วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สิทธิและเสรีภาพในโรงเรียน


                                                                     สุริยา เผือกพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา

“ความช่วยเหลือที่มีผลอันยั่งยืนเพียงประการเดียวที่พ่อแม่จะให้แก่ลูกของตนได้นั่นคือ การช่วยให้เขารู้จักช่วยตนเองได้เท่านั้น” (นโปเลียน ฮิลล์)

คำสำคัญ (Key Words): สิทธิ (Right), เสรีภาพ (Liberty), สิทธิเด็ก (Rights of Child), สังคมอารยะ (Civic Society), ประชาธิปไตย (Democracy)

                ข่าวคราวเกี่ยวกับการแสดงออกถึงความต้องการของนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนของตนมีให้เห็นอยู่เสมอ ๆ แต่ละครั้งแต่ละแห่งสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการในระบบโรงเรียนที่มาจากสาเหตุแตกต่างกัน แต่โดยภาพรวมแล้วเป็น ผลกระทบจากระบบประกันคุณภาพด้านสิทธิและเสรีภาพเด็ก ตามหลักการพื้นฐานของสังคมอารยะ (Civil Society)
สิทธิเป็นประโยชน์หรืออำนาจของบุคคลที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองมิให้มีการละเมิด รวมทั้งบังคับการให้เป็นไปตามสิทธิในกรณีที่มีการละเมิดด้วย เช่น สิทธิในครอบครัว สิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในการเลือกอาชีพ ถิ่นที่อยู่ การเดินทาง สิทธิในทรัพย์สิน เป็นต้น
ส่วนเสรีภาพเป็นอำนาจตัดสินใจด้วยตนเองของมนุษย์ที่จะเลือกดำเนินพฤติกรรมของตนเอง โดยไม่มีบุคคลอื่นใดอ้างหรือใช้อำนาจแทรกแซงเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจนั้น และเป็นการตัดสินใจด้วยตนเองที่จะกระทำหรือไม่กระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่การที่ มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแล้วแต่ละคนจะตัดสินใจกระทำการหรือไม่กระทำการสิ่งใดนอกเหนือ นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ย่อมต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสังคม ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรม
สิทธิและเสรีภาพ จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการบ่งชี้ว่า สังคมหรือบ้านเมืองใด มีความสงบสุขมีสันติ มีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

                             
                  "คณะกรรมการต้อนรับผู้เยี่ยมชมโรงเรียน"
วันที่ 20 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2532 องค์การสหประชาชาติประกาศใช้กฎหมายระหว่างประเทศในรูปแบบอนุสัญญาฉบับหนึ่งเรียกว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) เป็น  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมุ่งเน้นให้เป็นข้อตกลงสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิที่มีความเท่าเทียมกันคือ ถือว่าเด็กเป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งมีสิทธิและต้องปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา หรืออื่นใดก็ตาม โดยรัฐภาคีที่เข้าร่วมลงนามต้องให้การยอมรับและคุ้มครองสิทธินี้แก่เด็กทุกคน ในปัจจุบันอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กมีประเทศที่เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีที่ยอมรับหลักการและเข้าร่วมถึง 195 ประเทศ ประเทศไทยเราได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญานี้ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 และมีผลบังคับใช้ในอีกสามเดือนต่อมา อนุสัญญาฉบับนี้ระบุรายละเอียดของสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ไว้ว่าทุกประเทศต้องรับประกันเด็กในประเทศของตน ในเรื่องสิทธิเด็กที่มีเนื้อหาสาระที่สำคัญอยู่ 4 ประการคือ
ประการที่ 1 สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) ประกอบด้วย การได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพ และความปลอดภัยเป็นสิทธิในการมีชีวิตรอด ได้รับโภชนาการที่ดี ได้รับความรักเอาใจใส่จากครอบครัวและสังคม ได้รับการบริการด้านสุขภาพ การให้ทักษะชีวิตที่ถูกต้อง การให้ที่อยู่อาศัยและการเลี้ยงดู
ประการที่ 2 สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development) ประกอบด้วย การมีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม การได้รับการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เข้าถึงข่าวสารที่เหมาะสม เสรีภาพในความคิด มโนธรรมและศาสนา พัฒนาบุคลิกภาพทั้งทางสังคมและจิตใจ พัฒนาสุขภาพร่างกาย
ประการที่ 3 สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection) ประกอบด้วย การให้รอดพ้นจากการทำร้าย การถูกล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้ง และการแสวงประโยชน์ในทุกรูปแบบ การคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด การทำร้าย การกลั่นแกล้งรังแก การถูกทอดทิ้งละเลย การลักพาตัว การใช้แรงงานเด็ก ความยุติธรรมต่อผู้เยาว์ การเอารัดเอาเปรียบทางเพศ
ประการที่ 4 สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม (Right of Participation) ประกอบด้วย การแสดงความคิดเห็น แสดงออก การมีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง เสรีภาพในการติดต่อข่าวสารข้อมูล การมีบทบาทในชุมชน


                                           "คณะดนตรี กีฬาและศาสนา"

โรงเรียนมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการในเรื่องระบบประกันคุณภาพด้านสิทธิและเสรีภาพเด็กในโรงเรียนด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยและความเป็นผู้นำในโรงเรียน ซึ่งสนับสนุนให้นักเรียนได้มีกิจกรรมการเรียนรู้ตามกระบวนการประชาธิปไตยด้วยการปฏิบัติจริงในรูปแบบการเลือกตั้งผู้แทนนักเรียน ให้สิทธิและหน้าที่เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปของคณะกรรมการ โดยเริ่มจากการเลือกตั้งคณะหัวหน้าโรงเรียน (School Captains and Senior Prefects) หัวหน้านักเรียน ม.6 (Prefects) รองหัวหน้านักเรียน ม.6 (Sub-Prefects) ผู้ช่วยหัวหน้านักเรียน ม.5 (Assistant Prefects) นักเรียนจะมีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนโดยผ่านคณะกรรมการต่าง ๆ 26 คณะดังนี้
1) คณะกรรมการจัดซื้อ 2) คณะกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อ 3) คณะกรรมการวิชาการ 4) คณะกรรมการพลังงานทดแทนสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ 5) คณะกรรมการผู้ปกครองสัมพันธ์และเยี่ยมบ้าน6) คณะกรรมการประสานการทำความดีเพื่อสังคม 7) คณะดนตรี กีฬาและศาสนา 8) คณะกรรมการต้อนรับผู้เยี่ยมชมโรงเรียน จัดกิจกรรมพิเศษและดูแลความสะอาดโดมและห้องน้ำ 9) คณะระเบียบ วินัย ดูแลและพัฒนาพฤติกรรมของนักเรียนและชั่วโมงอิสระและการบ้าน 10) คณะการเกษตรมะนาว ผัก หน่อไม้ 11) คณะการเกษตรไก่ไข่ 12) คณะการเกษตรเห็ด ผักไร้ดิน 13) คณะดูแลโรงอาหาร ครัว สโมสรนักเรียนและห้องน้ำ 14) คณะดูแลหอพักนักเรียนหญิง (ม.1 – 2) และพื้นที่รอบบริเวณหอพักนักเรียนหญิงและคลอง 15) คณะดูแลหอพักนักเรียนหญิง (ม.3 – ม. 4) 16) คณะดูแลหอพักนักเรียนหญิง (ม.5 – ม. 6) 17) คณะดูแลพื้นที่รอบหอพักนักเรียนชายและพื้นที่ศูนย์พัฒนามีชัย 18) คณะดูแลพื้นที่บริเวณรอบห้องเรียน ม. 1- ม. 6 อาคารครู อาคารวิทยาศาสตร์และอาคาร IDEA Center 19) คณะดูแลความสะอาดพื้นที่รอบเสาธงหน้าโรงเรียน อาคาร สำนักงาน อาคารคอมพิวเตอร์ เส้นทางเดินติดรั้วและการมารับส่งนักเรียน 20) คณะดูแลสระว่ายน้ำ 21) คณะประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน 22) คณะดูแลและประสานการบำรุงซ่อมแซม 23) คณะดูแลความปลอดภัย 24) คณะการใช้ภาษาต่างประเทศ25) คณะดูแลสุขภาพและห้องพยาบาล 26) คณะเงินกู้และบัญชีเพื่อธุรกิจของนักเรียน เป็นต้น



โรงเรียนมีความเชื่อว่า สิทธิการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง ผ่านการแสดงความคิดเห็นและมีผู้รับฟัง ร่วมลงมือปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบ เป็นประตูบานแรกที่เปิดไปสู่การมีหลักประกันคุณภาพในเรื่อง สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาและสิทธิที่จะมีชีวิตรอดตามหลักการสิทธิเด็กขั้นพื้นฐานแห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอันเป็นกฎหมายสากล
ทั้งนี้ด้วยความเคารพและปฏิบัติตามหลักกฎหมาย กฎเกณฑ์ของสังคม ระเบียบข้อบังคับของสถาบัน ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมโดยรวม





วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เสียงเพรียกจากหมู่บ้านกับการเรียนรู้ใหม่



                                                                                สุริยา เผือกพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา

ระบบโรงเรียนตามแนวกระแสหลักในระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ แปลกแยกจากสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน แม้มีความพยายามจะให้โรงเรียนสร้างหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นใช้ แต่ที่ผ่านมาไม่เกิดพลังเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม”

                ระบบการศึกษาที่ดึงคนออกจากหมู่บ้าน เป็นการศึกษาที่ขาดความเสมอภาคและความเป็นธรรม เพราะมุ่งผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถให้ไปรับใช้ระบบการผลิตของคนอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วทอดทิ้งคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ระบบการผลิตขาดแคลนความรู้ ทักษะและเทคโนโลยี จนกลายเป็นสังคมที่ล้าหลัง ยากจนและเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ
รูปแบบการเรียนรู้แนวสังคมวัฒนธรรม (Sociocutural Model of Learning) จึงได้เกิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกของระบบการศึกษาอีกทางหนึ่ง แนวคิดแบบสังคมวัฒนธรรมนิยม เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนกุมสภาพการเรียนรู้ด้วยตนเอง ความรู้เกิดจากการตีความของผู้เรียนอันได้มาจากประสบการณ์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้นั้นเป็นพิเศษ การเรียนรู้ที่ดีที่สุดเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติท่ามกลางบริบทนั้น ๆ


