วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

โรงเรียนมีชัยพัฒนากับการเรียนรู้แนวสังคมวัฒนธรรม (Sociocultural Theory)

                                                                                                              

                                                                                                                                    สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน

“เมื่อหลายปีก่อน (2539) มีผู้จุดประกายความฝันของแผ่นดินเกี่ยวกับการศึกษาไว้หลายมิติ หนึ่งในนั้นฝันว่า เราฝันถึงการที่คนไทยหาความรู้ใส่ตัวตลอดชีวิต ตั้งแต่เด็ก ๆ ที่แสวงหาความรู้พื้นฐานเพื่อ ตั้งต้นชีวิต ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่ค่อย ๆ สะสมความรู้มากมายเพื่อ จรรโลงชีวิต ไปจนแก่เฒ่า”

                ลมร้อนของเดือนเมษายนอาจรุกไล่บางผู้คนให้หลบลี้ไปเสียจาก ความซ้ำซากจำเจของระอุไอและพยับแดด....ป่าไม้ ภูเขา ลำธารและทะเล คือภาพคุ้นชินที่พวกเราพานพบ แต่อาจแปลกใหม่ที่บางผู้คนเลือกหลบรู้ คลายร้อนที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ที่นั่นเขามีอะไร..
              ที่นั่นมีศูนย์การเรียนรู้หลักสูตร “อาชีวะพลังงาน ลูกอีสานคืนถิ่น”
                โดยอาจารย์นัน ภักดีและคณะเป็นวิทยากรภายใต้ความร่วมมือกับโรงเรียนมีชัยพัฒนา
                หลักสูตรประกอบด้วย 1) ระบบไฟแสงสว่าง 2) ระบบสูบน้ำ ระยะเวลา 3) รถไฟฟ้า 4) การเจาะน้ำบาดาล 5) การสีข้าวแปรรูปการเกษตร
                แต่ละหลักสูตรมุ่งให้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้พลังงานจากโซล่าเซลล์  ระยะเวลา 15 วัน



                                                           "อาจารย์นัน ภักดี (กลาง) กับทีมงาน"

                “ผมเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ที่มาช่วย ผอ.มีชัย เพราะเห็นว่าท่านทำได้ดีมามากมายแล้ว” อาจารย์นัน ภักดีเล่าถึงการมาปักหลักสร้างศูนย์การเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนมีชัยพัฒนา
                “เมื่อก่อนผมทำกิจกรรมแบบนี้โดยเริ่มจาก ความคิดเล็ก ๆ ที่จะนำความรู้ที่มีไปช่วยผู้อื่น ทีละเล็กทีละน้อย จนขยายมาเป็นกลุ่มใหญ่อย่างเช่นทุกวันนี้ ทุกอย่างก็ต้องเริ่มต้นจากเล็ก ๆ” อาจารย์นันท์เล่าเรื่องที่มาของกิจกรรม
                “แรก ๆ ก็บอกข่าวกันทางจดหมาย ประกาศทางวิทยุ เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีเฟสบุ๊คเหมือนทุกวันนี้” อาจารย์นันท์เล่าถึงการแจ้งข่าวให้ผู้สนใจเรียนก่อนที่ยุคอินเตอร์เน็ตจะเติบโต
                “หลักการของผมคือสอนโดยใช้งานเป็นฐานการสร้างความรู้ เมื่อเรียนจบก็ได้ทั้งความรู้และมีผลงานเกิดขึ้น”  อาจารย์นัน เล่าถึงรูปแบบการสอน
                “ต้องการให้คนเรียนรู้พึ่งตนเองได้ ขยายความรู้ อยู่อย่างพอเพียง นั่นคือ ความสงบ พอเพียงก็คือ สงบ สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี”  อาจารย์ขยายความแนวปรัชญาการจัดการเรียนรู้
                “ทำแล้ววาง วางใจ ไม่ยึดติด สิ่งของที่เกิดจากการเรียนและการทำงาน ทำเสร็จแล้วก็ไม่ยึดติดว่า เป็นของตนเอง ก็วางไว้เป็นของผู้อื่น”
                “ผมไม่เคยขาดเงิน เพราะมีคนช่วยตลอด ให้ตลอด ทุกอย่างมีคนให้ เพราะการให้มันเป็นเช่นนั้นเอง  เราทำเหตุให้ดี ผลมันจะดี ผมเน้นช่วยวัด จึงเห็นพระมาช่วยเป็นวิทยากรด้วย สอนทำต้องรู้ธรรมครูอาสา 7-10 คน เขามาช่วยก็ไม่ได้บอก พวกเขารู้ เขาก็มาช่วย”
                หลักสูตรอาชีวะพลังงาน ลูกอีสานคืนถิ่นในครั้งนี้ มีผู้สมัครเรียนผ่านเฟสบุ๊คจากที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวน  54คน มีทุกเพศ ทุกวัย



                                               "ลุงฐิติพงค์ พูลสวัสดิ์กับไฟฉุกเฉินไปช่วยเนปาล"

               ฐิติพงค์ พูลสวัสดิ์ อายุ 59 ปี อาชีพทำไร่และทำบ้านเช่า ชาวกาญจนบุรี หนึ่งในผู้สนใจที่สมัครเข้ามาเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้
             “ผมมาที่นี่เป็นครั้งที่สองแล้ว ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไร ไม่มีความรู้มาก่อนเลย ได้ดูตามเฟสเห็นโครงการนี้เลยมา มาคราวนี้ได้ดูแผงโซล่าหันตามตะวัน และการเจาะบ่อบาดาล”  ลุงฐิติพงค์ เล่าถึงที่มาของตัวเอง
            “ได้ประโยชน์มากครับ ที่บ้านเช่าค่ำลงผมก็ใช้แสงไฟจากโซล่าเซลล์ ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น” ลุงคนเดิมเล่าถึงประโยชน์จากความรู้ที่ได้รับ
             สิ่งที่สังเกตได้จากศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้คือ ทุกคนมีความต้องการในการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของตนเอง ในมุมมองทางทฤษฎีการเรียนรู้ การเรียนรู้แนวนี้เรียกว่า ทฤษฎีการเรียนรู้แนวสังคมวัฒนธรรม (Sociocultural Theory) ทฤษฎีการเรียนรู้แนวสังคมวัฒนธรรม เป็นการขยายการเรียนรู้ไปสู่บริบททางวัฒนธรรม สถาบันและประวัติศาสตร์ของชุมชน จุดเน้นจึงเป็นการสร้างบทบาทของผู้เรียนในการมีส่วนร่วมกับชุมชนทางสังคมและวัฒนธรรม อันเป็นผลจากจิตวิทยาพัฒนาการด้วย (Sarah Scott, AnnemaricPalincsar, 2013)


