วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แรงจูงใจสร้างได้ให้เด็กเรียน (Six Ways to Motivate Students to Learn)

                                                                                                         Annie Murphy Paul: เขียน
                                                                                          สุริยา เผือกพันธ์ : แปลและเรียบเรียง



คำสำคัญ: แรงจูงใจ (Motivation), การเรียนรู้ (Learning), หกวิธีการของการสร้างแรงจูงใจ (Six ways of Motivation)


                                   1.สร้างกิจกรรมที่ท้าทาย (Fine – turn the challenge) ที่สุดของการสร้างแรงจูงใจก็เพื่อการเตรียมนักเรียนให้พร้อมที่จะเรียน มันไม่ง่ายเลยเพราะมันเป็นสิ่งที่น่าเบื่อแต่ก็ไม่ยากเกินไปจนเกิดความคับข้องใจ มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยากยิ่งที่จะทำให้นักเรียนอยู่ภายใต้กรอบที่เราต้องการและพัฒนาการเรียนรู้
                                   2.เริ่มต้นด้วยคำถามไม่ใช่คำตอบ (Start with the question, not the answer) การจดจำข้อมูลเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ การค้นพบวิธีการเพื่อไขปริศนา ด้วยการสืบค้นคำตอบด้วยวัสดุอุปกรณ์ ไม่ใช่เป็น fait accompli แต่เป็นคำถามเพื่อการสำรวจค้นหาคำตอบ


                                   3.สนับสนุนให้นักเรียนฝึกฝนตนเองให้ดีที่สุด (Encourage students to beat their personal best) การเรียนรู้บางอย่าง เช่น การจดจำข้อมูลในตาราง หรือรายชื่อหรือข้อเท็จจริง ดูเป็นเรื่องง่ายแต่ไม่น่าสนใจ ควรสนับสนุนให้นักเรียนแข่งขันกับตัวเอง สร้างข้อมูลเส้นฐาน (Baseline) โดยใช้สื่ออุปกรณ์ แล้วหาวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อพัฒนาการเรียนรู้นั้น (อาจดูจากความเร็วหรือความคล่องแคล่วที่เพิ่มขึ้น) ในแต่ละครั้ง
                                   4. แปลงการเรียนรู้นามธรรมให้เป็นรูปธรรม (Connect abstract learning to concrete situations) ศึกษาเรียนรู้จากกรณีศึกษา (Case – study method) ที่มีผลงานมีประสิทธิภาพ เกี่ยวกับงานธุรกิจ การแพทย์และกฎหมาย แล้วนำมาประยุกต์ใช้ด้วยการแปลงนามธรรมและแนวคิดให้เป็นรูปธรรม ด้วยการวางแผนเพื่อใช้ในชีวิตจริง ใช้ระเบียบวิธีเพื่อการวิเคราะห์และสร้างความรู้สึกร่วมในสถานการณ์ที่มีหุ้นส่วนหรือผู้ร่วมงานจริง ๆ


                                   5. สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (Make it Social) การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้หรือให้นักเรียนได้มีโอกาสพบปะผู้คนที่สามารถแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้วยการค้นหาสิ่งที่สนใจหรือมีความสับสน การแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ และเปลี่ยนแปลงบทบาทไปมาระหว่างครูและนักเรียน เป็นกิจกรรมง่าย ๆ เพื่ออธิบาย สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ด้วยเสียงที่ดัง จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจและจดจำได้ดียิ่งขึ้น
                                   6. เข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง (Go deep) แต่ละครั้งที่ได้เรียนรู้ในวิชาต่าง ๆ ครูต้องมีความเข้าใจสาระสำคัญของเนื้อหาวิชาอย่างลึกซึ้ง แล้วออกแบบการเรียนรู้โดยจากจุดหรือชิ้นงานเล็ก ๆ ของผู้เชี่ยวชาญคนใดคนหนึ่ง แล้วใช้สื่ออุปกรณ์ช่วยในการขยายองค์ความรู้ ด้วยการสืบค้นไปหาผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือออกไป อย่างไม่มีขีดจำกัดเท่าที่พวกเขาต้องการที่จะรู้ในสิ่งที่เขาอยากรู้
                                                      ......................................................................


วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เมื่อดวงตาของฉันนั้นมืดมิด (Let there be light)

                                                                                                                      Bryan Walsh เขียน
                                                                                                               สุริยา เผือกพันธ์ แปลและเรียบเรียง


               “คนนับล้านคนในอินเดียตาบอดเพราะต้อกระจก การผ่าตัดง่าย ๆ ช่วยพวกเขาได้ ถ้าพวกเขารู้วิธีการรักษา”

คำสำคัญ : ต้อกระจก (Cataracts), Wonder Work Organization, First Sight Project, Operation