   "เรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวัน (Experiential Learning) 

หลักการพื้นฐานของสังคมวัฒนธรรมนิยมคือ เรียนรู้ภาวะวิสัย (Subjective) ด้วยตัวผู้เรียนเอง (Individualistic) เป้าหมายคือ มอบอำนาจการเรียนรู้ (Empowerment) การเรียนรู้โดยอิสระ (Emancipatory Learning) ลงมือปฏิบัติด้วยจิตสำนึกทางสังคมของผู้เรียนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการยอมรับหรือเพียงแค่ทำความเข้าใจสังคม การสร้างความรู้ด้วยตัวเอง เกิดขึ้นได้ดีที่สุดในสิ่งแวดล้อมที่บุคคลเป็นผู้รู้ การเรียนการสอนเกิดจากการลงมือปฏิบัติด้วยตัวของผู้เรียนในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
การเรียนรู้แนวสังคมวัฒนธรรมนิยม ไม่เห็นด้วยกับการเรียนรู้ตามแนวคิดของเปียเจท์ (Piajet) อันเป็นที่รู้กันมาแต่ตั้งเดิมว่า เป็นแนวคิดที่มุ่งเปลี่ยนแปลงความรู้ที่เป็นนามธรรมมาอธิบายให้เป็นรูปธรรม เพราะไม่ให้ความสำคัญกับพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่
 “ระบบโรงเรียนตามแนวกระแสหลักในระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ แปลกแยกจากสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน แม้มีความพยายามจะให้โรงเรียนสร้างหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นใช้ แต่ที่ผ่านมาไม่เกิดพลังเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม”


                             "นักเรียนออกเก็บข้อมูลชุมชนตามแนวการเรียนรู้
         แบบศึกษาจากประสบการณ์ฐานราก (Grounded Experiential Education)" 

การเรียนรู้ต้องการอะไรที่มากกว่าเรื่องที่เราคุ้ยเคย อันประกอบด้วย ความหมาย (Meaningful) ความลึกซึ้งในกระบวนการ (Deeply or Elaborative Processed) การสร้างความรู้ในบริบท (Situated in Context) และการลงรากลึกในวัฒนธรรม การสร้างความรู้ความคิด (Meta cognitive and Personal Knowledge) ด้วยตัวของผู้เรียน
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง (School – Based Integrated Rural Development Project) ของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มีเป้าหมายที่สำคัญคือ ให้โรงเรียนเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชนและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและประชาธิปไตย โรงเรียนเป็นจักรกลในการขับเคลื่อนชุมชน เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม การส่งเสริมศักยภาพชุมชนอย่างยั่งยืนและลดการย้ายถิ่นฐาน โดยการพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียน ส่งเสริมการเป็นผู้นำ เน้นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้รู้จักค้นคว้า มีคุณธรรมและมีจิตสาธารณะ

โรงเรียนมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์เป็นโรงเรียนต้นแบบของโครงการดังกล่าว


                  "รากเหง้าทางประวัติศาสตร์อันเป็นฐานรากของผู้ศึกษาเรียนรู้"

“ผมอยากจะขอบคุณที่ให้เวลาในการพาชมรอบ ๆ โรงเรียน เห็นแรงบันดาลใจในการสร้างแนวความคิดในการจัดการศึกษาที่เป็นที่ต้องการยิ่งในประเทศไทย ผมหวังว่าจะได้ร่วมมือกันในโอกาสข้างหน้า” มิสเตอร์ไบรอัน แมสซิงแฮม เจ้าของศูนย์การเรียนรู้นอกสถานที่จังหวัดเชียงใหม่กล่าว
“ได้มีโอกาสนำนักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาและผู้นำชุมชนมาเรียนรู้การดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนมีชัยพัฒนา ซึ่งรู้สึกประทับใจในสถานที่แห่งนี้ มีบรรยากาศสะอาดร่มรื่น นักเรียนและบุคลากรทุกคนได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ทั้งยังได้เป็นวิทยากรให้ความรู้ต่าง ๆ อย่างหลากหลายอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง ซึ่งพวกเราทุกคนจะได้นำเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป” ผอ.สุทธิพงน์ ทรงศีล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองเตียน จังหวัดสระแก้วหนึ่งในสมาชิกโรงเรียนเครือข่าย School-BIRD กล่าวในโอกาสนำคณะมาศึกษาดูงาน

การเรียนรู้แบบดั้งเดิมที่ยึดวัตถุประสงค์ (Objectivist Model of Learning) เป็นหลัก จะไม่ยอมรับความรู้ที่ผู้เรียนสร้างขึ้นจากสังคมวัฒนธรรมของพวกเขาและพวกเขาได้ใช้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรมนั้นด้วย โดยการนำความรู้ที่สร้างขึ้นมาอธิบายให้เป็นที่ยอมรับของครูและกลุ่มเพื่อนในชั้นเรียน หลักการปฏิบัติของรูปแบบการเรียนรู้แนวสังคมวัฒนธรรมนิยมคือ ผู้เรียนได้เข้าร่วมในสถานการณ์การเรียนรู้ที่ตนเองเป็นเจ้าของ การสอนไม่ได้เกิดจากความรู้ความจริงเพียงมิติเดียว (Single interpretation of Reality)