                            
                                        "พระภิกษุ สามเณร ชาวบ้านทุกเพศวัย ทุกสาขาอาชีพกำลังเรียนรู้
                                                       การต่อแผงโซล่าเซลล์จากการสร้างผลงานจริง"

          เลฟ วีก็อตสกี้ (Lev Vegotsky) กล่าวว่า วิธีการเรียนรู้ตามแนวสังคมวัฒนธรรม (Sociocultural Approaches)เป็นการพึ่งพากันระหว่างบุคคลและสังคมในการร่วมกันสร้างองค์ความรู้ ทุก ๆ บทบาทในการเรียนรู้ของผู้เรียนจะมีการพัฒนาใน  2 ระดับคือ ในระดับสังคมและบุคคล การเรียนรู้ในระดับสังคมจะส่งผลทางจิตวิทยาต่อการเรียนรู้ในตัวบุคคล การเรียนรู้ตามทฤษฎีสังคมวัฒนธรรม ไม่เป็นเฉพาะเรื่องที่ว่า ผู้ใหญ่และเพื่อนจะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของแต่ละคนอย่างไรเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของทัศนคติ ความเชื่อเข้ามามีอิทธิพลต่อวิธีการจัดการเรียนการสอนด้วย  

            ขอบเขตการพัฒนาที่ใกล้ชิดกัน (The Zone of Proximal Development) แนวคิดสำคัญของทฤษฎีสังคมวัฒนธรรมคือ เรื่องของการกำหนดขอบเขตการพัฒนาที่ใกล้ชิดกัน ระหว่างวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละคนกับการพัฒนาศักยภาพเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวภายใต้การแนะนำของผู้รู้เช่นผู้ใหญ่หรือเพื่อน ๆ ในเรื่อง ความรู้และทักษะ ต่าง ๆ ที่แต่ละคนยังไม่เข้าใจหรือทำด้วยตัวเองยังไม่ได้ เป็นการพัฒนาการเรียนรู้โดยการแนะนำจากผู้อื่นโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการสังเกต เลียนแบบและดูตัวแบบ (Model)

                                      
                                                  "รถยนต์บรรทุกพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ในโรงเรียน"

           “สิ่งที่พวกเราทำและแบ่งปันมาแล้ว เช่น การนำผลิตภัณฑ์โซล่าเซลล์ไปบริจาควัดในเชียงราย เมื่อคราวที่เกิดแผ่นดินไหว ตอนนี้เกิดที่เนปาล พวกเรากำลังทำไฟฉุกเฉิน ส่งไปช่วยโดยจะบริจาคผ่านสถานฑูต ขณะนี้ก็แจ้งข่าวทางเฟสบุ๊คอยู่” อาจารย์นันเล่าถึงการแบ่งปันสังคมในระยะที่ผ่านมาและกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้

             “ก่อนหน้านี้ผมทำมาหมดแล้วเกี่ยวกับอาชีพการงาน มีฐานะ มีเงิน มีเกียรติ แต่สรุปแล้ว ไม่มีอะไรดีเท่าทำงานรับใช้แผ่นดิน” อาจารย์นัน สรุป


หมายเหตุ  Lev Vygotsky เป็นนักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ได้เสนอทฤษฎีการพัฒนาสติปัญญาให้สูงขึ้นในตัวของเด็กด้วยการทำกิจกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม

วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

สิ่งสำคัญสูงสุดที่ครูใหญ่ควรทำก่อน (Top Things a First Year School Principal Should Do)





                                                                                               Derrick Meador: เขียน
                                                                                                         สุริยา เผือกพันธ์ : แปลและเรียบเรียง


           “เมื่อท่านไม่รู้ว่าจะทำอะไรหรือหันไปทางใด จงยิ้มไว้ก่อน นี่จะเป็นการผ่อนคลายจิตใจของท่านแล้วปล่อยให้แสงตะวันแห่งความสุขส่องเข้าไปถึงดวงวิญญาณของท่าน” (นโปเลียน ฮิลล์)


           ข่าวคราวเรื่องกระทรวงศึกษาธิการจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดสรรครู (เมษายน 2558) ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนใหม่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ สิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้บริหารโรงเรียนควรทำอะไรก่อนเมื่อมีโอกาสไปดำรงตำแหน่งหัวเรือในสถานศึกษา ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำจาก เดอร์ริค มีเดอร์ (Derrick Meador) ผู้บริหารโรงเรียนและในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนผู้หนึ่ง

           1. รู้ความต้องการของผู้บริหารระดับสูง มันเป็นเรื่องสำคัญของคนที่จะเป็นครูใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ จะต้องรู้ว่ามีเรื่องใดบ้างที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน คุณจะต้องรู้ถึงความต้องการของพวกเขาเสมอ เขาเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง อะไรที่พวกเขาต้องการ เราก็ต้องทำ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขา เพื่อที่จะทำให้คุณเป็นครูใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ

           2. มีแผนการทำงาน เพื่อประโยชน์ของโรงเรียน ไม่มีทางอื่นเลย แม้คุณจะคิดว่าคุณรู้ดีว่ามีอะไรบ้างที่ต้องทำ มันสำคัญกว่าภาพในจินตนาการ มันเป็นทางเดียวที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการกำหนดภารกิจต่าง ๆ ไว้ในแผน ด้วยว่ามันจะทำให้คุณมีความพร้อมในการทำงาน จะทำให้รู้ถึงสิ่งที่คุณจะทำล่วงหน้า การจัดลำดับความสำคัญของงานก็เป็นเรื่องที่จำเป็น ทำบัญชีเพื่อตรวจสอบงานทุกอย่างที่คุณจะทำ จัดตารางเวลาก่อนหลัง เพื่อเดินทางไปสู่ความสำเร็จ บริหารเวลาในตอนที่ไม่มีนักเรียนอยู่รายรอบมาทำงาน เพราะว่ามันเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจาก ตารางการทำงานในแต่ละวันจะไม่เหมือนกัน


           3. การจัดรูปองค์กร องค์กรคือ กุญแจสำคัญ คุณไม่มีทางจะเป็นครูใหญ่ที่ประสบความสำเร็จได้เลย ถ้าคุณไม่มีทักษะการจัดองค์กร มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานทุก ๆ งาน ที่คุณสร้างขึ้นมาเพื่อกระจายให้คนอื่น ๆ มีส่วนร่วมทำ ไม่ใช่ทำด้วยตัวคุณเองเท่านั้น งานแต่ละงานคุณต้องเป็นผู้นำในองค์กรและให้การสนับสนุนเพื่อนร่วมงาน ถ้าไม่มีองค์กรงานในโรงเรียนจะสับสนอลหม่าน มีเพียงผู้นำในตำแหน่งคนเดียว อาจจะนำความเสียหายไปสู่องค์กรได้

           4. รู้เรื่องการสอนในโรงเรียน สิ่งนี้อาจทำให้คุณเป็นหรือไม่เป็นครูใหญ่ได้ ครูไม่ได้เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดทุกคน จึงอาจมีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น จงใช้เวลาเพื่อศึกษาเรียนรู้แต่ละคนว่า พวกเขามีความคาดหวังอะไรจากคุณ และให้เขารู้ความคาดหวังของคุณเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์ในทำงานร่วมกัน เว้นเสียแต่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำสิ่งนี้

           5. รู้จักเพื่อนร่วมงานที่ให้การสนับสนุน พวกเขาเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการทำงาน ที่ไม่ได้ออกหน้าออกตา แต่มีความสำคัญต่อการทำงานในโรงเรียนมาก เช่น ผู้ช่วยผู้บริหาร ผู้ดูและรักษาความสะอาด ยามรักษาความปลอดภัย และแม่ครัว เป็นต้น จะต้องรู้เรื่องงานที่พวกเขาทำให้กับโรงเรียน รู้ให้มากกว่าคนอื่น ๆ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่คุณจะต้องยอมรับว่าในแต่ละวัน คุณจะต้องทำให้พวกเขาได้ทำงานด้วยความราบรื่น ใช้เวลารู้จักพวกเขา เพราะความเฉลียวฉลาดของพวกเขาประเมินค่ามิได้


           6. แนะนำตัวคุณให้กับคนในชุมชน เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครองและนักเรียนรู้จัก อาจทำโดยไม่ต้องพูด แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อุปถัมภ์ที่ให้ประโยชน์แก่โรงเรียนเหล่านั้น การสร้างความประทับใจครั้งแรกจะเป็นการปูทางไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในโอกาสต่อไป การเป็นครูใหญ่ก็คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุก ๆ คน ไม่เพียงแต่กับครูในโรงเรียนเท่านั้น การได้รับการยอมรับจากชุมชนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือ ครูใหญ่ที่ไม่ได้รับการยอมรับจะไม่สามารถประสบความสำเร็จในการบริหารงาน

           7. เรียนรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีในชุมชน โรงเรียนและชุมชนแต่ละแห่ง มีความแตกต่างกัน มีมาตรฐาน ประเพณี และความต้องการแตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยทำมากันยาวนาน เช่น การจัดงานคริสต์มาส คุณจะได้รับการคัดค้านจากผู้อุปถัมภ์โรงเรียนและจะเกิดปัญหาขึ้นมาแทนที่ ถ้ามันจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่อง คุณจะต้องสอบถามความเห็นจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียนและคนในชุมชนเสียก่อน อธิบายเหตุผลในที่ประชุมและขอความเห็นจากพวกเขาให้ร่วมตัดสินใจ จะทำให้ความผิดพลาดไม่ตกอยู่ในความรับผิดชอบของคุณคนเดียว



           ท้ายสุด จงให้อภัยกับข้อบกพร่องของผู้อื่น หากคุณประสงค์ดังนั้น แต่จงมั่นคงกับหน้าที่รับผิดชอบ หากคุณต้องการบรรลุความเป็นผู้นำในทุกภารกิจที่ได้รับ (นโปเลียน ฮิลล์)


Derrick Meador is a school administrator who values the importance of the Internet on the teaching profession both as an educational tool and a resource.
http://teaching.about.com/od/admin/a/Top-Things-A-First-Year-Principal-Should-Do.htm


วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

ครูใหญ่เยี่ยมยุทธ (What Makes a Great Principal?)




                                                                                                         สุริยา เผือกพันธ์ : แปลและเรียบเรียง

“โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ จะให้ความสำคัญมากกับการส่งเสริมให้ครูได้ทำงานให้ประสบความสำเร็จตามความสามารถที่พวกเขามี

                เราอาจไม่ทราบแน่ชัดว่า อะไรที่จะทำให้เป็นครูใหญ่ที่ดี แต่เราจะรู้แน่นอนในตอนที่มองไม่เห็นใคร หรือไม่ก็ตอนที่คุณได้เป็นครูใหญ่ เป็นครูและเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเสียเอง ต่อไปนี้เป็นหลักการบางอย่างที่ทุกคนต้องการให้ครูใหญ่ของพวกเขามี

