experiential Learning) คือ การเรียนรู้ที่ผู้เรียนนำตนเองเข้าสู่การลงมือสร้างสรรค์งานเชิงศิลปะหรือการปฏิบัติกิจต่าง ๆ ในสถานการณ์จริง พร้อมทั้งสามารถสะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านใหม่ ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ วิธีคิดและการมองโลกในแง่มุมที่แตกต่างไปจากเดิม วิธีการเรียนรู้เช่นนี้ จะเอื้อให้ผู้เรียนตระหนักต่อความรู้ที่แฝงอยู่ภายในตน (Tacit Knowledge) และสามารถระบุ นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อโจทย์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม (สถาบันอาศรมศิลป์ : 2555)

“เฮ็ดพอได้ซื้อยากิน...เฮ็ดอย่างอื่นไม่มีแรงแล้ว ได้นั่งทำอันนี้ (สานกระแตง) ก็พอทำได้อยู่” พ่อใหญ่โฮม ตาชูชาติ วัย 80 บอกเหตุผลในสิ่งที่พ่อใหญ่ทำอยู่
“สองสามมื้อจะได้อันหนึ่ง ราคาร้อยห้าสิบ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครทำแล้ว พ่อทำมาตั้งแต่อยู่ชั้น ป. 4” พ่อใหญ่เล่าความหลัง
เค้าไปหาที่ตลาดกันหมด” พ่อใหญ่สรุป




                      “พ่อใหญ่โฮม ตาชูชาติ วัย 80 ผู้สืบทอดมรดกของชุมชน”

“วันนี้ออกไปเก็บข้อมูลปัญหาของชุมชน ทำให้รู้ว่าส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง” ณัฐริกา งามนวล” นักเรียนชั้นม. 4 หนึ่งในหลายคนที่ออกมาเรียนรู้ชุมชน
“รู้สึกดีใจ ไม่เคยทำอย่างนี้มาก่อน เย็นนี้จะไปช่วยยายเลี้ยงหม่อนไหม และเมื่อเช้านี้ยังได้ช่วยทำความสะอาดวัดอีกด้วย” เธอกล่าวอย่างภาคภูมิใจ




                                          “ณัฐริกา งามนวล” นักเรียนชั้นม. 4

บางบทตอน ของข้อสรุปหลักสูตรสถาบันอาศรมศิลป์ระบุว่า ถ้าระบบการศึกษาสามารถสร้างคนให้เป็นผู้ประกอบการ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้คิด ริเริ่ม พัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาและทุนทางสังคมในท้องถิ่นหรือการพัฒนาระบบกสิกรรมธรรมชาติจากเรือกสวนไร่นา ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ หากผู้เรียนสามารถทำได้เช่นนี้ ย่อมมีค่ากว่าคะแนนในแต่ละรายวิชาและปริญญาบัตร ซึ่งสุดท้ายเมื่อจบการศึกษาแล้ว ไม่รู้จะเอาปริญญาบัตรไปทำอะไร แต่ถ้าพวกเขาสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง มีรายได้ มีความพออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้ นี้จะเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าใบปริญญาเป็นไหน ๆ

ไล่หมาให้แน !!!!!
เสียงประกาศตามสายจากวิไล สุดสายเนตรผู้ใหญ่บ้านยางหมู่ 2 ดังก้องไปทั้งหมู่บ้าน


วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

โรงเรียนชายขอบ : ยิ่งสายยิ่งหิว


                                                                                                                  สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน


                เครื่องยนต์กระหึ่มดังตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง กระตุ๊กล้อให้ขับเคลื่อนไปยังจุดนัดหมาย

                หกโมงเช้าที่ 17 สิงหาคม 2558 พบกันที่ สพป.บร 3 นางรอง ศน. (นาง) ภัครพร เรือโป๊ะ ไลน์บอกทุกคน
                แต่ที่นี่เป็นเพียงการนัดหมายกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีต้นทางอยู่ที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ การรวมพลใหญ่อยู่ที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. โนนดินแดง ที่นั่น 7 นาฬิกาทุกคนต้องพร้อม
                พวกเรารวมกันได้เป็นกลุ่มใหญ่ กว่าร้อยชีวิต ประกอบด้วยครู นักเรียนและผู้บริหารจากโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์เขต 3 ที่นำทีมโดย ผอ.คำปุ่น บุญเชิญ ผู้อำนายการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์เขต 3