             "การเรียนรู้แนวสังคมวัฒนธรรม (Sociocutural Model of Learning)"

ถ้าเปรียบเทียบการเรียนรู้กับแนวสรรค์สร้างนิยมและความรู้ความเข้าใจ (Constructivism and Cognitionism) รูปแบบการเรียนรู้แนวสังคมวัฒนธรรมนิยมยังอยู่ในขั้นกำลังเริ่มต้น (Nascent Stage) ทั้งการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้
ระบบการศึกษาที่ใช้สถาบันการศึกษาเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ ทักษะและเจตคติแก่ผู้เรียนเพื่อให้ออกไปเป็นกำลังการผลิตในระบบเศรษฐกิจกระแสหลักเป็นสำคัญ สถาบันเหล่านี้จึงแปลกแยกจากชุมชน ดำเนินกิจการอย่างโดดเดี่ยวโดยลำพัง คนในหมู่บ้านไม่ได้รับผลจากการจัดการศึกษา ความไม่เสมอภาคและเป็นธรรมเช่นนี้ ถ้าระบบโรงเรียนไม่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ก็คงหวังไม่ได้ว่า ความยากจน ล้าหลังและภัยโรคาจะหมดไปจากหมู่บ้าน


วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ดอกไม้ที่กำลังบาน




                                                                                สุริยา เผือกพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา


"โรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นส่วนผสมระหว่างสมาคม ฯ กับบริษัทพัฒนาประชากรจำกัด มูลนิธิมีชัยพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมฯ ที่ริเริ่มทำการทดลองศึกษาค้นคว้าแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ ๆ และเมื่อประสบความสำเร็จ สามารถนำไปดำเนินการและขยายผลต่อไปได้ "


นอกจากคำสำคัญ (Key words) ต่าง ๆ ที่ปรากฏให้ได้เห็นเพื่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงแนวคิดปรัชญาการบริหารจัดการโรงเรียนแล้ว รูปแบบการเรียนรู้ (Learning Module) ของนักเรียนรวมทั้งวิธีการทำงานของครูในโรงเรียนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ได้รับรู้และเข้าใจถึงการเรียนรู้แนวใหม่ (New Learning)
ทุก ๆ สัปดาห์ในรอบหนึ่งเดือนจะมีคณะศึกษาดูงานเข้ามาเยี่ยมโรงเรียนไม่มากก็น้อย กลุ่มคนเหล่านั้นเดินทางมาจากที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น สิ่งแรกที่ได้เห็นความแตกต่างจากโรงเรียนทั่ว ๆไปคือ ห้องเรียนแบบเดิมที่จำกัดด้วยกำแพงสี่ด้านและการถูกกักขังด้วยตารางเวลา (Bounded by four walls of the classroom and cells of the timetable) ได้กลายมาเป็นการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดพื้นที่และเวลาที่ตายตัว รวมทั้งการเรียนรู้มีอยู่ทั่วไปด้วย (Ubiquitous Learning)
ครูและนักเรียนต้องร่วมกันวางแผนให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลตามวัตถุประสงค์ของคณะที่มาศึกษาดูงานที่มีจำนวนตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อย การแสวงหาความรู้ตลอดจนวิธีการนำเสนอของนักเรียนเป็นการเรียนรู้แนวใหม่ (New Learning) ที่นักเรียนเผชิญในแต่ละสถานการณ์ ด้วยการเรียนรู้แบบเป็นฝ่ายรุก (Active Knowledge Making) ที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้และออกแบบวิธีการในการนำเสนอองค์ความรู้นั้น ๆ ต่างจากการเรียนรู้แบบเดิมที่นักเรียนเป็นฝ่ายรับ (Passive Knowledge Consumption) ที่ผู้เรียนเป็นผู้บริโภคความรู้ ดูดซับและทำซ้ำ ๆ ตามตำราอย่างเดียว


ดังนั้น ห้องเรียนแบบเดิมที่ถูกจำกัดจึงแปรสภาพมาเป็นห้องเรียนที่อยู่ในสถานการณ์จริง (Real World Experience) ที่ทุกคนได้เรียนรู้บนพื้นฐานของความสนใจและความรับผิดชอบในภาระหน้าที่ที่ตนมีในวันนั้น ๆ (Differentiated Learning) ได้มีความสัมพันธ์กับกลุ่ม (Collaboration Intelligence) ไม่เป็นระบบตัวคนเดียว (Individualized) ผู้เรียนได้เรียนรู้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ตนเองเผชิญในสนามการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนแบบเดิมที่ทุกคนต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบเดียวกัน (Homogenizing) ด้วยวิธีการสอนแบบเดียวเพื่อคนทุกคน (One size fits all) ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าและปีแล้วปีเล่า
ไม่เพียงแต่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น แหล่งเรียนรู้อื่น ๆ นอกโรงเรียนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่นักเรียนออกไปแสวงหาอยู่เสมอ
“พวกเราได้รับประสบการณ์ที่น่าอัศจรรย์มากในโรงเรียนที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ในบรรยากาศที่ให้การต้อนรับทุก ๆ คน ในที่ที่ทุกคนรู้สึกว่าได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในช่วงระยะเวลาอันสั้นได้รับความช่วยเหลือและพูดคุยกันด้วยความเข้าใจกับคณะครูและนักเรียน รู้สึกประทับใจที่เห็นการเรียนการสอนที่ฝึกความเป็นผู้นำให้กับนักเรียน รูปแบบการสอนที่จัดขึ้นในโรงเรียนมีชัยพัฒนา ช่วยพัฒนานักเรียนให้มีทักษะภาวะผู้นำและการสื่อสาร” คณะนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Nottingham University ประเทศมาเลเซียกล่าวชื่นชม


