วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การลดชั้นของศาสตร์อ่อน (Soft Science) : สารพิษตกค้างจากวัตถุวิสัยนิยม (Objectivism)




                                                                                                        สุริยา เผือกพันธ์ เขียน/เรียบเรียง

ทำไม !! อะไร ?? ทำให้ดนตรี ศิลปะและการเต้นรำตกไปอยู่อันดับล่างสุดของการจัดลำดับชั้นทางวิชาการ โดยมีศาสตร์ที่แข็ง (Hard Science) อยู่ชั้นบนสุด นักปฏิรูปการศึกษาพึงตอบ”

คำสำคัญ : ศาสตร์อ่อน (Soft Science), ศาสตร์แข็ง (Hard Science), ธรรมชาติของความรู้ (Epistemological)
มิติการสอน (Perspective on Teaching), วัตถุวิสัย (Objectivism), อัตวิสัย (Subjectivism)

การสอนเป็นศาสตร์และศิลปะ ที่เป็นศิลปะเพราะครูต้องเผชิญหน้ากับผู้เรียนจำนวนมากและมีตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและตัดสินใจอยู่เสมอ ซึ่งโดยปกติครูที่ดีจะมีความชอบที่จะสอนด้วย ดังนั้นอารมณ์และสติปัญญาจึงมีความสำคัญเท่า ๆ กัน ในหลายกรณี ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ครูต้องเข้าใจนักเรียนและเห็นถึงความยากลำบากในการเรียนรู้ของพวกเขา จึงต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพด้วย ในทำนองเดียวกันศาสตร์ของการสอน ต้องอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีและงานวิจัย เราจะเห็นความจริงโดยทั่วไปว่า บ่อยครั้งที่ทฤษฎีมีความไม่ลงรอยกัน ความแตกต่างกันของธรรมชาติของความรู้ (Epistemological) และระบบค่านิยมเป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลง ในหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา เรามีงานวิจัยที่เป็นประโยชน์มากที่อธิบายถึง ทฤษฎีการสอนและการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความเข้มแข็งและเป็นทฤษฎีมีคุณค่าบนพื้นฐานของข้อมูลที่ปราศจากการใช้ความรู้สึก
ในห้องเรียนแบบดั้งเดิม ที่ประกอบด้วยกำแพงสี่ด้าน มีตารางเรียนกำหนดเวลา เป็นพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน แต่ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนได้เปลี่ยนแปลงไปโดยรอบ เพราะการเติบโตทางเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้การเรียนรู้มีอยู่ทั่วไป (Ubiquitous Learning) การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอยากรู้อยากเห็น ห้องเรียนแบบดั้งเดิมไม่อาจตอบสนองการเรียนรู้แบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้การเรียนรู้มีอยู่ทั่วไป (Ubiquitous Learning)"

การเกิดขึ้นของห้องเรียน (The original of the classroom design model) ด้วยสถาบันต่าง ๆ ของเราได้สร้างสรรค์ขึ้นตามยุคตามสมัย  ฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) กล่าวว่า สถาบันนั้นได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อให้ทำหน้าที่ที่สำคัญแก่รัฐ ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความล้มเหลวในการทำหน้าที่ สถาบันจึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะไปตามกาลเวลาและสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป  เราต้องการตรวจสอบรากเหง้าของระบบการศึกษาสมัยใหม่ เพราะว่าการเรียนการสอนในปัจจุบัน ยังได้รับอิทธิพลจากโครงสร้างของสถาบันที่ได้พัฒนามาเมื่อหลายปีมาแล้ว ความต้องการดังกล่าวนี้ ก็เพื่อหาความพอดีของรูปแบบการสอบแบบเดิมที่ยังดำรงอยู่กับยุคสมัยดิจิตัล
มหาวิทยาลัย วิทยาลัยและโรงเรียนในเมืองใหญ่ยังจัดการเรียนการสอนโดยเน้นการพบกลุ่มผู้เรียนและใช้เวลาเป็นกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีในสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ เรายังคงออกแบบการศึกษาตามแบบที่โรงงานเคยครอบงำมาก่อน
ดังนั้น รูปแบบดังกล่าวนี้จึงเหมือนปลาที่ถูกขังอยู่ในอ่างน้ำ ที่ทำได้เพียงการหายใจเพื่อการมีชีวิตอยู่ สิ่งที่ผู้เรียนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เรียนที่ดีในห้องเรียนแบบนี้ก็คือ การอยู่ในห้องเรียนเดิม ๆ เวลาเดิม ๆ เพื่อให้มีเวลาเรียนครบตามกำหนด (เทอมหรือภาคเรียน) เท่านั้น


                                                  “ห้องเรียนแบบดั้งเดิมมีอายุมากว่า 150 ปีแล้ว”