                แอนนิต้าและโซเนีย ซิงห์ (Anita and Sonia Singh) มองไม่เห็นมาแต่กำเนิด เหมือนกับผู้คนอีกนับล้านคนทั่วโลก เด็กหญิงทั้งสองเกิดขึ้นมาพร้อมกับต้อกระจก (congenital cataracts) แสงสว่างในดวงตาเธอถูกขโมยไป โดยมันค่อย ๆ เลือนหายไปจนมืดมิด ต้อกระจกที่มีมาตั้งแต่เกิด จะมีเลนส์ตาขุ่นมัวตั้งแต่คลอดออกมาและกลายเป็นสีขาวขุ่นหรือสีเทาในที่สุด คนที่มีอาการเช่นนี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะเป็นคนตาบอดไปตลอดชีวิต
                ประเทศอินเดียที่แอนนิต้าวัย 9 ขวบและโซเนียวัย 12 ขวบถือกำเนิดมา เป็นประเทศที่มีคนตาบอดประมาณ 12 ล้านคนของคนตาบอดทั่วโลก 39 ล้านคน แต่มีข่าวดีเกี่ยวกับคนที่เป็นต้อกระจกตั้งแต่เกิดคือ สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัดง่าย ๆ ซึ่งแต่ละรายใช้เวลาเพียงเล็กน้อย ประมาณ 15 นาที โดยเสนอให้ทำการผ่าตัดตั้งแต่ผู้ป่วยยังเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่สมองจะสามารถกลับมารับรู้ได้ ในอินเดียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดอย่างน้อยที่สุดต้องประมาณ 300 เหรียญ ซึ่งเป็นเงินที่คนยากจนในชนบทต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะหามาได้เท่านี้ เฉกเช่นแอนนิต้าและโซเนียที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในชนบททางเบงกอลตะวันตก นั่นหมายความว่า สาเหตุจริง ๆ ของการตาบอดของพวกเขาคือ ความยากจน สำหรับครอบครัวของพวกเขา ความพยายามในการดูแลเด็กหญิงสองคนที่ไม่สามารถอยู่ตามลำพังและไปโรงเรียนได้นี้ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้พวกเราหลีกพ้นไปจากวงจรของความยากจนนี้ไปได้


                แต่มีองค์กร NGO ที่ชื่อว่า Wonder Work ได้พยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีสำนักงานอยู่ในนิวยอร์ค ได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นของประเทศที่กำลังพัฒนาให้การอบรมและเงินทุนแก่แพทย์ เพื่อให้สามารถทำการผ่าตัดในระดับพื้นฐานได้ รวมทั้งต้อกระจกนี้ด้วย ความแตกต่างขององค์กรนี้ก็คือ ได้สร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดคนทั่วไป องค์กร Wonder Work นำแอนนิต้าและโซเนียไปพบทีมผ่าตัดที่โรงพยาบาล Vire Kananda Mission Hospital ในเบงกอลตะวันตก ซึ่งสามารถรักษาต้อกระจกของพวกเขา ก่อนที่เด็กทั้งสองจะกลายเป็นคนตาบอดไปตลอดชีวิต ด้วยทุนเพียง 2 – 3 ร้อยดอลล่าร์ก็ทำให้การมองเห็นเป็นของขวัญแก่พวกเขา
                สำหรับโครงการนี้เรียกว่า ครั้งแรกที่มองเห็น (First Sight) ตากล้องเบรนด์ สเตอร์ตัน (Brent Stirton) ได้ติดตามแอนนิต้าและโซเนียจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ไปที่เตียงผ่าตัด เขาเห็นข้อจำกัดจากความสนุกสนานของเด็กที่อยู่ในโลกมืดทั้งสอง เมื่อฝนได้โปรยปรายลงมายังนาข้าว โดยมีพ่อแม่ทำงานอยู่ในท้องนา สเตอร์ตันอาศัยอยู่เป็นเพื่อนกับเด็ก ๆ ในหมู่บ้านตั้งแต่ระยะแรก ๆ ของการรักษา มือของเขาประคองกอดแต่ละคนบนที่นั่งในรถโดยสาร ที่นำเขาวิ่งไปบนถนนมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงของชีวิตและอาศัยอยู่จนระยะหลังการผ่าตัด เมื่อผ้าพันแผลรอบดวงตาของพวกเขาได้เปิดออกมา มันเป็นครั้งแรกที่ความมืดในดวงตาของเด็กหญิงทั้งสองได้หายไป

                ปัญหาความยากจนได้ถูกทดสอบอย่างมากมาย ด้วยความเย็นชาในใจของพวกเราได้หลบหนีไป ความเจ็บปวดจึงบางเบา กลุ่มองค์กร Wonder Work ได้ใช้เงินเพียง 2-3 ร้อยดอลล่าร์มาหักเหชีวิตของคนได้อย่างเห็นแตกต่างกว่าที่เคย หลังจากเด็กทั้งสองได้กลับไปที่พัก 2-3 เดือน พวกเขาคงมองเห็นได้เหมือนคนทั่วไป โดยกล้องของสเตอร์ตันจะเป็นพยานยืนยันว่า แสงแรกแห่งอรุณได้เริ่มขึ้นแล้ว
                                    ……………………………………………………………………

 Bryan Walsh. Let there be Light. Time. Vol.184, No. 15, October 20, 2014.

วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ความบกพร่องในการอ่าน การเรียนรู้และความยากลำบากในการอ่าน (About Reading Disabilities, Learning Disabilities and Difficulties)

                                                                                                               Kathryn Drummond เขียน
                                                                                                   สุริยา เผือกพันธ์ แปลและเรียบเรียง



คำสำคัญ : ความบกพร่องในการอ่าน (Reading Disabilities), ความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities), ความยากลำบากในการอ่าน ( Reading Difficulties)

                เด็กประมาณ 10 ล้านคน มีความยากลำบากในการอ่าน แต่ข่าวดีคือ กว่าร้อยละ 90 ของเด็กเหล่านี้ สามารถเอาชนะความยากลำบากของเขาได้ ถ้าได้รับวิธีการแก้ไขตั้งแต่อายุยังน้อย”

เราสามารถแก้ปัญหาการอ่านตั้งแต่ต้นได้อย่างไร
                สิ่งที่พ่อแม่และครูจะต้องตระหนักเมื่อสงสัยว่าเด็กจะมีปัญหาในการอ่าน โดยไม่ต้องรอว่าจะต้องมีผลการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการก่อนหรือไม่  เพียงแต่เห็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าเด็กมีความยากลำบากในการอ่านก็พอแล้ว คือถ้าเห็นว่าเด็กมีความลำบากในการอ่านอย่างต่อเนื่องนั่นหมายความว่า เด็กมีปัญหาการอ่านแล้ว แต่ถ้าในเด็กกลุ่มใหญ่ (ที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย) ก็ต้องการความช่วยเหลือในการอ่านเช่นกัน
                เมื่อเด็กมีปัญหาในการอ่านหรือถูกระบุว่ามีปัญหาอย่างเป็นทางการแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ
1.             ศึกษาธรรมชาติและวิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้องของนักเรียนที่มีความบกพร่อง
2.             กำหนดเป้าหมายการสอน เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มทักษะให้สูงขึ้น
3.             รวบรวมจุดอ่อนของนักเรียนและสร้างจุดแข็งให้พวกเขา

เมื่อไหร่ที่สงสัยว่าเด็กจะมีปัญหา
                สร้างความตระหนักจากการสังเกตเด็กแต่ละคนอ่านให้ฟัง นักเรียนอนุบาลควรได้รับการตรวจสอบด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าพวกเขาอ่านยากกว่าคนอื่น ในเรื่องการออกเสียง การให้จังหวะจะโคน การอ่านคำศัพท์หรือการเรียนเกี่ยวกับจำนวน พยัญชนะ จำนวนวันในสัปดาห์ สีและรูปร่าง เป็นต้น
                ควรจะได้มีการศึกษาว่าเด็กแต่ละคนเหล่านั้น จะมีเป้าหมายในการพัฒนาอย่างไรที่เหมาะกับวัยวุฒิ อาจศึกษาเพิ่มเติมจากบทความและหนังสือที่เกี่ยวข้อง เช่น Literacy Milestones, Accomplishments in Reading และ Preventing Reading Difficulties in Young Children เป็นต้น ถ้าเห็นเด็กแสดงออกถึงปัญหาบ่อย ๆ ควรนำพวกเขาไปวัดผลความสามรรถในการอ่านและการเรียนรู้
                พึงเรียนรู้ว่า นักเรียนมีอัตราความยากลำบากในการเรียนอย่างไร นักเรียนทุกคนไม่สามารถจะพัฒนาการเรียนรู้ด้วยวิธีการหรืออัตราเดียวกัน แต่การพัฒนาของเด็กส่วนใหญ่ จะไปสิ้นสุดตอนเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่พวกเขาจะอ่านได้อย่างคล่องแคล่วตามความเหมาะสมของการเรียนรู้ สิ่งสำคัญก็คือ มันอาจเป็นไปได้ว่า เด็กจะไม่ได้รับการเรียนรู้วิธีการอ่านที่ถูกต้องมาตั้งแต่อายุยังน้อย จึงทำให้พวกเขามีปัญหาในการอ่าน