“ในนามของประชาชนและคณะคณะครู นักเรียน ผู้บริหารของเทศบาลตำบลเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ต้องขอขอบคุณมูลนิธิมีชัยฯ ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการอบรมและศึกษาดูงาน ณ ศูนย์แห่งนี้และมูลนิธิมีชัยฯ ยังให้การสนับสนุนในเรื่องของความรู้และประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ ตลอดจนในเรื่องของงบประมาณที่จะช่วยเหลือชุมชนในชนบท” นายกเทศมนตรีตำบลเจ้าพระยากล่าวแทนคณะ
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า การจัดการเรียนรู้แนวใหม่ท่ามกลางการจัดการศึกษากระแสหลักที่มุ่งส่งเสริมการแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน จะทำให้นักเรียนมีโอกาสเข้าไปยืนอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในกระแสสังคมเช่นคนทั่ว ๆ ไปหรือไม่
โรงเรียนมีชัยพัฒนา เปิดทำการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มาบัดนี้นักเรียนรุ่นแรกดังกล่าว ซึ่งมีจำนวน 25 คนจะจบหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา2557 นี้แล้ว ขณะนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2558) นักเรียนจำนวน 18 คน สามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าส่วนที่เหลืออีกไม่กี่คนจะมีที่ศึกษาต่อจนครบในโอกาสต่อไป


โรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นส่วนผสมระหว่างสมาคม ฯ กับบริษัทพัฒนาประชากรจำกัด มูลนิธิมีชัยพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมฯ ที่ริเริ่มทำการทดลองศึกษาค้นคว้าแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ ๆ และเมื่อประสบความสำเร็จ สามารถนำไปดำเนินการและขยายผลต่อไปได้ เชื่อว่าเราต้องผสมผสานการศึกษาและการพัฒนาไปด้วยกัน

การปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบนี้เป็นเสมือน “ดอกไม้ที่กำลังบาน”


วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กระจกเงา (Mirror)




                                                                                สุริยา เผือกพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา

 “ถ้าระบบโรงเรียนตามแนวกระแสหลักโดยทั่วไป สอนให้นักเรียนมีความคิดแบบที่ว่า  ต้องการแต่จะชนะ 
แพ้ไม่ได้ไร้ค่า ไม่มีใครเหลียวแล ต้องการเป็นปลาใหญ่ในสังคม เห็นแก่ตัว แข็งกระด้าง ไม่มีน้ำใจให้ผู้อื่น มือใครยาวสาวได้สาวเอา เรายังจะเลือกทางแพร่งนี้หรือไม่”

                สิ่งที่ผมต้องทำในเบื้องต้นในโรงเรียนคือ การทำความเข้าใจตนเอง ด้วยการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตผู้คน ระบบการทำงานและข้อมูลเชิงประจักษ์ต่าง ๆ ตัวหนังสือในโรงเรียนคือ หลักฐานอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงความต้องการ แนวความคิด ลึกไปถึงปรัชญาในการดำเนินชีวิตของสังคมเล็ก ๆ แห่งนี้ว่า มีทิศทางไปทางใด  ผมเห็นคำสำคัญ (Key words) หลายคำ หนึ่งในนั้นที่โดดเด่นที่สุดคือ ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนและสังคม

     ในต้นสัปดาห์แรก ๆ หลังจากที่การเรียนการสอนประจำวันสิ้นสุดลง พวกเรานัดประชุมกันเพื่อมา
ทำความเข้าใจตนเอง สิ่งที่ผมนำเสนอให้ทุกคนได้พินิจร่วมกันคือ แนวคิดที่ผมสืบค้นมาจากอาจารย์    เกียรติวรรณ อมาตยกุล ที่กล่าวถึง การพัฒนาตนและสังคม ว่า โลกของเราเดินทางมาถึงทางสองแพร่ง แพร่งที่หนึ่งคือ ทางเดินที่เป็นกระแสหลักของโลก เออร์วิน ลาสซ์โล (Irvin Laszlo) ได้แบ่งระยะการพัฒนาการของโลกออกเป็นช่วง ๆ ดังนี้ 1) ช่วงริเริ่มที่จะนำไปสู่จุดวิกฤต (1800-1960) การปฏิวัติอุตสาหกรรม ควบคุมธรรมชาติ 2) ช่วงสะสม (1960-2004) สะสมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆมีผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ สังคมมีความสลับซับซ้อน 3) ช่วงหน้าต่างของการตัดสินใจ (2005-2012) สังคมวิกฤตอย่างหนักจากระบบทุนนิยม
     จุดวิกฤตจึงเริ่มตั้งแต่ปี  2012 เป็นต้นมา กล่าวคือ 1) ด้านเศรษฐกิจ กระจายทรัพยากรไม่เป็นธรรม
ช่องว่างคนจน-คนรวยมีมากขึ้น 2) ด้านสังคม ผู้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น เห็นแก่วัตถุมากขึ้น เงินและความร่ำรวยกลายเป็นเป้าหมายของชีวิต ครอบครัวล่มสลาย 3) ด้านระบบนิเวศ ระบบทุนนิยมใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง เผาผลาญเชื้อเพลิงมโหฬาร ทำลายคุณภาพดินด้วยปุ๋ย ใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง ภาวะโลกร้อน เกิดภัยธรรมชาติ