                การเป็นเพื่อนร่วมงาน ครูใหญ่ที่ดีจะใช้เวลาเพื่อศึกษาให้รู้เรื่องราวและดูแลเพื่อนร่วมงาน ให้การสนับสนุนส่งเสริม บำรุงรักษาความเป็นอยู่ ในฐานะที่เป็นครูสิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่สำคัญ เรารู้ว่า โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ จะให้ความสำคัญมากกับการส่งเสริมให้ครูได้ทำงานให้ประสบความสำเร็จตามความสามารถที่พวกเขามี ครูใหญ่ที่ดีจะแสดงความตระหนักให้เห็น เพื่อให้ทุกคนได้ทำงานไปด้วยความราบรื่น เมื่อครูใหญ่ให้การยอมรับพวกเขา พวกเขาก็จะยอมรับครูใหญ่ มันเป็นเรื่องสำคัญของโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ

                ต้องใช้เวลาในการสร้างความคุ้นเคยกับสมาชิกของชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียน สร้างความสัมพันธ์กับทุกคน เพื่อทำให้ทุกคนให้ความสนใจที่จะทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จ


                เป็นผู้ที่พบหาได้ง่าย เปิดเผยให้ประชาชนรู้ว่า ครูใหญ่สามารถสร้างความยุติธรรม เห็นอกเห็นใจและตั้งใจรับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ  การรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน นักเรียนและสมาชิกของชุมชน ไม่เพียงแต่จะสร้างความไว้วางใจกับคนทุกคนแต่ยังจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีตรงตามความต้องการของโรงเรียน ความยากลำบากต่าง ๆ จะคลี่คลายด้วยการรับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจและใช้คำพูดที่มีเมตตาธรรม ครูใหญ่ที่ดีควรมีคุณลักษณะอย่างไร

                เป็นผู้นำ ผู้นำที่ดีจะสร้างความมั่นใจในการทำงานให้แก่เพื่อนร่วมงาน ในฐานะที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานที่ประสบความสำเร็จ ครูใหญ่ที่ดีจะมีความรับผิดชอบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวในโรงเรียน พวกเขาคือ ผู้ที่ได้รับการยกย่องที่ทำงานได้ดีและมีการพัฒนาและได้รับการแบ่งปันยุทธวิธีปรับปรุงข้อผิดพลาดต่าง ๆ

                การทำงานแบบจัดรูป การเป็นครูใหญ่ คือผู้คิดถึงประโยชน์ของโรงเรียนด้วยการทำงานอย่างไม่มีวันจบสิ้น แม้บางคนอาจมีเป้าหมายเป็นวัน ๆ แบบฉุกละหุก เพียงเพื่อให้เกิดความสำเร็จในวันต่อวัน (ซึ่งอาจเกิดขึ้นตลอดเวลา) ดังนั้น การวางแผนจัดลำดับความสำคัญของงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งอาจต้องเอางานบางอย่างออกไป เพื่อให้เห็นจุดเน้นในเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ด้วยการบริหารอย่างนี้ ครูใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ จะมีความทันสมัยด้วยวิธีการแบ่งงานให้ผู้ช่วยหรือเลขานุการช่วยบริหารจัดการ ซึ่งแต่ละคนจะมีความสามารถที่แตกต่างกัน

                เป็นตัวอย่างที่ดี ครูใหญ่ต้องการเป็นคนที่ทำงานหนักเพื่อพัฒนาสิ่งต่าง ๆ เขาเป็นคนแรกและคนสุดท้ายที่ต้องทำให้งานประสบความสำเร็จ มีวิธีการมากมายที่จะทำให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตลอดเวลา อาจด้วยการยิ้มทักทายที่หน้าประตูทุกวัน ครูใหญ่ที่ดีจะเป็นผู้ที่ช่วยทำให้อารมณ์ไม่ดีของนักเรียนได้ลดน้อยลงไปในทุก ๆ สถานการณ์ การรู้ถึงซึ้งถึงชีวิตของนักเรียนบางคนสามรถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียนด้วยที่เขารู้สึกว่า มีครูใหญ่อยู่เคียงข้าง



                การมีทัศนคติเชิงบวกของครูใหญ่ จะทำให้นักเรียนรักในสิ่งที่พวกเขาทำและเป็นการสร้างบรรยากาศให้กับคนที่อยู่รายรอบ ให้ทุกคนเข้าไปร่วมงานเพิ่มมากขึ้น เช่น

                                มีความยุติธรรมและเป็นเสมอต้นเสมอปลาย ครูใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ จะสร้างและบอกนโยบายของโรงเรียน ไม่มีอะไรที่จะทำให้ความไม่น่าเชื่อถือเกิดขึ้นได้เร็วเท่ากับการไม่คงเส้นคงวาในการแก้ปัญหาที่คล้าย ๆ กัน แน่นอนว่าถ้าเป็นเช่นนั้น คนจะต้องมีความสงสัยในความไม่มีหลักมีเกณฑ์ ซึ่งจะต้องอธิบายให้กับคนที่ตั้งข้อสงสัยนั้นอยู่ไม่วาย

                                มีวิสัยทัศน์ ที่คิดใหญ่และคิดดี การศึกษาคือ การวิวัฒน์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ในทุกวันนี้จึงดูเหมือนว่ามันก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก ล่าสุดการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการสอนให้เรียนรู้การสร้างนวัตกรรม เป็นสิ่งที่สำคัญในโรงเรียน การพัฒนาให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายนี้ นอกจากนักเรียนและครูมีจะความตื่นเต้นแล้วยังทำให้ครูใหญ่มีความภาคภูมิใจอีกด้วย

                การเป็นครูใหญ่ที่ดี เป็นสิ่งที่ท้าทาย ที่ต้องการความสามารถพิเศษที่หลากหลายและต้องเผชิญหน้ากับหลายสิ่งหลายอย่างที่จะทำให้มันประสบความสำเร็จ ซึ่งจะทำให้เกิดความเครียดและต้องใช้เวลามาก การให้ความสำคัญในจุดเน้นที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น จะสามารถทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามในแต่ละวันที่สิ้นสุดลง จุดประสงค์หลักของครูใหญ่คือ ต้องทำให้นักเรียนมีความสำเร็จในเรื่องวิชาการ เป็นผู้สุขภาพดีและมีความปลอดภัย

                คุณมีประสบการณ์อะไรที่ทำให้คุณเป็นครูใหญ่ที่เยี่ยมยุทธ กรุณาเล่าให้เราฟัง





วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2558

นักเรียนเรียนรู้อย่างไร

                                                                                                              