อย่างไรก็ตามรูปแบบการสอนแบบนี้ใช้มากว่า 150 ปีแล้ว ในขณะที่ปัจจุบันธรรมชาติของความรู้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากกาย
แดน แพรตต์ (Dan Pratt, 1998) ได้ศึกษาครูที่สอนผู้ใหญ่จำนวน 253 คนจากประเทศต่าง ๆ และได้อธิบายถึง รูปแบบการสอน 5 มิติคือ
-การสอนแบบถ่ายทอด (Transmission) เนื้อหา (Content) เกี่ยวกับความจริง กฎเกณฑ์ จะเกิดประสิทธิภาพดี เมื่อใช้วิธีการสอนแบบวัตถุวิสัย (Objectivist approach)
-การสอนแบบฝึกงาน (Apprenticeship) การทำตามตัวแบบ (Modeling ways of being) เหมาะสำหรับการเรียนด้วยการปฏิบัติภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
-การสอนแบบพัฒนา (Developmental) การสอนการคิด (Cultivating ways of thinking) เป็นการสอนแบบสรรสร้างและกระบวนการคิด (Constructivist/Cognitivist)
-การสอนแบบอบรมบ่มเพาะ (Nurturing) สนับสนุนให้การเรียนรู้ด้วยตนเองมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น บนพื้นฐานของการประกอบอาชีพโดยเรียนผ่านหลักสูตรออนไลน์ Massive open online course (MOOCs)
-การสอนแนวปฏิรูปสังคม (Social reform) การสอนเพื่อมองหาหรือสร้างสังคมที่ดีกว่า

ในการสอนแต่ละรูปแบบมีความสัมพันธ์กับทฤษฏีการเรียนรู้และเนื้อหาบางเนื้อหาที่แตกต่างกันไป




“นักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาร่วมกันร่างธรรมนูญโรงเรียน การเรียนรู้ชุมชนแบบประชาสังคม เป็นการสร้างพื้นที่ให้กับชุมชนแห่งความจริงได้ฝึกฝนตนเอง”

แต่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แม้เวลาจะผ่านมาหลายปีแล้ว รูปแบบการสอนในยุคบุกเบิกยังคงมีอิทธิพลอยู่อย่างเหนียวแน่นในยุคปัจจุบัน
ปาร์กเกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer, 2557) กล่าวว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในระบบการศึกษานั้น เป็นสิ่งที่แยกครูอาจารย์ออกจากวิชาที่สอนและนักเรียนนักศึกษา เพราะมันหยั่งรากอยู่ในความกลัว รูปแบบดังกล่าวนี้เรียกว่า วัตถุวิสัย (Objectivism) ซึ่งอธิบายว่า ความจริงเป็นสิ่งที่เราเข้าถึงได้ด้วยการแยกตัวเราเองออกจากสิ่งที่อยากรู้ ทั้งร่างกายและอารมณ์ ในโลกของวัตถุวิสัยนิยม อัตวิสัย (Subjectivism) เป็นเรื่องที่น่ากลัว ไม่เพียงเพราะมันทำให้สิ่งต่าง ๆ แปดเปื้อนเท่านั้น แต่เพราะมันสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสิ่งเหล่านั้นด้วย และความสัมพันธ์นี้ก็กำลังแปดเปื้อนด้วยเช่นกัน เมื่อสิ่งหนึ่งมิได้เป็นเพียงวัตถุอีกต่อไปและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราที่มีปฏิสัมพันธ์ได้และมีชีวิตชีวา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร เช่น งานศิลปะสักชิ้น ชนเผ่าพื้นเมืองหรือระบบนิเวศ มันอาจจะควบคุมเราและทำให้เราลำเอียงเข้าข้างมัน ด้วยเหตุนี้มันจึงคุกคามความบริสุทธิ์ของความรู้อีกครั้ง
สำหรับวัตถุวิสัยนิยม การแสวงหาความรู้ที่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเชิงอัตวิสัยระหว่างผู้รู้และสิ่งรู้จะถือว่าล้าหลัง เชื่อถือไม่ได้และถึงกับอันตรายด้วยซ้ำ ส่วนสัญชาตญาณถูกเยาะเย้ยว่าเป็นสิ่งไร้เหตุผล ความรู้ที่แท้จริงก็ถูกเมินว่าอ่อนไหวเกินเหตุ จินตนาการก็ถูกมองว่าสับสนอลหม่านและไร้ระเบียบ และการเล่าเรื่องก็ถือว่า เป็นเรื่องส่วนตัวและไม่มีแก่นสารอะไร
นี่ ทำให้ดนตรี ศิลปะและการเต้นรำตกไปอยู่อันดับล่างสุดของการจัดลำดับชั้นทางวิชาการ โดยมีศาสตร์ที่แข็ง (Hard Science) อยู่ชั้นบนสุด นี่เป็นเหตุให้ผู้ศึกษาในสาขาวิชาที่เรียกว่าศาสตร์อ่อน (Soft Science) ทำวิจัยแบบวัตถุวิสัยนิยมมากกว่าด้านอัตวิสัย



“นักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาใช้การวิจัยผสมผสานระหว่างเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า บันไดชีวิต (Bamboo Ladder Technique) รวบรวมข้อมูล ในวิชานักพัฒนาสังคม การสอนตามแนวปฏิรูปสังคม (Social Reform)”

แนวคิดวัตถุวิสัยนิยมได้กันตัวคนให้ไกลห่างจากโลกและบิดเบือนความสัมพันธ์ที่เรามีกับวิชาของเรา นักเรียนของเราและกับตัวเราเอง เรารู้ผ่านการเชื่อมสัมพันธ์กับโลก ไม่ใช่ตัดทอนจากโลก การรู้เป็นการที่เราสร้างชุมชนกับสิ่งอื่นที่ไม่มีอยู่ กับความจริงที่อาจหลุดรอดการรับรู้ของเราไปได้ หากปราศจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันแห่งความรู้
ปาร์กเกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์ กล่าวสรุปว่า การรู้เป็นวิถีทางที่มนุษย์แสวงหาความสัมพันธ์ และในกระบวนการนี้จะมีการเผชิญหน้าและแลกเปลี่ยนที่จะทำให้เราเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าให้ลึกที่สุด การรู้เป็นสมบัติของชุมชนเสมอ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น