                คำถามที่พวกเราตั้งเป็นโจทย์คือ เราจะเดินหน้าต่อไปหรือหยุดเพื่อมองหาหนทางใหม่ บนความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ของทางสองแพร่ง




                ความเชื่อหนึ่งที่สนับสนุนการพัฒนาโลกตามแนวทางทุนนิยมอันเป็นกระแสหลักคือ  ความเชื่อพื้นฐานที่เชื่อว่า 1) ยกย่องคนที่เข้มแข็งกว่า มีอำนาจมากกว่า 2) ทรัพยากรของโลกใช้ไม่มีวันหมด 3) ส่งเสริมการผลิต การบริโภค การใช้จ่ายอย่างไม่จำกัด 4) เน้นการทำกำไร เอาเปรียบผู้อื่นสูงสุด 5) สรรพสิ่งในจักรวาลแยกส่วน
        อีกความเชื่อหนึ่งที่เป็นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมีความเชื่อพื้นฐานที่เชื่อว่า 1) ยกย่องความเท่า
เทียม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 2) ทรัพยากรมีจำกัดต้องใช้อย่างประหยัด 3) ลดการผลิต การบริโภค การใช้จ่ายของคนในสังคม 4) พึ่งตนเอง ช่วยผู้อื่น กำไรพอควร 5) สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์กัน การพัฒนาสังคม เริ่มจากตัวเราก่อน
                “เริ่มจากตัวเราก่อน”  คือ คำสำคัญที่พวกเราเห็นคล้อยว่า ตรงกับการปฏิรูปโรงเรียนของพวกเรามากที่สุด ที่กล่าวเป็นวลีว่า ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนและสังคม
        อาจารย์เกียรติวรรณ อมาตยกุลอธิบายว่า การพัฒนาตนเองที่เป็นการพัฒนาตามหลักปรัชญา Neo-
humanist เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนเราเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteem) อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ เมื่อคนเราเห็นคุณค่าในตนเองก็จะเห็นคุณค่าของผู้อื่น
                เมื่อคนแต่ละคนที่เห็นคุณค่าในตนเองมาร่วมกันเป็นกลุ่มสังคมก็จะเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ สำคัญที่ว่า พวกเราจะออกแบบสังคมในโรงเรียนของเราอย่างไรที่จะเอื้อต่อการพัฒนาตนเองของนักเรียน ครูและบุคลากรทั้งหมดให้มีความภาคภูมิใจในตนเอง
        ถ้าระบบโรงเรียนตามแนวกระแสหลักโดยทั่วไป สอนให้นักเรียนมีความคิดแบบที่ว่า  ต้องการแต่
จะชนะ แพ้ไม่ได้ไร้ค่า ไม่มีใครเหลียวแล ต้องการเป็นปลาใหญ่ในสังคม เห็นแก่ตัว แข็งกระด้าง ไม่มีน้ำใจให้ผู้อื่น มือใครยาวสาวได้สาวเอา เรายังจะเลือกทางแพร่งนี้หรือไม่
                จากการศึกษางานของอาจารย์เกียรติวรรณ อมาตยกุลทำให้ผมทราบมาว่า อาจารย์ตั้งโรงเรียนสอนนักเรียนตามแนวคิดปรัชญา Neo-humanist ชื่อว่า โรงเรียนอมาตยกุล จึงแสวงหาเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนนั้นว่า สังคมโรงเรียนของพวกเขามีความเป็นอยู่กันอย่างไร