           “ผอ.คำปุ่น บุญเชิญ ผู้อำนายการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา บุรีรัมย์เขต 3

                เมื่อทุกคนพร้อมขบวนรถยนต์ได้เคลื่อนตัวมุ่งสู่ จุดผ่อนปรนบ้านตาพระยา อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว พวกเรามีเป้าหมายข้ามแดนไทย-กัมพูชา สู่โรงเรียนทมอโรมิล (Thmor Romeal School )อำเภอทมอพวก จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา เพื่อร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนชายขอบไทย-กัมพูชา โดยสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต ๓ ๑๗  กรกฎาคม  ๒๕๕๘  จำนวน 5 โรงเรียน ประกอบด้วยโรงเรียนในประเทศไทยคือ โรงเรียนอนุบาลโนนดินแดง โรงเรียนบ้านผไทรวมพล โรงเรียนบ้านราดรักแดน โรงเรียนบ้านแท่นทับไทยและโรงเรียนบ้าน   บาระแนะ โดยมีโรงเรียนคู่ขนานในกัมพูชาประกอบด้วย โรงเรียนทมอโรมิล (Thmor Romeal School )โรงเรียนปราสาทตะแบง (Prasat Tabang School) และโรงเรียนดงแรก (Dongrek School) ทั้งหมดอยู่ในอำเภอทมอพวก จังหวัดบันเตียเมียนเจย



                   “ภัครพร เรือโป๊ะ (นาง) ศึกษานิเทศ สพป.บุรีรัมย์เขต 3 ผู้ประสานงานโครงการ”

                จังหวัดบันเตียเมียนเจย เรียกเป็นภาษาไทยว่า จังหวัดบ้านมีชัยหรือบันทายมีชัย มีเมืองศรีโสภณ เป็นเมืองหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา พื้นที่ติดกับจังหวัดสระแก้ว ประตูผ่านเข้าสู่บ้านมีชัยคือ ปอยเปต ที่มีทั้งนักท่องเที่ยวและนักเสี่ยงโชคเดินทางเข้าออกเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจดูคึกคัก เพราะมีการจับจ่ายใช้สอย มีการค้าขายแลกเปลี่ยน จนกลายเป็นตลาดชายแดนสำหรับที่คนไทยและคนต่างประเทศไปใช้บริการกันอึกทึก นอกจากนี้ยังมีรถโดยสาร รถประจำทาง และรถแท็กซี่ไว้บริการเป็นจำนวนมาก
                แต่การเดินทางของพวกเราครั้งนี้มุ่งหน้าสู่กัมพูชาโดยผ่าน จุดผ่อนปรนบ้านตาพระยา ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลตาพระยา อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ห่างจากด่านศุลกากรอรัญประเทศ ประมาณ 57 กิโลเมตร มีบ้านบึงตากวน อำเภอทมอพวก จังหวัดบันเตียเมียนเจยอยู่ตรงกันข้าม ที่นี่มีด่านศุลกากรบึงตากวน ดูแลคนเข้าออกข้ามแดนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น.


                             “บริเวณจุดผ่อนปรนบ้านตาพระยา สถานที่ลงนามข้อตกลง (MOU)”

                คณะของพวกเราถึงจุดผ่อนปรนตาพระยาเวลาประมาณ 10.00 น. ขบวนรถจอดต่อกันเป็นแถวยาวเหยียด เพื่อให้ตำรวจ ตชด. ได้ตรวจนับและตรวจสอบความปลอดภัย
                แต่การจอดครั้งนี้กินเวลายาวนานไปถึงเที่ยงวัน เจ้าหน้าที่ประจำจุดผ่อนปรนยังไม่อนุญาตให้ข้ามแดนไปได้
                ในที่สุดคณะเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานได้กลับออกมาแจ้งข่าวว่า คณะของเราไม่สามารถข้ามไปทำกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดไว้ได้ แต่ได้เชิญผู้บริหารและครูโรงเรียนคู่ขนานในกัมพูชาข้ามแดนมายังฝั่งไทยเพื่อร่วมลงนาม โดยใช้สถานที่ของหน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12
                อีกไม่นานแพรค วารินนายอำเภอทมอพวกและคณะก็เดินทางมาถึง ตามติดด้วยคณะของสเดิง ตงอึงรองหัวหน้าสำนักงานการศึกษาเยาวชนและกีฬา จังหวัดบันเตียเมียนเจยและท้ายสุดเป็นคณะผู้อำนวยการและครูจากโรงเรียนคู่ขนาน 5 โรงเรียนเดินทางมาเพิ่มจนครบจำนวน พิธีการจึงได้เริ่มขึ้น



“พิธีลงนามข้อตกลง (MOU) ระหว่างโรงเรียนคู่ขนานไทย-กัมพูชาที่หน่วยงานเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12.”