                                                                                          Kurt W. Fischer and L, Todd Rose : เขียน
                                                                                                        สุริยา เผือกพันธ์ : แปลและเรียบเรียง


                      "ธรรมดานักเรียนจะแสดงให้เห็นถึงขอบข่ายการเรียนรู้ที่เป็นกิ่งก้านสาขาและมีการเชื่อมโยงคล้าย ๆ กันได้ดีเท่า ๆ กับการเริ่มต้นและจบลงที่คล้ายกัน องค์ประกอบเหล่านี้ไม่มีให้เห็นในการเรียนรู้ในรูปแบบมิติเดียวแบบขั้นบันได ซึ่งผลักดันนักเรียนทุกคนเข้าสู่รูปแบบที่เข้มงวดแบบเดียวกัน (One size fits all)"


คำสำคัญเครือข่ายทักษะการเรียนรู้ (Webs of Skill), การวิเคราะห์พลวัต (Dynamic Analysis) วิธีการพลวัต (Dynamic Approach)

                คลาร่า (Clara) และสก๊อต (Scott) วัย ขวบเป็นเด็กเฉลียวฉลาด ที่มีความกระตือรือร้นอยากจะอ่านหนังสือให้คล่อง แต่ทั้งสองมีความแตกต่างกันมากในเรื่องทักษะที่เรียนรู้มาจากพ่อแม่ คลาร่า อ่านคำว่า “dog” “black” และ “Waffle” (ได้ดีเท่ากับคำอื่น ๆ อีกหลายคำ) อ่านอย่างมีจังหวะ ออกเสียงอักขระเพื่อเปล่งเสียงเป็นคำ ๆ ได้ ส่วนสก๊อต ก็อ่านคำเหล่านั้นได้ด้วยเช่นกัน แต่ติดขัดในเรื่องการใช้จังหวะและการออกเสียง โดยเฉพาะคำว่า “black” และ “Waffle” แต่สก๊อตมีพัฒนาการดี เมื่อได้รับการช่วยเหลือจากครู ครูนำเอาคำว่า “black”  มาให้อ่านออกเสียงเป็นจังหวะ ซึ่งสก๊อตอ่านได้ดีในขณะนั้น แต่อีกสองสามนาทีต่อมาเขากลับอ่านติด ๆ ขัด ๆ

                เพื่อทำความเข้าใจและอธิบายเกี่ยวกับตัวแปรที่มีผลต่อการเรียนรู้และการพัฒนา เราต้องค้นหารูปแบบที่อยู่เบื้องหลังการเรียนรู้ของคลาร่าและสก๊อต นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้รูปแบบเพื่ออธิบายความสลับซับซ้อนของภารกิจที่เผชิญหน้าอยู่ให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ส่วนใหญ่เน้นไปที่ปัจจัยเชิงเดี่ยวในการอธิบาย     ตัวแปรเกี่ยวกับรูปแบบ การกล่าวถึงความเฉลียวฉลาด ขั้นตอนการพัฒนาหรือปทัสถานในการพัฒนา คลาร่าดูจะฉลาดกว่าสก๊อต หรือคลาร่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าสก๊อตหรือสก๊อตมีปทัสถานที่ต่ำกว่าเกณฑ์และคลาร่าอยู่ในเกณฑ์ตามปทัสถาน แต่ทำไม เมื่อสก๊อตอยู่กับครูเขาจึงเรียนรู้ได้ดี อาจมีปัจจัยที่มากกว่าหนึ่งปัจจัยที่เป็นเหมือนบันไดไต่ไปสู่การสร้างสมรรถนะ การมีความรู้และสติปัญญาได้เพิ่มขึ้น

                ในฐานะนักวิจัย ครูและพ่อแม่ เรามีความตระหนักอย่างมากและบ่อยครั้งที่นึกถึงความทรงจำอันเจ็บปวดว่า นักเรียนทั้งหมดไม่สามารถไต่ขึ้นไปบนบันไดอันเดียวกันได้ ทักษะทางวิชาการและสังคมของพวกเขาไม่ได้พัฒนาในเวลาเดียวกันหรือด้วยวิธีการอันเดียวกัน แต่พัฒนาด้วยวิธีการที่สลับซับซ้อนและมีความน่าสนใจมากกว่านี้ การวิเคราะห์พลวัต (dynamic analysis) ของคำถามที่ว่า นักเรียนสร้างทักษะการเรียนรู้หรือความเข้าใจในการเรียนที่แตกต่างกันอย่างไร คลาร่าและสก๊อตมีความแตกต่างกันและต่างคนต่างเรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย คำถามมีว่า ตัวแปรที่มีส่งผลต่อการสร้างทักษะการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนได้เกิดขึ้น ในบริบทและสถานะทางอารมณ์และสิ่งที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้นั้นเป็นอย่างไร



การสร้างเครือข่ายในการพัฒนา (Constructive Webs of Development)
                กรอบการทำงานที่เป็นทางเลือกเพื่อทำความเข้าใจการเรียนรู้และการพัฒนาคือ วิธีการที่เป็นพลวัต (dynamic approach) ที่มีส่งผลเหนือกว่าค่าสถิติเพียงตัวเดียว (The static one dimensional ladder) และสร้างแนวความคิดของการสร้างเครือข่ายทักษะการเรียนรู้ (Fischer & Bidell, 1995) ให้มองการเรียนรู้เป็นเหมือนการสร้างพลวัตของเครือข่ายที่สนับสนุนความเข้าใจ รูปแบบการเรียนรู้และพัฒนาในมิติที่มีขอบเขตเล็ก ๆ เป็นการพัฒนาด้านต่าง ๆ  (Domain) ด้วยศักยภาพของทักษะและการบูรณาการทัษะเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น การอ่านคำศัพท์   นักเรียนต้องการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ  ที่มีความแตกต่างกันอย่างน้อย ทักษะคือ ทักษะการดูภาพ เช่น การอ่านและการเขียนอักขระและคำศัพท์ และทักษะการวิเคราะห์เสียง เช่น จังหวะการอ่านออกเสียงคำศัพท์ ตามแนวความคิดของการสร้างเครือข่ายทักษะการเรียนรู้อธิบายว่า นักเรียนสามารถรักษาสภาพการคงที่ของการจำและนำไปสู่การยอมรับรูปแบบของตัวแปรใหม่และหลีกเลี่ยงตัวแปรดั้งเดิม (Classical model)

                นักเรียนสร้างขอบเขตการเรียนรู้ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องในเครือข่ายทักษะการเรียนรู้ของเขา เช่น ภาพและเสียงเพื่อการอ่านคำศัพท์ต่าง ๆ ด้วยทักษะที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของทักษะที่มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ระหว่างด้านต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น จำแนกตัวอักขระของพยัญชนะ ช่วยให้นักเรียนสร้างทักษะของการอ่านและการสะกดคำแต่ละคำ พิจารณาตามขอบเขตในตัวมันเองแล้ว ก็คล้ายกับขั้นบันไดของทักษะการเรียนรู้ในด้านนั้น ๆ อย่างไรก็ตามมันแตกออกเป็นกิ่งก้านสาขาที่เชื่อมไปยังด้านอื่น ๆ ที่มีมากมายหลายด้าน ไม่ใช่มีเพียงจด้านใดด้านหนึ่ง ในการอ่านพยัญชนะ เช่น ภาษาอังกฤษ ผู้อ่านจะเชื่อมโยงทักษะไปยังด้านการดูภาพและการวิเคราะห์เสียง เพื่อการอ่านที่มีประสิทธิภาพ




                การพัฒนาการสร้างทักษะการเรียนรู้ เป็นการรวมเอาทักษะแต่ละด้าน แตกกิ่งก้านสาขาและการเชื่อมโยงกัน ด้วยการทำให้นักเรียนแต่ละคนได้เห็นเครือข่ายการเรียนรู้ดังกล่าว และให้ทราบว่านักเรียนแต่ละคนจะมีเครือข่ายการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ไม่เหมือนการก้าวขึ้นบันไดที่เป็นไปทีละขั้น ๆ  เหตุการณ์และลำดับขั้นของการเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นลำดับก่อนหลัง หรือไม่ก็ไม่ใช่เป็นเหตุการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเป็นภาพรวมทั้งหมด

                ในขณะเดียวกัน บ่อยครั้งที่เครือข่ายการเรียนรู้แสดงออกให้เห็นถึงการจัดลำดับได้เหมือนกัน ธรรมดานักเรียนจะแสดงให้เห็นถึงขอบข่ายการเรียนรู้ที่เป็นกิ่งก้านสาขาและมีการเชื่อมโยงคล้าย ๆ กันได้ดีเท่า ๆ กับการเริ่มต้นและจบลงที่คล้ายกัน องค์ประกอบเหล่านี้ไม่มีให้เห็นในการเรียนรู้ในรูปแบบมิติเดียวแบบขั้นบันได ซึ่งผลักดันนักเรียนทุกคนเข้าสู่รูปแบบที่เข้มงวดแบบเดียวกัน (One size fits all) ความไม่ครอบคลุมพัฒนาการการเรียนรู้นี้ รูปแบบการวิเคราะห์พลวัตของเครือข่ายการเรียนรู้จะเป็นเครื่องมือที่ผลักดันให้ครูได้ทำการพัฒนาสูงกว่าปทัสถานและมีวิธีการสอนให้นักเรียนแต่ละคนอย่างมีประสิทธิภาพ นักเรียนสองคนอยู่ห้องเรียนเดียวกัน เวลามีการทดสอบการปฏิบัติงานอาจมองเห็นคล้ายกัน แต่ความเข้มแข็งและปัญหาของพวกเขาอาจแตกต่างกันได้ เพราะพวกเขามีการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน




                แรก ๆ ของการพัฒนการอ่าน อาจแสดงให้เห็นรูปแบบของตัวแปรการพัฒนาที่เป็นลำดับขั้นได้ ในการศึกษาวิจัยกลุ่มหนึ่งของพวกเราคือ กลุ่มวิจัยพัฒนาพลวัต (Dynamic Development Research Group) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Knight & Fischer, 1992) ในการวิจัยนักเรียนจำนวน 120 คนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1,2,3 อายุระหว่าง 6 – 8 ปี ให้ทำงานเป็นชุดจำนวน ชุดด้วยคำศัพท์ที่มีความคุ้นเคยในบทเรียนที่พวกเขาเรียนในโรงเรียน ภารกิจทั้ง เกี่ยวข้องกับคำศัพท์เดี่ยว ๆ ความหมายของคำ การแจกแจงตัวอักษร จังหวะการอ่าน การอ่านอย่างมีจังหวะ การเรียนรู้การอ่านและวิธีการอ่าน ในการทดสอบการปฏิบัติงานเหล่านี้ พวกเราบ่งชี้การพัฒนาเครือข่ายทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน สำหรับการเรียนรู้การอ่านคำโดด ๆ (Fischer,Knight & Van Parys, 1993) การศึกษาเครือข่ายการเรียนรู้แบบนี้ง่ายกว่าการศึกษาแบบบันไดตัวเดียว เพราะมันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ถ้ามีปฏิบัตงานมากกว่านี้ เครือข่ายทักษะการเรียนรู้อาจขยายขอบข่ายและการเชื่อมโยงกันเพิ่มขึ้นได้อีก
.......................................................................................................................................................................
http://www.ascd.org/publications/educational-leadership/nov01/vol59/num03/Webs-of-Skill@-How-Students-Learn.aspx



วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

เรียนรู้จากสังคม: ทฤษฎีการเรียนรู้สังคมสู่การพัฒนายุทธวิธีการสอน (Keep it Social: Using Social Learning Theory to Improving Instructional Strategies)





                                                                                                                                   Alex Hatcher : เขียน
                                                                                                        สุริยา เผือกพันธ์ : แปลและเรียบเรียง

คำสำคัญ : เรียนรู้จากสังคม, ทฤษฎีการเรียนรู้สังคม (Social Learning Theory), ยุทธวิธีการสอน, กระบวนการทางปัญญา (Cognitive Process)