เสียงทำให้นักเรียนบางคนมีปัญหาในการอ่านใช่หรือไม่
                มีเด็กบางคนอาจมีพัฒนาการอ่านที่ยากกว่าคนอื่น ๆ มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ครูจะต้องรู้แนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้ เพื่อติดตามและสังเกตปัญหาตั้งแต่ต้น นักเรียนอาจพัฒนาการอ่านด้วยความยากลำบาก ถ้าพวกเขามีพ่อแม่ที่มีประวัติที่มีปัญหาในการอ่านมาก่อน (อ่านเสียงตะกุกตะกัก) ถ้าพวกเขาถูกวินิฉัยด้วยวิธีการเรียนที่ไม่ถูกต้องหรือการฟังบกพร่องมาก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับการอ่านที่ได้รับในระหว่างที่เรียนอยู่ในระดับอนุบาลด้วยเช่นกัน (Snow, Burns, & Griffin, 1998)
บทบาทการเรียนการสอนเมื่อพบปัญหาการอ่าน
                การสอนอ่านที่ดีมีความจำเป็นสำหรับนักเรียนในการเรียนรู้ การอ่านไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและการอ่าน กล่าวว่าประกอบด้วยองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ซึ่งมีความยากลำบากในการวินิจฉัยนักเรียนและค้นหาวิธีการที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายครูต้องมีความเข้มแข็งและมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในทฤษฎีการอ่านและการปฏิบัติ

ความแตกต่างระหว่างความยากลำบากในการอ่านกับความบกพร่องในการอ่าน (Reading difficulties and Reading disabilities)
                เด็กบางคนอาจมีปัญหาในการอ่าน (Reading difficulties) แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าบกพร่อง (Reading disabilities)   เด็กเหล่านี้อาจเป็นเพียงเรียนช้ากว่าเพื่อนเล็กน้อย ต้องใช้เวลามากขึ้นเพื่อเรียนรู้ให้แม่นยำคงที่ พวกเขาอาจต้องการการสอนอ่านเป็นพิเศษมากกว่าที่เคย หรือนักเรียนอาจได้รับการสอนอ่านที่ไม่ถูกวิธีมาก่อน ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม นักเรียนเหล่านี้จะต้องได้รับการดูแลและด้วยความเข้าใจของครูและผู้ปกครองที่จะช่วยให้พวกเขาอ่านได้ตามต้องการ
                นักเรียนบางคนได้รับการวินิจฉัยว่า มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning disabilities) นักเรียนเหล่านี้จะได้รับการศึกษาที่เป็นการศึกษาพิเศษตามกฎหมายเป็นรายคนที่เรียกว่า (Individuals with Disabilities Education Act : IDEA) จากโครงสร้างการบริหารและเป้าหมายการจัดการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า นักเรียนจะต้องมีความสำเร็จตามหลักสูตร Individualized Education Program (IEP) ซึ่งเป็นหลักสูตรพัฒนานักเรียนที่มีความบกพร่องในการเรียนที่มีปัญหาในการอ่าน จากการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญพบว่า ความบกพร่องในการอ่านเกิดขึ้นกับนักเรียนอย่างน้อยร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร (Shaywitz, 2003) อย่างไรก็ตามร้อยละ 4 ของเด็กวัยเรียนได้รับบริหารการศึกษาพิเศษเพื่อความบกพร่องในการอ่าน



โดยทั่วไปความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities) คืออะไร
                คนที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (LD) มีความยากลำบากในการเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะและเนื้อหาทางวิชาการ ความบกพร่องในการเรียนรู้ไม่เกี่ยวกับสติปัญญา (Intelligence) บ่อยครั้งที่พวกเขามีปัญหาเกี่ยวกับสรีระ สมองของบางคนอาจทำให้เรียนรู้ยากกว่าสมองของคนอื่น ๆ  

ความสัมพันธ์ระหว่างความบกพร่องการเรียนรู้ ความยากลำบากในการอ่านและ Dyslexia
                มากกว่าร้อยละ 80 ของความบกพร่องในการเรียนรู้ เป็นผลให้มีปัญหาในการอ่าน ความบกพร่องในการอ่านอาจมีความหมายเดียวกับคำว่า Dyslexia ที่อธิบายถึงความยากลำบากในการเรียนรู้การอ่านที่เด็กดูและเขียนอักษรและจำนวนกลับข้างกัน อย่างไรก็ตามอาจไม่ใช่กรณีนี้เสมอไป แต่อาจเป็นการรวมเอาปัญหาความยากลำบากอื่น ๆ ในการอ่าน บ่อยครั้ง Dyslexia อาจเกิดจากปัญหาการฟังที่เป็นส่วนหนึ่งของภาษาและการอ่านคำคล่องหรืออีกนัยหนึ่ง ปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน

การให้ความช่วยเหลือ
                เมื่อนักเรียนมีความยากลำบากในการอ่าน มันเป็นปัญหาที่ครอบงำครูและเป็นปัญหาทางด้าน อารมณ์ของเด็กและผู้ปกครองด้วย ครูและพ่อแม่สามารถให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาในการอ่าน โดยระบุจุดที่เป็นปัญหาจากธรรมชาติและวิธีการเรียนรู้ที่เป็นปัญหาของนักเรียนแล้ว แก้ปัญหาและพัฒนายกระดับทักษะการอ่านเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของพวกเขาเป็นสำคัญ
                                          ................................................................................................
Kathryn Drummond, Ph.D. is a research analyst at The Access Center, a part of the American Institutes for Research, funded by the U.S. Department of Education Office of Special Education Programs.


วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เกมมีแต่ความสนุกจริงหรือ: ความเข้าใจเกี่ยวกับเกมเพื่อการเรียนรู้ (All Fun & Games? Understanding Learner Outcomes through Educational Games)

                                                                                                                 Kristen Dicerbo เขียน
                                                                                             สุริยา เผือกพันธ์ แปลและเรียบเรียง


คำสำคัญ: เกมเพื่อการศึกษา (Educational Game), เกมเพื่อการค้า (Gamification), การประเมินสิ่งที่มองไม่เห็น (Invisible Assessment), ความร่วมมือ (Collaboration), การแก้ปัญหา (Problem Solving), ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity), การสื่อสาร (Communication)

                หลายปีมาแล้ว การนำเกมมาใช้เพื่อการศึกษาได้รับความสนใจอย่างจริงจังอย่างมากจากครูผู้สอน กล่าวกันว่า เป็นการเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐาน (Game – Based Learning) สำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา โดยกล่าวอ้างถึงประโยชน์จากเกมว่า เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการสอนของครูและทักษะนักเรียน เพื่อการงานอาชีพและการศึกษาต่อในอนาคต เช่น ทักษะความร่วมมือ (Collaboration) การแก้ปัญหา (Problem Solving), ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity), การสื่อสาร (Communication) เป็นต้น
                ไม่บ่อยครั้งนัก ที่จะมีหลักฐานอธิบายถึงการประเมินผลทักษะและความรู้ ความสามรถจากการใช้เกมเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงการที่จะนำเอาแบบทดสอบแบบเลือกตอบตามที่คุ้นเคย มาใช้ประเมินผลการเรียนรู้นักเรียนจากการใช้เกมเป็นสื่อ เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง


การประเมินผลสิ่งที่มองไม่เห็นอันเป็นศักยภาพของเกม (The Potential of Games as Invisible Assessment)
                วิธีการประเมินผลแบบดั้งเดิม ครูมักใช้แบบทดสอบเพื่อประเมินการเรียนรู้และการบริหารห้องเรียน ซึ่งขัดแย้งกับการประเมินผลสิ่งที่มองเห็นพัฒนาการได้ยาก แต่การใช้เทคโนโลยี เพื่อการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนของนักเรียน ด้วยอุปกรณ์เป็นสื่อเป็นวิธีการที่กลมกลืนปราศจากการแทรกแซง เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น (Invisible)
                การปรเมินผลสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น ครู นักเรียนและผู้ปกครองใช้เกมเป็นเครื่องมือในการสะท้อนกระบวนการเรียนรู้ ทำให้คนเหล่านี้ สามารถปรับปรุงความเหมาะสมของเวลาที่ใช้กับวิธีการเรียนการสอนได้ ครูสามารถสร้างรูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียนและวัดประสิทธิภาพด้วยการสังเกตนักเรียนหลาย ๆ ครั้งในเวลาต่าง ๆ กัน โดยที่นักเรียนไม่รู้สึกถูกกดดันและสามารถประเมินผลได้เป็นรายคน
                ในการใช้เกมเพื่อการเรียนการสอน ครูสามารถสังเกตนักเรียนในสถานการณ์ที่นักเรียนทำกิจกรรม ในระหว่างทำกิจกรรมที่หลากหลาย นักเรียนต้องการใช้เวลา ขอความช่วยเหลือ ใช้กระบวนการสื่อสารและอื่น ๆ นอกจากนี้ เกมยังใช้ทดสอบกระบวนการแก้ปัญหาของนักเรียน ไม่ใช้ดูเพียงแค่ผลลัพธ์สุดท้ายเท่านั้น การสังเกตเหล่านี้ สามารถช่วยครูสร้างข้อสรุปเกี่ยวกับความสามารถนักเรียน ทักษะต่าง ๆ และมองเห็นวิธีการ   ใหม่ ๆ ในการประเมินผลตัวปัจจัยต่าง ๆ ที่ข้อสอบแบบเลือกตอบไม่สามารถวัดได้ เช่นทักษะ การแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ ความร่วมมือ ความพยายามและความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
                มันเป็นสิ่งสำคัญที่คำว่า “สิ่งที่มองไม่เห็น” ครูและนักเรียนจะต้องประเมินผลออกมาให้ได้ ไม่ให้เป็นปัญหาในห้องเรียน ไม่เพียงแต่เป็นกฎเกณฑ์ว่า เมื่อเล่นเกมแล้ว ผู้เรียนจะรอแต่ผลสะท้อนและคะแนนเท่านั้น การประเมินผลการเรียนรู้ต้องทำได้มากกว่านี้ ดังนั้น การจัดกิจกรรมการการเรียนรู้ด้วยดิจิตอล เราสามารถได้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและการแนะนำเพื่อนำไปสู่การจัดกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย


เกมหรือการค้า (Game or Gamification)
                อย่างไรก็ตาม ครูจะต้องมีความระมัดระวัง ที่อาจเกิดความสับสนระหว่างเกมเพื่อการศึกษากับเกมเพื่อการค้า โดยทั่วไปคำว่าเกมเพื่อการค้า (Gamification) คือ กระบวนการสร้างความผูกพันกับสินค้าโดยอาศัยกระบวนการคิดภายในเกม ไม่เกี่ยวกับกับคำว่า เกมเพื่อการศึกษา อีกนัยหนึ่ง เกมเพื่อการศึกษาเป็นระบบที่เปลี่ยนส่วนประกอบหนึ่งให้มีผลออกมา (ซึ่งไม่ทราบมาก่อน) เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงส่วนอื่น ๆ ในหลายส่วนของระบบ มันเป็นสิ่งเล็กน้อยที่ไม่มีหลักฐานในการประยุกต์ใช้ แต่มันจะสร้างผลลัพธ์ที่ดีในการเรียนรู้
                เกมเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพ ต้องมีความสมดุลระหว่างจุดมุ่งหมาย การประเมินผลและการเรียนรู้ ซึ่งทั้งหมดมีความสำคัญเท่าเทียมกัน จุดมุ่งหมายมีความสัมพันธ์กับปัจจัยด้านความเพลิดเพลิน การประเมินผลความสามารถและการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นสิ่งที่ครูได้รับประโยชน์จากเกม ทำให้สามารถยกระดับทักษะการสอนและใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ความสมดุลของปัจจัยหลักเหล่านี้ ทำให้เกมมีทั้งความสนุกและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ขณะที่ครูได้ข้อมูลจากการประเมินผลเพื่อพัฒนาแผนการจัดกาเรียนรู้ต่อไป


มองไปที่อนาคต (A Look Toward the Future)
                ในทุกวันนี้ จำนวนเกมคุณภาพที่มีศักยภาพและความสมดุลในปัจจัยเหล่านี้ ได้ใช้เป็นทั้งเครื่องมือการเรียนรู้และประเมินผล อย่างไรก็ตามยังต้องทำงานหนักกันต่อไป เพื่อประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการนำไปบูรณาการการเรียนรู้ ที่ปัจจุบันนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับเกมและเกมการศึกษายังไม่เผยตัวออกมา
                การนำไปทำให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรยังมีน้อย ยังเป็นงานของครูแต่ละคนที่จะไปกำหนดกันเองว่าจะใช้เกมไปบูรณาการในห้องเรียนอย่างไร ด้วยการนำไปบูรณาการกับข้อมูลใน อี-บุ๊ค ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับชั้นเรียนเพื่อพัฒนาคุณลักษณะ ทักษะและความรู้ของนักเรียน
                ในระหว่างที่เกมยังมีความไม่พอดีกับรูปแบบการประเมินผลเช่นทุกวันนี้ นับเป็นโอกาสดีที่จะได้สร้างแรงจูงใจและผูกมัดนักเรียน ขณะเดียวกันจะได้แสวงหาข้อมูลเพื่อสร้างเครื่องมือ นำไปสู่การปรับปรุงแผนการเรียนการสอนของครู ศักยภาพของเกมเพื่อการศึกษาจะเห็นชัดเจนมากขึ้น เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนมีเพิ่มขึ้นและนักพัฒนาเกมได้ทำงานใกล้ชิดกับนักการศึกษาที่เชี่ยวชาญมากขึ้น
ถ้าโรงเรียนและครูสามารถเก็บรวมบรวมหลักฐานจากการใช้เกมและเครื่องมือดิจิตอลของนักเรียนในทุก ๆ วัน เราจะมีศักยภาพในการสร้างรูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ของนักเรียน อีกทั้งยังเป็นการขยายการรับรู้ของเราเพื่อทำความเข้าใจและพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนออกไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย
                .............................................................................................................................
(October 19, 2014)




วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

                                                                                  Kurt W. Fischer and L, Todd Rose เขียน
                                                                                           สุริยา เผือกพันธ์ แปลและเรียบเรียง


คำสำคัญ: เครือข่ายทักษะการเรียนรู้ (Webs of Skill), การวิเคราะห์พลวัต (Dynamic Analysis) วิธีการพลวัต (Dynamic Approach)