                “5 ปีที่ทำงานที่โรงเรียนนี้มา ผมมีชีวิตที่มีความสุขและได้เห็นความแปลกแตกต่างของโรงเรียนแห่งนี้ว่ามีอะไรที่ไม่ธรรมดาหลายอย่าง ผมมีโอกาสได้อยู่เบื้องหลังและได้เห็นบรรยากาศการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ หลายครั้ง ทำงานที่นี่ผมมีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย เพราะมีเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยการวิ่งและเล่นวอลเล่ย์บอลกับคุณครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนในตอนเย็น ได้ทำโยคะ สมาธิที่โรงเรียนทุกวันอาทิตย์เวลา 9 โมงเช้าถึง 11 โมง เหมือนได้ชาร์ทพลังก่อนเริ่มงานในสัปดาห์ถัดไป คุณครูและเจ้าหน้าที่ทุกคนน่ารัก มีน้ำใจ มีคุณธรรมและเอาใจใส่เด็ก ๆ พูดเพราะกับเด็ก ๆ ผมมีชีวิตอย่างพอเพียงมีความสุข มีเงินเหลือเก็บ เพราะมีค่าใช้จ่ายน้อย อาหารเช้าและกลางวันทานที่โรงเรียน ชุดทำงานก็เป็นสวัสดิการที่โรงเรียนมีให้ ได้ไปเปิดหูเปิดตาในหลายประเทศ มีวันหยุดแบบเต็ม ๆ เพื่อเติมพลังให้ตัวเองปีละ 2 เดือนครึ่ง โดยที่ไม่ต้องมาโรงเรียนแต่ได้รับเงินเดือน แม้เงินเดือนพวกเราจะไม่มากมายเท่าบริษัทเอกชนแต่พวกเราก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับเกรด B+ ทีเดียว ถ้าใครรู้จักกินรู้จักใช้จะมีเงินเหลือเก็บมากมาย” ครูคนหนึ่งในโรงเรียนอมาตยากุลเขียนบอกเล่าถึงสังคมในโรงเรียนของพวกเขา
        การประชุมเพื่อทำความเข้าใจตนเองของพวกเราใช้เวลาร่วมสองชั่วโมง มีประเด็นปัญหาให้ทุก
คนได้กลับไปขบคิด เคี้ยวย่อยคำสำคัญ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม
ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงโลกทั้งด้านในและด้านนอก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รับใช้พึ่งพากันและกัน ในระดับบุคคลระหว่างกายกับจิตและในระดับองค์กร เป็นการพึ่งพากันระหว่างระบบคุณค่าและวัฒนธรรมในองค์กรกับโครงสร้างการบริหารขององค์กรที่เกื้อกูลกันและกันของโลกทั้งสองด้าน



วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

จุดเปลี่ยนแห่งการรู้แจ้ง : การเรียนรู้เกิดจากภายใน



                                                                                 สุริยา เผือกพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา

“กำแพงสูงที่กักขังหน่วงเหนี่ยวอิสรภาพดูแน่นหนาทะมึน แต่กระนั้นอาจดูบางเบากว่ากำแพงแห่งความเกลียดกลัวชิงชังที่มีต่อผู้คนที่ถูกจองจำภายในรั้วรอบอันมิดชิดนั้น

                เปลวแดดแผดรัศมีเหนือกำแพงสูง...ลิบ ๆ ไปในนภากาศ ม่านเมฆกับฟ้าใสส่องสว่างแจ่มจรัส แต่ภายใต้การโอบล้อมของกำแพงยักษ์ ชีวิตของคนวัยอรุณรุ่งกลุ่มหนึ่งกลับมืดมน อิสรภาพถูกจำกัดไว้ด้วยเส้นของกฎเกณฑ์ ซ้ายกำแพง ขวากำแพง เหลี่ยมมุมทรงจัตุรัสคือ ผลิตผลของสถาปนิกผู้ออกแบบเสรีภาพของ คนชายขอบเช่นพวกเขา บ้านหลังใหญ่แต่ไม่มีใครอยากเข้าไปอยู่

                ไกลออกไปบริเวณชานเมือง สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดแห่งหนึ่ง มีเด็กและเยาวชนอยู่ในความควบคุมจำนวน 126 คน เป็นชาย 122 คน หญิง 4 คน ประเภทของความผิดประกอบด้วยฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ร้อยละ 36 ฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน ร้อยละ 29 ฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ร้อยละ 16 ฐานความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนวัตถุระเบิด ร้อยละ 13 ฐานความผิดเกี่ยวกับเพศ ร้อยละ 6


                พายุแห่งความยากจนของครอบครัวที่ล่มสลายในชนบทได้กวาดต้อนผู้คนในวัยแรงงานให้ละทิ้งถิ่นฐานไปแสวงโชคในเมืองใหญ่ ฝากความเหงาว้าเหว่ให้เฝ้าดูแลบุตรหลานและตายาย ขาดโอกาสทางการศึกษา เฉกเช่นคนทั่วไป
                “การได้เข้ามาอยู่ในที่นี้ ทำให้มีเวลาคิดได้ว่า ที่ผ่านมาหลงผิด ติดเพื่อน อยากลอง” เอ เด็กชายต้องคดีเสพและจำหน่ายยาเสพติดบอกความรู้สึก
                “เพียงชั่วระยะเวลาเพียงเสี้ยววินาทีของการกระดิกนิ้วลั่นไก ทำให้ผมต้องเข้ามาอยู่ในนี้อย่างยาวนาน หวนคิดได้ว่าวันเวลาที่ผ่านมาใช้เวลาอย่างไม่เป็นประโยชน์” บี เด็กชายอีกคนที่ต้องคดีพยายามฆ่าย้อนเวลาของตนเอง
                “ไม่รู้ว่าในกระเป๋าที่เพื่อนฝากไว้มีอะไร ระหว่างการนัดกินข้าวกับเพื่อนที่ร้านคาราโอเกะ เพียงชั่วประเดี๋ยวหลังจากที่เพื่อนปลีกตัวไป ตำรวจก็เข้ามาจับ ในกระเป๋ามียา 100 เม็ด” ซี เด็กผู้หญิงต้องคดียาเสพติดกล่าว
                “อยู่กับแฟนในห้องไม่รู้ว่ามียา โดนจับพร้อมแฟน” ดี เด็กหญิงอีกคนที่ถูกจับฐานมียาครอบครองจำนวนมาก