                ฉันกำลังมาถูกทางและอยากจะพูดว่า การเรียนรู้อยู่ที่สังคม”
                การเรียนรู้ทุกอย่างเกิดขึ้นในบริบททางสังคม หรือไม่ก็สังคมจะเป็นแรงผลักดันหรือเป็นมูลเหตุ   จูงใจให้เห็นแนวทางการจัดการศึกษา เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนและกลุ่มเพื่อน แม้กระทั่งระหว่างนักเรียนกับเนื้อหาวิชาในชั้นเรียน (เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ รูปภาพ คู่มือ วัสดุอุปกรณ์ ฯลฯ ที่ทุกอย่างสร้างและจัดทำโดยมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์ในการส่งข้อมูลจากคนหนึ่งสู่คนอื่น ๆ ) การเรียนรู้ของเราเป็นหีบห่อในบริบททางสังคม และมันมิใช่เป็นเพียงแค่ธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างการเรียนรู้ในสังคมเท่านั้น  แต่มันเป็นความจริงที่การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางปัญญาที่เกิดขึ้นในบริบททางสังคม (Bandura, 1963) ด้วย
            แต่ทุกห้องเรียนไม่ได้มีความเท่าเทียมทางสังคม ห้องเรียนในทุกวันนี้ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะการเรียนแบบซึ่งหน้า (Face-to-Face Classes) แต่ได้กลายเป็นห้องเรียนที่ได้รับการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น ห้องเรียนแบบ MOOCs (Massive Online Open Course) ห้องเรียนแบบผสมผสาน ITV Classesห้องเรียนแบบผสมผสาน Hybrid Classes และการเรียนรู้เฉพาะบุคคล ขณะเดียวกัน การเกิดห้องเรียนที่แตกต่างเหล่านี้ ได้ทำให้ห้องเรียนสามารถสะท้อนสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรม (Socio-Cultural Environment) ที่เกิดประโยชน์และสามารถนำไปช่วยหรือสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมด้วย


ทฤษฎีการเรียนรู้สังคม (Social Learning Theory)
                แต่ขอให้กลับไปที่คำกล่าวครั้งแรกที่ว่า การเรียนรู้อยู่ที่สังคม (Learning is social) ตามทฤษฎีเรียนรู้สังคม การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางปัญญา (Cognitive Process) ที่ใช้บริบททางสังคม ผ่านสังเกตและเรียนรู้ตัวแบบ (Observation and Modeling) เราเรียนโดยการสังเกตพฤติกรรมทั้งที่เป็นด้านบวกและด้านลบของพฤติกรรมนั้น บนพื้นฐานของการสังเกตเราแปลความหมาย (Extracts) ข้อมูลจากการสังเกตพฤติกรรม    นั้น ๆ จากนั้นจึงตัดสินใจยอมรับ โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลหรือตัวแบบ ผู้เรียนแสดงบทบาทในกระบวนการและไม่ได้รับเอาข้อมูลมาอย่างง่าย ๆ แต่เป็นการสะท้อนผลซึ่งกันและกัน ระหว่างพฤติกรรมของผู้เรียนและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาเรียนรู้อยู่
                แบนดูร่า (Bandura 1977) ได้กำหนดสิ่งเร้า 3 ประเภทที่อยู่ในกระบวนเรียนรู้จากการสังเกตและดูตัวแบบ ดังนี้
                1.ตัวแบบชีวิตจริง (Live Model) เป็นตัวแบบที่นักเรียนจะได้เรียนรู้จริง ๆ ไม่เพียงแต่เป็นพฤติกรรมเท่านั้น แต่เป็นการศึกษาทั้งด้านบวกและลบจากพฤติกรรมนั้น ๆ
                2.การพูด (Verbal Instruction) เป็นการสอนเพื่ออธิบายให้นักเรียนได้รู้ถึงรายละเอียดของพฤติกรรมให้ดีเท่า ๆ กับว่า นักเรียนควรจะยึดถือพฤติกรรมนั้น ๆ เป็นแบบอย่างอย่างไร
                3.ตัวแบบเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Model) เป็นตัวแบบที่นักเรียนสามารถสังเกตพฤติกรรมผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ โทรทัศน์ วิทยุและอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
                การบรรยายในห้องเรียนแบบเดิมเป็นตัวอย่างของ สิ่งเร้าแบบการพูด และเพียงแต่นักเรียนอ่านจากสื่อวัสดุก็เป็นการเรียนรู้จากตัวแบบเชิงสัญลักษณ์ แต่มันเป็นวิธีการที่ดีที่สุดแล้วหรือ อาจจะไม่ใช่
                สิ่งเร้า  3 ประเภทนี้เป็นเพียงวิธีการอธิบายเพื่อนำเสนอตัวอย่างการสังเกตแก่นักเรียนของเราเท่านั้น แต่วิธีการทางปัญญาและการศึกษาพฤติกรรมของการเรียนรู้สังคมคือ สิ่งที่สามารถช่วยเรากำหนดจุดหมาย ปลายทางการเรียนรู้ ถ้าเราใช้ยุทธวิธีที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่เราพอใจ



เงื่อนไขของกระบวนการเรียนรู้ทางปัญญาและการศึกษาพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วย