                คลาร่า (Clara) และสก๊อต (Scott) วัย 7 ขวบเป็นเด็กเฉลียวฉลาด ที่มีความกระตือรือร้นอยากจะอ่านหนังสือให้คล่อง แต่ทั้งสองมีความแตกต่างกันมากในเรื่องทักษะที่เรียนรู้มาจากพ่อแม่ คลาร่า อ่านคำว่า “dog” “black” และ “Waffle” (ได้ดีเท่ากับคำอื่น ๆ อีกหลายคำ) อ่านอย่างมีจังหวะ ออกเสียงอักขระเพื่อเปล่งเสียงเป็นคำ ๆ ได้ ส่วนสก๊อต ก็อ่านคำเหล่านั้นได้ด้วยเช่นกัน แต่ติดขัดในเรื่องการใช้จังหวะและการออกเสียง โดยเฉพาะคำว่า “black” และ “Waffle” แต่สก๊อตมีพัฒนาการดี เมื่อได้รับการช่วยเหลือจากครู ครูนำเอาคำว่า “black”  มาให้อ่านออกเสียงเป็นจังหวะ ซึ่งสก๊อตอ่านได้ดีในขณะนั้น แต่อีกสองสามนาทีต่อมาเขากลับอ่านติด ๆ ขัด ๆ
                เพื่อทำความเข้าใจและอธิบายเกี่ยวกับตัวแปรที่มีผลต่อการเรียนรู้และการพัฒนา เราต้องค้นหารูปแบบที่อยู่เบื้องหลังการเรียนรู้ของคลาร่าและสก๊อต นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้รูปแบบเพื่ออธิบายความสลับซับซ้อนของภารกิจที่เผชิญหน้าอยู่ให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ส่วนใหญ่เน้นไปที่ปัจจัยเชิงเดี่ยวในการอธิบาย     ตัวแปรเกี่ยวกับรูปแบบ การกล่าวถึงความเฉลียวฉลาด ขั้นตอนการพัฒนาหรือปทัสถานในการพัฒนา คลาร่าดูจะฉลาดกว่าสก๊อต หรือคลาร่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าสก๊อตหรือสก๊อตมีปทัสถานที่ต่ำกว่าเกณฑ์และคลาร่าอยู่ในเกณฑ์ตามปทัสถาน แต่ทำไม เมื่อสก๊อตอยู่กับครูเขาจึงเรียนรู้ได้ดี อาจมีปัจจัยที่มากกว่าหนึ่งปัจจัยที่เป็นเหมือนบันไดไต่ไปสู่การสร้างสมรรถนะ การมีความรู้และสติปัญญาได้เพิ่มขึ้น
                ในฐานะนักวิจัย ครูและพ่อแม่ เรามีความตระหนักอย่างมากและบ่อยครั้งที่นึกถึงความทรงจำอันเจ็บปวดว่า นักเรียนทั้งหมดไม่สามารถไต่ขึ้นไปบนบันไดอันเดียวกันได้ ทักษะทางวิชาการและสังคมของพวกเขาไม่ได้พัฒนาในเวลาเดียวกันหรือด้วยวิธีการอันเดียวกัน แต่พัฒนาด้วยวิธีการที่สลับซับซ้อนและมีความน่าสนใจมากกว่านี้ การวิเคราะห์พลวัต (dynamic analysis) ของคำถามที่ว่า นักเรียนสร้างทักษะการเรียนรู้หรือความเข้าใจในการเรียนที่แตกต่างกันอย่างไร คลาร่าและสก๊อตมีความแตกต่างกันและต่างคนต่างเรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย คำถามมีว่า ตัวแปรที่มีส่งผลต่อการสร้างทักษะการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนได้เกิดขึ้น ในบริบทและสถานะทางอารมณ์และสิ่งที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้นั้นเป็นอย่างไร