                “การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและในฐานะสมาชิกสมาคมอาเซียน ที่จะเปิดประเทศในปี 2015 นี้ มีความต้องการให้ลูกหลานตามแนวชายแดนได้เรียนรู้ภาษาด้วยกัน ในโรงเรียนในเขตพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 3 ที่มีพื้นที่บริการและรับผิดชอบอยู่ ประกอบด้วย ละหานทราย โนนดินแดงและปะคำ ต้องการให้นักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ พูดภาษาเขมรได้ จึงประสานให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาทำความตกลง MOU กัน” นายคำปุ่น บุญเชิญ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์เขต 3 กล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่การทำความตกลงร่วมกัน
                “หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือของเราจะส่งเสริมการศึกษาของทั้ง 2 ประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป” นายคำปุ่น บุญเชิญ กล่าวทิ้งท้าย
                เรียนท่านคำปุ่น และคณะจากประเทศไทยทุกท่าน ความจริงแล้วประเทศไทยและกัมพูชาเคยมีความตกลงกันมาก่อนตั้งแต่วันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2012 ระหว่างจังหวัดบันเตียเมียนเจยและจังหวัดสระแก้ว จากนั้นก็มีความสัมพันธ์กันเรื่อยมา เป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องการศึกษา วัฒนธรรม เช่น ศิลปะการแสดงของทั้งสองประเทศ ลูกเสือ เนตรนารี จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างดีทั้งเขต 1 และเขต 2 ระหว่างไทยกับกัมพูชา” สเดิง ตงอึง รองหัวหน้าสำนักงานการศึกษาเยาวชนและกีฬา จังหวัดบันเตียเมียน  เจย กล่าว

       

      “สเดิง ตงอึง รองหัวหน้าสำนักงานการศึกษาเยาวชนและกีฬา จังหวัดบันเตียเมียน  เจย”

                การศึกษาของบันเตียเมียนเจยเพิ่งแยกตัวมากจากพระตะบองเพียง 10 ปี เพราะฉะนั้นทางจังหวัดจะมีปัญหา เช่น อาคารเรียน ครูอาจารย์ เราไม่มีครูที่เป็นข้าราชการ มีแต่ครูอัตราจ้างเป็นส่วนมาก” สเดิง ตงอึงบอกเล่าถึงปัญหาของโรงเรียนในจังหวัดของเขา
                “วันนี้เป็นเรื่องที่โชคดีมาก ที่มีความสัมพันธ์กันทั้งสองประเทศ กับบุรีรัมย์ หวังว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศจะเหนียวแน่นเป็นนิรันดร์ เพราะอยู่ติดกันอยู่แล้ว” สเดิง ตงอึงกล่าวย้ำความสัมพันธ์
                “วันนี้เป็นนิมิตรหมายอันดีระหว่าง 2 อำเภอ 2 จังหวัด 2 ประเทศ ที่จะได้สืบสานระหว่าง 2 ประเทศที่มีกันมายาวนาน ในโอกาสการรวมกันเป็น ASEAN นี้ จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์เราเหนียวแน่นยิ่งขึ้น หวังว่าหลังจากนี้ไป จะทำให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นในเรื่องของการศึกษา ในส่วนของพื้นที่ระหว่างอำเภอกับอำเภอได้มีการพบปะกันเป็นประจำอยู่แล้ว คิดว่าในอนาคตจะใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่บ้านบาระแนะ ที่ช่องบาระแนะ” นายชัยวัฒน์ ชัยเวชพิสิฐ นายอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์กล่าวแสดงความรู้สึก



                             “นายชัยวัฒน์ ชัยเวชพิสิฐ นายอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์”