ความตั้งใจ (Attention)
                เรามีความสามารถทำให้นักเรียนมีความตั้งใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือไม่ ถ้าไม่ จะหาตัวแบบพฤติกรรมให้พวกเขาเรียนรู้อย่างไร การหาตัวแบบให้ศึกษาและรักษาความตั้งใจของเขาไว้เป็นหลักการสำคัญ ถ้าปราศจากความตั้งใจพวกเขาก็จะไม่เห็นกับองค์ประกอบของการสังเกตและการเก็บข้อมูล ซึ่งจะเป็นผลต่อการกำหนดแนวทางในการนำพฤติกรรมมาเป็นตัวแบบในการเรียนรู้ของพวกเขา
                ความตั้งใจมีเคล็ดลับดังนี้ 1) ความตั้งใจเกิดขึ้นจากความสมัครใจหรือไม่สมัครใจ 2) ความตั้งใจของคนเรามีข้อจำกัด 3) บ่อยครั้งเรามักใช้การประมาณการว่า เราจะมีความตั้งใจให้ดีได้อย่างไร และในขณะที่เรากำลังทำเพื่อให้เด็กตั้งใจ เรายังต้องแข่งขันกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ เพื่อนของเขา เว็บไซด์บันเทิง หรือแม้กระทั่งความคิดของพวกเขา
                ดังนั้น เราจะเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร วิธีแก้ปัญหาแบบง่าย ๆ อย่างหนึ่งก็คือ ขจัดสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้นักเรียนว้าวุ่นใจเหล่านี้ออกไปเสีย ซึ่งก็ดีพอ ๆ กับการไม่ให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ แต่นี่เป็นวิธีการที่คุณไม่ควรใช้ ควรให้การสนับสนุนนักเรียนได้มีบทบาทในชั้นเรียนและเป็นเจ้าของการเรียนรู้แทน ถามพวกเขาบ่อย ๆ และให้เสนอสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการสังเกตพฤติกรรมของตัวแบบหรือพยายามใช้ทฤษฎี Connectivism Approach (รูปแบบการเรียนรู้ซึ่งเน้นไปที่บริบททางสังคมวัฒนธรรม) ไม่เพียงแต่นักเรียนจะจ่อจ่อและตั้งใจมากขึ้นเท่านั้น คุณควรให้โอกาสพวกเขาสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวพวกเขาเอง เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนอื่น ๆ ด้วย

ความคงทน  (Retention)
                ไม่เพียงแต่ทำให้นักเรียนมีความตั้งใจตามระเบียบกฎเกณฑ์ เพื่อความสำเร็จเท่านั้น แต่พวกเขาต้องการจดจำในสิ่งที่พวกเขาสนใจด้วย และไม่เพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ แต่เราต้องการให้นักเรียนจดจำไปได้ตราบนานเท่านาน หรือติดตัวจนเป็นนิสัย วิธีการบางอย่างที่เราทำให้เด็กมีความตั้งใจ อาจทำให้พวกเขาพัฒนาความคงทนได้ด้วย แต่ต้องเพิ่มเงื่อนไขบ่อย ๆ  เช่น กิจกรรมที่คล้ายกับการทดสอบ การติดตามความก้าวหน้า การเสริมต่อการเรียนรู้ (Scraffolding) จะช่วยให้นักเรียนสามารถจดจำได้



การผลิตซ้ำ ( Reproduction)
                นักเรียนต้องการทำซ้ำ ๆ และแสดงพฤติกรรมที่เขาประสบความสำเร็จตามตัวแบบที่มีประสิทธิภาพ วิธีการนี้ไม่ได้ต้องการให้เกิดขึ้นในขั้นตอนแรก นักเรียนต้องการโอกาสในการใช้ความพยายามด้วย ไม่ว่าความล้มเหลวชั่วคราวหรือการเรียนรู้จากความพยายามนั้น ต่อมาจะได้ใช้บทเรียนในอดีตเรียนรู้เพื่อสร้างความพยายามในอนาคต การแนะนำนักเรียนด้วยวิธีการที่ปลอดภัยในการใช้ความพยายามเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ แต่ไม่เพียงแต่ให้โอกาสในการสร้างความพยายาม เราต้องสะท้อนผลการทำงานเพื่อแสวงหาวิธีการต่าง ๆ มาช่วยนักเรียนของเราให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วย
               
การสร้างแรงจูงใจ (Motivation)
                นักเรียนของเราต้องการเหตุผลที่ดีหรือแรงจูงใจเพื่อทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ ด้วย การเข้าใจสิ่งที่นักเรียนของเราทำได้ในชั้นเรียนทุก ๆ วันสามารถนำมาเป็นเคล็ดลับและเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นความแตกต่างจากนักเรียนคนอื่น ๆ ในฐานะที่เป็นครู ชอบถามนักเรียนว่า อะไรคือ สิ่งที่จูงใจให้พวกเขาอยู่ในห้องเรียนและชอบท้าทายพวกเขาให้คิดเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเป็นผลสะท้อนต่อชีวิตของพวกเขานั้นเป็นอย่างไร ในฐานะที่เป็นครูสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจสิ่งจูงใจนักเรียนของเราได้ดีขึ้น ยุทธวิธีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจที่นำเสนอในตอนต้นและมีการประเมินบ่อย ๆ ด้วยการสะท้อนความคิดเห็นจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างแบบประเมิน Rubric และสร้างแบบฝึกหัดได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง อีกทั้งยังให้ผู้เชี่ยวชาญ ใช้ตรวจสอบทางวิชาการ (Peer- review) ในชั้นเรียนด้วย



                ความเข้าใจในกระบวนการทางปัญญา และความสัมพันธ์กับบริบททางสังคม สามารถช่วยให้เราวางแผนการสอนและสร้างสิ่งแวดล้อมได้ทางสังคมได้ดี มากกว่าส่งนักเรียนเป็นกลุ่มออกไปเฉย ๆ หรือเรียนรู้จากสื่อสังคม อันดับแรกเราต้องถามพวกเราก่อนว่า เราจะใช้กิจกรรมอะไรมาช่วยให้นักเรียนมีความตั้งใจ มีความคงทน ได้ผลิตซ้ำและการจูงใจพวกเขา ขณะเดียวกัน เมื่อเราวางแผนทำกิจกรรมที่จำกัดขอบเขตความสัมพันธ์ทางสังคม เราต้องถามพวกเรา ถึงสิ่งนี้ว่า จะเป็นการช่วยเหลือหรือเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ของนักเรียน
               


Do you have suggestions for activities that help with student attention, retention, reproduction, and motivation? Share them with us in the comments below!

Additional Resources
Bandura, Albert (1963). Social learning and personality development. New York: Holt, Rinehart, and Winston
Bandura, Albert (1977). Social learning theory. Oxford, England: Prentice-Hall.
Miller, Michelle (2014). Minds online: teaching effectively with technology. Cambridge: Harvard University Press.
Share