การสร้างเครือข่ายในการพัฒนา (Constructive Webs of Development)
                กรอบการทำงานที่เป็นทางเลือกเพื่อทำความเข้าใจการเรียนรู้และการพัฒนาคือ วิธีการที่เป็นพลวัต (dynamic approach) ที่มีส่งผลเหนือกว่าค่าสถิติเพียงตัวเดียว (The static one dimensional ladder) และสร้างแนวความคิดของการสร้างเครือข่ายทักษะการเรียนรู้ (Fischer & Bidell, 1995) ให้มองการเรียนรู้เป็นเหมือนการสร้างพลวัตของเครือข่ายที่สนับสนุนความเข้าใจ รูปแบบการเรียนรู้และพัฒนาในมิติที่มีขอบเขตเล็ก ๆ เป็นการพัฒนาด้านต่าง ๆ  (Domain) ด้วยศักยภาพของทักษะและการบูรณาการทัษะเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น การอ่านคำศัพท์   นักเรียนต้องการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ  ที่มีความแตกต่างกันอย่างน้อย 2 ทักษะคือ ทักษะการดูภาพ เช่น การอ่านและการเขียนอักขระและคำศัพท์ และทักษะการวิเคราะห์เสียง เช่น จังหวะการอ่านออกเสียงคำศัพท์ ตามแนวความคิดของการสร้างเครือข่ายทักษะการเรียนรู้อธิบายว่า นักเรียนสามารถรักษาสภาพการคงที่ของการจำและนำไปสู่การยอมรับรูปแบบของตัวแปรใหม่และหลีกเลี่ยงตัวแปรดั้งเดิม (Classical model)
                นักเรียนสร้างขอบเขตการเรียนรู้ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องในเครือข่ายทักษะการเรียนรู้ของเขา เช่น ภาพและเสียงเพื่อการอ่านคำศัพท์ต่าง ๆ ด้วยทักษะที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของทักษะที่มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ระหว่างด้านต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น จำแนกตัวอักขระของพยัญชนะ ช่วยให้นักเรียนสร้างทักษะของการอ่านและการสะกดคำแต่ละคำ พิจารณาตามขอบเขตในตัวมันเองแล้ว ก็คล้ายกับขั้นบันไดของทักษะการเรียนรู้ในด้านนั้น ๆ อย่างไรก็ตามมันแตกออกเป็นกิ่งก้านสาขาที่เชื่อมไปยังด้านอื่น ๆ ที่มีมากมายหลายด้าน ไม่ใช่มีเพียงจด้านใดด้านหนึ่ง ในการอ่านพยัญชนะ เช่น ภาษาอังกฤษ ผู้อ่านจะเชื่อมโยงทักษะไปยังด้านการดูภาพและการวิเคราะห์เสียง เพื่อการอ่านที่มีประสิทธิภาพ
                การพัฒนาการสร้างทักษะการเรียนรู้ เป็นการรวมเอาทักษะแต่ละด้าน แตกกิ่งก้านสาขาและการเชื่อมโยงกัน ด้วยการทำให้นักเรียนแต่ละคนได้เห็นเครือข่ายการเรียนรู้ดังกล่าว และให้ทราบว่านักเรียนแต่ละคนจะมีเครือข่ายการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ไม่เหมือนการก้าวขึ้นบันไดที่เป็นไปทีละขั้น ๆ  เหตุการณ์และลำดับขั้นของการเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นลำดับก่อนหลัง หรือไม่ก็ไม่ใช่เป็นเหตุการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเป็นภาพรวมทั้งหมด
                ในขณะเดียวกัน บ่อยครั้งที่เครือข่ายการเรียนรู้แสดงออกให้เห็นถึงการจัดลำดับได้เหมือนกัน ธรรมดานักเรียนจะแสดงให้เห็นถึงขอบข่ายการเรียนรู้ที่เป็นกิ่งก้านสาขาและมีการเชื่อมโยงคล้าย ๆ กันได้ดีเท่า ๆ กับการเริ่มต้นและจบลงที่คล้ายกัน องค์ประกอบเหล่านี้ไม่มีให้เห็นในการเรียนรู้ในรูปแบบมิติเดียวแบบขั้นบันได ซึ่งผลักดันนักเรียนทุกคนเข้าสู่รูปแบบที่เข้มงวดแบบเดียวกัน (One size fits all) ความไม่ครอบคลุมพัฒนาการการเรียนรู้นี้ รูปแบบการวิเคราะห์พลวัตของเครือข่ายการเรียนรู้จะเป็นเครื่องมือที่ผลักดันให้ครูได้ทำการพัฒนาสูงกว่าปทัสถานและมีวิธีการสอนให้นักเรียนแต่ละคนอย่างมีประสิทธิภาพ นักเรียนสองคนอยู่ห้องเรียนเดียวกัน เวลามีการทดสอบการปฏิบัติงานอาจมองเห็นคล้ายกัน แต่ความเข้มแข็งและปัญหาของพวกเขาอาจแตกต่างกันได้ เพราะพวกเขามีการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
                แรก ๆ ของการพัฒนการอ่าน อาจแสดงให้เห็นรูปแบบของตัวแปรการพัฒนาที่เป็นลำดับขั้นได้ ในการศึกษาวิจัยกลุ่มหนึ่งของพวกเราคือ กลุ่มวิจัยพัฒนาพลวัต (Dynamic Development Research Group) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Knight & Fischer, 1992) ในการวิจัยนักเรียนจำนวน 120 คนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1,2,3 อายุระหว่าง 6 – 8 ปี ให้ทำงานเป็นชุดจำนวน 6 ชุดด้วยคำศัพท์ที่มีความคุ้นเคยในบทเรียนที่พวกเขาเรียนในโรงเรียน ภารกิจทั้ง 6 เกี่ยวข้องกับคำศัพท์เดี่ยว ๆ ความหมายของคำ การแจกแจงตัวอักษร จังหวะการอ่าน การอ่านอย่างมีจังหวะ การเรียนรู้การอ่านและวิธีการอ่าน ในการทดสอบการปฏิบัติงานเหล่านี้ พวกเราบ่งชี้การพัฒนาเครือข่ายทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน สำหรับการเรียนรู้การอ่านคำโดด ๆ (Fischer,Knight & Van Parys, 1993) การศึกษาเครือข่ายการเรียนรู้แบบนี้ง่ายกว่าการศึกษาแบบบันไดตัวเดียว เพราะมันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ถ้ามีปฏิบัตงานมากกว่านี้ เครือข่ายทักษะการเรียนรู้อาจขยายขอบข่ายและการเชื่อมโยงกันเพิ่มขึ้นได้อีก
                         ...............................................................................................................................
http://www.ascd.org/publications/educational-leadership/nov01/vol59/num03/Webs-of-Skill@-How-Students-Learn.aspx