                ยิ่งสายยิ่งหิว”  แพรค วาริน นายอำเภอทมอพวก ขึ้นต้นคำคม
                “มีความยินดีและภาคภูมิใจที่มาลงนามในวันนี้ ขออภัยที่ ผอ.บางโรงเรียนไม่ได้มา การลงนามนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ขอชื่นชมระบบการศึกษาของอำเภอละหานทรายที่มีความเจริญ ถ้าเทียบกับโรงเรียนชายแดนกัมพูชา จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากระบบการศึกษาขาดแคลน โดยเฉพาะครู อุปกรณ์การศึกษา ทำให้เราได้เห็นชัดว่าการศึกษาทั้ง  2 ประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมาก เราเข้าอาเซียนแล้ว จึงต้องมีความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น นอกเหนือจากการไปมาหาสู่กันในการทำมาหากิน การค้าขาย ก็จะมีการเชื่อมกันทางด้านวัฒนธรรมและการศึกษา เช่น เดียวกันการป้องกันอาชญากรรมของทั้ง 2 ประเทศ การศึกษานี้สำคัญอย่างยิ่ง เราจะได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนภาษาของกันและกันมากยิ่งขึ้น หวังว่าอนาคตของเราจะแนบแน่น ขออวยพรให้มีอายุ วรรณะ สุข พละยิ่ง ๆ ขึ้นไป” แพรค วารินจบด้วยคำอวยพร



                                                           “แพรค วาริน นายอำเภอทมอพวก”

                หลังพิธีลงนามและการสัมผัสมือที่เป็นเครื่องหมายแสดงความยินดีและมีสัมพันธภาพไมตรีต่อกันจบลง ข้าวห่อได้ถูกนำมาทยอยแจกผู้คนในงานอันทรงคุณค่านี้  ความเป็นพี่น้องได้กระชับยิ่งขึ้นในวงข้าวอันเรียบง่าย เป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ในอ้อมกอดของภูผาและโขดหินของ หน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 แห่งนั้น

                ยิ่งสายยิ่งหิว คำสำคัญของแพรก วารินยังก้องอยู่ในใจ

                

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แสงตะวันฉาบฉายที่โรงเรียนไม้ไผ่





                                                                                       สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน


เวลาช่วงหนึ่งสัปดาห์ ผ่านไปรวดเร็วราวกับงานพลิกหน้าหนังสือ
            เช้านี้.....เป็นวันกล่าวคำลา
            “ผมอยากมาที่นี่อีกครั้ง ผมอยากมาหาพี่การ์ตูน พี่เมล์และทุกคน ถ้าผมขึ้น ม. 1 ผมจะมาเรียนที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา” เฟส- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนชุมชนบ้านแป้น อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีกล่าว
            “หนูได้ความรู้มากมายเกี่ยวกับฟาร์มขจัดความยากจนและธุรกิจที่เป็นรายได้ในเวลาเรียน” นุช โดรนียานา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนศึกษาศาสตร์อิสลาม จังหวัดนราธิวาส กล่าวเป็นคนต่อมา
            ในทำนองเดียวกัน รูสมี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเดียวกันก็กล่าวว่า “มาที่นี่ทำให้หนูได้ความรู้มากมายและได้รู้จักการทำธุรกิจด้วยตนเอง”
             ......................................................................................
            หลังการกลับไปของสุรัยยา ดอเลาะและเพื่อนได้ไม่นาน ในฐานะหัวหน้าคณะสำรวจเส้นทางจากแดนใต้สู่อีสาน ของสำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คณะครูและนักเรียนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มาถึง โรงเรียนมีชัยพัฒนา
 เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการวิสาหกิจโรงเรียนและการมีส่วนร่วมของโรงเรียนต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน



“สุรัยยา ดอเลาะผู้ประสานงานสำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี”

            ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ดำเนินการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามนัยของพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.. ๒๕๕๓ ในมาตรา ๙ (๑๐) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ โดยมีกลุ่มเยาวชน เป็นเป้าหมายสำคัญในการปฏิบัติงาน เนื่องจากเยาวชนมีบทบาทและพลังในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา การพัฒนาและการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะแกนนำเยาวชนที่มีศักยภาพที่เป็นแกนกลางการประสาน นำไปสู่การรวมตัวกันของเยาวชนในพื้นที่เพื่อสร้างพลังงานการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต



“ เฟส- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนชุมชนบ้านแป้น อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี”

                นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนเด็กและเยาวชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยและการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ดีกว่า ได้หารือร่วมกับเลขาธิการ ศอ.บต. แม่ทัพภาคที่ ๔ และผู้บริหารส่วนราชการที่เกี่ยวข้องภายในห้องรับรองของ กอ.รมน. ภาค ๔ ส่วนหน้า โดยที่ประชุมเห็นชอบที่จะมีการนำเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ร่วมกับคณะครูและผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายอื่นที่มีศักยภาพและสามารถต่อยอดองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การรวมกลุ่มวิสาหกิจสถานศึกษาและวิสาหกิจชุมชนตลอดจนการส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศไทย



“นุช โดรนียานา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนศึกษาศาสตร์อิสลาม จังหวัดนราธิวาส

                นายมีชัยฯ เสนอความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ ศอ.บต. ในลักษณะโครงการนำร่อง (Pilot Project) ที่ต้องการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความพร้อมสู่การเป็น โรงเรียนเพื่อการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม ตามแบบของโรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือโรงเรียนไม้ไผ่ ที่มีความสำเร็จและเป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมด้านการปฏิรูปไทยและสังคมในอนาคต มุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว (ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม)  รวมทั้ง การปลูกฝังการเป็นพลเมืองที่ดีและการฝึกทำธุรกิจบนหลักของความเสมอภาค ยุติธรรม เคารพธรรมชาติและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก เพื่อนำแบบอย่างการจัดการเรียนการสอน ไปประยุกต์ในโรงเรียนของตนเองต่อไป


                                           “เรียนรู้การสาธิตการประกอบรางไฮโดรโปนิคส์”

                สำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี (สปส.)ซึ่งเป็นส่วนงานภายใน ศอ.บต. มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการประสานงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนมีส่วนรร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาคุณภาพของประชาชนให้สอดคล้องต่อวิถีชีวิต พหุวัฒนธรรม ความจำเป็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างพื้นที่ บรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเปิดพื้นที่เพื่อการพูดคุยและแสดงความคิดเห็น เพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี และร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ความเจริญ พิจารณาเห็นว่า การสร้างโอกาสให้กับสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงเด็กและเยาวชน บุคลากรสถานศึกษาและผู้นำกลุ่มต่างๆที่มีศักยภาพในการร่วมเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปจังหวัดชายแดนภาคใต้ การปฏิรูปประเทศไทยและสังคมในอนาคต จึงเห็นควรดำเนินการจัด โครงการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการวิสาหกิจโรงเรียนและการมีส่วนร่วมของโรงเรียนต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จังหวัดบุรีรัมย์ 


                                          “การศึกษาดูงานในโรงเรียนโครงการ School-BIRD
           
                โดยมีโรงเรียนมีชัยพัฒนา เป็นโรงเรียนตัวอย่างเพื่อการเรียนรู้ ประกอบด้วย
                การฝึกปฏิบัติด้านการเกษตรของโรงเรียน “ฟาร์มขจัดความยากจน” 5 ฐานได้แก่ 1) เพาะกล้าผัก 2) ผักไร้ดิน: ไฮโดรโปนิกส์และแซนโดรโปนิกส์ 3) มะนาวนอกฤดูกาล 4) ไก่ไข่ 5) เห็ดนางฟ้า 6) สาธิตการประกอบรางไฮโดรโปนิคส์
                นอกจากนี้ยังศึกษารูปแบบการบริหารโรงเรียนโดยมีนักเรียนเป็นส่วนร่วม การทำธุรกิจของนักเรียน การเรียนรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม ระหว่างนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาและคณะศึกษาดูงานจากภาคใต้
                กิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด ดำเนินการโดยนักเรียน
                ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ เป็นการเยี่ยมชมและศึกษาดูงานโครงการ School – BIRD และโครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน (VDP) ในจังหวัดบุรีรัมย์


               


                “วา นักศึกษาวิทยาลัยชุมชน ปี 1 จังหวัดยะลา”

เวลาช่วงอีกหนึ่งสัปดาห์ ผ่านไปรวดเร็วราวกับงานพลิกหน้าหนังสือ
            เช้านี้.....เป็นวันกล่าวคำลาอีกครั้ง
                 “อยู่มีชัย กินดีอยู่ดี ฮักหลาย ตั้งแต่ได้มาอยู่ในโรงเรียนรู้สึกมีความสุขมาก จนผมไม่อยากกลับเลย” เป็นความรู้สึกของวา นักศึกษาวิทยาลัยชุมชน ปี 1 จังหวัดยะลา เขียนไว้บนแผ่นกระดาษรูปหัวใจสีชมพูฝากไว้แทนใจก่อนจาก