                กำแพงสูงที่กักขังหน่วงเหนี่ยวอิสรภาพดูแน่นหนาทะมึน แต่กระนั้นอาจดูบางเบากว่ากำแพงแห่งความเกลียดกลัวชิงชังที่มีต่อผู้คนที่ถูกจองจำภายในรั้วรอบอันมิดชิดนั้น มีผู้คนมากมายที่แวะเวียนมาดูพวกเขา ราวกับเป็นสิ่งแปลกปลอม ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้พวกเขามีความรู้สึกว่า พวกเขาได้ถูกสังคมผลักไสให้ถอยห่างออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ

                ทว่าพันตรีอริยะ เรืองวาทสาร อดีตครูฝึกนักศึกษาวิชาทหารที่เด็ก ๆ รู้จักกันดีในนามผู้กองยะ  หลังการลาออกจากราชการทหารได้หันมาดูแลเด็ก ๆ ในสถานพินิจแห่งนี้อย่างจริงจัง
                “ผมได้แรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ตรัสถึงเยาวชน ด้วยความห่วงใย ในครั้งที่ผมได้มีโอกาสรับใช้พระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด” ผู้กองยะเล่าถึงที่มาของการตัดสินใจเข้ามาทำงานเกี่ยวกับเยาวชน
                “ก่อนหน้านี้ผมเห็นคนเข้ามาดูเด็กและเยาวชนในสถานพินิจคล้ายกับมาดูสวนสัตว์ มันสะท้อนผลที่ไม่ดีทั้งสองฝ่าย เด็กในนี้ก็จะสงสัยว่ามาดูพวกเขาเหมือนสัตว์ประหลาด ในขณะที่ผู้มาดูก็ไม่ได้เรียนรู้อะไร” ผู้กองยะเล่าถึง การแวะเวียนมาดูงานของผู้คนเมื่อก่อนนั้น
                “ผมจึงนำเด็กและเยาวชนที่อายุใกล้เคียงกัน เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน ให้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ช่องว่างของคนทั้งสองฝ่ายก็จะหายไป คนที่อยู่ข้างในนี้เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวไป ก็ต้องไปอยู่ปะปนกับคนที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมเหล่านี้ ไม่สถานะใดก็สถานะหนึ่งในสังคม พวกเขาจะอยู่ร่วมกันได้เป็นปกติ” ผู้กองยะ เล่าถึงผลในระยะยาวที่จะได้รับจากการทำกิจกรรมของเขา



                “แล้ววันหนึ่ง ก็มีลูกหลานที่เรียนอยู่โรงเรียนมีชัยพัฒนา กับเพื่อนสองสามคนมาบอกว่า อยากทำงานจิตอาสาช่วยเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ผมเลยถามเค้าว่า มีความรู้อะไร” ผู้กองยะเล่าถึงที่มาของกลุ่มจิตอาสาของนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาที่ได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมในวันนี้
                “เด็กตอบว่า ทำกิจกรรมสันทนาการเป็น ผมเลยบอกว่า...เอ้างั้นลองดู” ผู้กองยะบอกอนุญาต
                การมีโอกาสได้เข้าไปทดลองงานของกลุ่มนักเรียนจิตอาสา เป็นการนำร่องประสบการณ์เพื่อขยายผลให้ความดีกระจายไปยังกลุ่มเพื่อน ๆ ในโรงเรียน
                ในวันนี้ “แต๋ม” นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนมีชัยพัฒนา จึงเป็นผู้นำกลุ่ม        จิตอาสา กลุ่มใหญ่จำนวน 27 คน โดยมีครูหน่อยและครูเต๊ก เป็นที่ปรึกษามาทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกันตามจุดประสงค์ของผู้กองยะที่ว่า “ต่างคนต่างได้อะไรจากกันและกัน”
                กิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วย เกม ความรู้เรื่องเอดส์ สันทนาการ มอบหนังสือ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เยี่ยมชมอาคารสถานที่
                หลังกิจกรรมสิ้นสุดลง สมาชิกกลุ่มทุกคนต่างพูดเป็นทำนองเดียวกันว่า “เมื่อก่อนนี้หนูเกลียด กลัว เข้ากลุ่มแรก ๆ หนูยังสั่น แต่พอได้พูดคุยกัน ทำกิจกรรมร่วมกันเสร็จแล้ว หนูกลับรู้สึกสงสารเห็นใจและเลิกเกลียดกลัวพวกเขา
                บ่ายคล้อยของวันอันทรงคุณค่าของกลุ่มจิตอาสาในวันนั้น พวกเขาเดินทางกลับโรงเรียนด้วยความ   อิ่มเอมใจ ทุกคนก้าวผ่านท่าขนถ่ายอวิชชาเชิงสะพานมังกรด้านฝั่งประตูโรงเรียนเพื่อกลับที่พัก ณ ที่ตรงนี้ ที่ที่ได้สร้างจุดเปลี่ยนแห่งการรู้แจ้ง แก่เด็ก ๆ ตามปรัชญาโรงเรียนได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นสาระของการศึกษา
                The more you give, the more you get
                ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม