วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ห้องเรียนแบบใหม่ : เราไม่เคยทิ้งกัน (No Child to be left behind)



                                                                                           สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน

“ถ้ามีใครสักคนมาบอกว่า นักเรียนในโรงเรียนเล่นดนตรีเป็นหมดทุกคน ไม่เฉพาะคุณหรอกที่ทำหน้าฉงนสนเท่ห์ แม้แต่โฮเวริ์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) เจ้าของทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligent) อาจต้องทึ่งในทฤษฎีของตน”

คำสำคัญ (Key Words): กระบวนการคิด (Cognitive learning) สิ่งประดิษฐ์ (Artifact) การประเมินผลการปฏิบัติงาน (Competency or Performance based Assessment), เส้นโค้งปกติ (Normal Curve) พหุปัญญา (Multiple Intelligent)

                “ผมมาครั้งแรกผมเล่นไม่เป็น” ชาญณรงค์ เชนด์สโต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 บอกถึงความสามารถในการเล่นดนตรี (อูคูเลเล่) ของเขา
                “อยู่ไม่นานพี่ ม. 2 มาเล่นให้ฟังหนึ่งเพลง แล้วสอนให้พวกผมเล่นแบบตัวต่อตัว ใช้เวลาเรียนคอร์ด ดีดจังหวะและร้องด้วย 2 ชั่วโมง แล้วแยกย้ายกันไปซ้อม” เขาเล่าวิธีการเรียนการเล่นอูคูเลเล่จากนักเรียนรุ่นพี่วัยใกล้เคียงกันให้ฟัง
                “ก็ซ้อมครั้งละเล็กละน้อยจนจบเพลง แล้วก็นัดมารวมวงทั้งห้อง ซ้อมเล่นพร้อมกันทั้งหมดใช้เวลาหนึ่งเดือนครึ่งพวกผมก็เล่นได้ 2 เพลงและมีโอกาสเล่นให้ผู้ปกครองฟังมาหนึ่งรอบแล้ว” ชาญณรงค์เล่าสรุปผลการเรียนรู้ทักษะด้านดนตรีในกลุ่มชั้นเดียวกัน ซึ่งเล่นได้หมดทุกคน

                โฮเวริ์ด การ์เนอร์ (Howard Gardner) กล่าวว่า การเรียนรู้ที่หลากหลายสไตล์และการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับเด็ก ๆ ทุกคน ไม่อาจหาได้ในวิธีเรียนแบบเก่า”



                  "เด็กชายชาญณรงค์ เชนด์สโต และเพื่อน ๆ เรียนดนตรีจากมาตรฐานของตนเอง"

                      สิ่งที่เรากำลังทำขณะนี้คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสะท้อนผลการเรียนรู้ให้ได้ดี ซึ่งก็คือการประเมินการทำงานของนักเรียนจริง ๆ ดังนั้นเราจึงมีความสนใจน้อยในการประเมินเรื่องความจำตามวิธีการประเมินผลแบบเดิมกล่าวคือ การประเมินข้อเท็จจริง คำจำกัดความ  กระบวนการที่เป็นขั้นตอน  งานที่ทำซ้ำ  สิ่งที่จำได้และจำได้ว่าทำอย่างไร นั่นเป็นการทดสอบแบบดั้งเดิม แต่ตามความหมายใหม่นี้ เราเริ่มที่จะประเมินผลงานที่เป็น สิ่งประดิษฐ์ (Artifact) ความรู้ประดิษฐ์ (knowledge artifacts) ที่นักเรียนผลิตมากขึ้น
                    ดังนั้น สิ่งที่เราเคยเห็นผลงานของพวกเขา เช่น รายงาน และความจำสำคัญ ๆ เกี่ยวกับความจริง หรือการจำคำจำกัดความที่เราเคยเห็น จะมีความสำคัญน้อยกว่า การสร้างงาน ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ (Artifact)  จะเห็นได้ว่า มันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการประเมินจริง ๆ ที่มีการประเมินความจำน้อยกว่า การประเมินการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการคิดทั้งหมด ที่ทำให้พวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักภูมิศาสตร์ได้ และการผลิตเอกสารก็คล้ายกับเอกสารของนักวิทยาศาสตร์และนักภูมิศาสตร์ทำขึ้น

                การประเมินสิ่งประดิษฐ์จึงเป็นหลักฐานจากการปฏิบัติ และแน่ละมันจะมีกระบวนการคิดรวมอยู่ในสิ่งประดิษฐ์นั้นด้วย มันเป็นความคิดระดับสูงกว่าความรู้ความจำ เช่น การคิดวิพากษ์วิจารณ์ การแก้ปัญหา การประยุกต์ใช้ เป็นต้น


                                    
                             "เส้นโค้งปกติรูประฆังค่ำ (Normal Curve) แสดงการแจกแจงความถี่"

                ถ้าเราเคยเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสติปัญญาและความร่วมมือของกลุ่ม ในรูประฆังคว่ำที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมนั้น ได้ให้ความหมายอะไรแก่เรา มันเป็นการกระจายแบบปกติที่โยนเด็กเข้าไปในระฆังคว่ำ และเด็ก ๆ เหล่านี้ จะถูกแยกเป็นสามส่วนคือ แย่มาก กลาง ๆ และดีมาก
                ที่เป็นอย่างนี้เพราะเราต้องการระบบการให้รางวัลแก่คนที่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่ยังมีคนล้มเหลวและคนที่อยู่ระดับกลาง ๆ อยู่ด้วย ความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้อย่างไร นอกจากต้องแข่งขันกัน
แล้วจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ให้มีการทำงานแบบร่วมมืออย่างไร ในขณะที่เรายังอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการทดสอบแบบดั้งเดิม แบบเอาแด็กใส่ลงไปในระฆังคว่ำ แล้วขึงพืดเด็กมัดกับเส้นโค้ง ร่ายมนต์ตัวเลขเสกสถิติให้มีความขลัง
            การประเมินแนวใหม่มีความแตกต่างอย่างไร แตกต่างมาก เพราะว่าสิ่งที่เราสนใจมากไปกว่านี้คือ การประเมินสมรรถนะและผลการปฏิบัติงาน (Competency or performance based assessment) ที่ซึ่งจะทำให้เด็กทุกคนผลิตผลงานที่ยอดเยี่ยมของเขา เราไม่ต้องการเห็นเด็กคนหนึ่งล้มเหลวในขณะที่อีกคนหนึ่งได้รางวัลของความสำเร็จ และอะไรคือ สิ่งที่เราต้องทำให้เด็กทุกคนประสบความสำเร็จ มันไม่ใช่เรื่องตลก
            เราไม่ต้องการทอดทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งให้อยู่เบื้องหลัง รูประฆังคว่ำทำให้พวกเขาถูกทอดทิ้ง เพราะมันเป็นวิธีเดียวที่อธิบายให้รู้ว่า เด็ก ๆ หรือผู้เรียนจะได้รับความสำเร็จ  และบอกให้รู้ถึงคนที่อยู่ระดับกลาง ๆ และคนล้มเหลวได้ด้วย แล้วเราจะทำอย่างไร
            ขอให้เรากลับไปที่กระบวนการอันน่าทึ่งนั้น เราคงเคยทำงานชิ้นเล็ก ๆที่ไม่ยิ่งใหญ่อะไร และอาจไม่ได้รับความน่าเชื่อถือในงานนั้น ๆ ด้วย  ทั้ง ๆ เราที่เคยให้เวลากับมันมาก ๆ มาแล้ว เราเคยกลับไปทำอีกและปรับปรุงแก้ไขไปเรื่อย ๆ
            ต่อมาเมื่อเราได้รับการแนะนำจากคนที่เคยประสบความสำเร็จในงานนั้นมาแล้ว ทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงงานเล็ก ๆ ได้ ภายใต้คำแนะนำและการเฝ้ามองจากผู้รู้  เราใช้เวลาทำงานส่วนนั้นอย่างใจจดใจจ่อ แล้วงานนั้นก็ดีขึ้น
            สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ งานชิ้นต่อ ๆ ไป ซึ่งดีหรือไม่ดีจะอยู่กับคนแต่ละคน และจริง ๆ การเรียนรู้แบบเดียวกันนี้ ในงานอื่น ๆ ของคนอื่น ๆ ก็ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน เราต้องการยืนยันว่ามันดีเยี่ยมได้ แต่กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้เราต้องการดันเด็กขึ้นไปสู่มาตรฐานของงานที่อยู่ไกลไปจากความสามารถของเขา ซึ่งทำไม่ได้



   "การเล่นดนตรีต้อนรับคณะศึกษาดูงานเป็นชีวิตประจำวันของนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนา"

            ความสำเร็จเล็ก ๆเหล่านี้ เมื่อถูกตีพิมพ์หรือเป็นส่วนหนึ่งของแฟ้มผลงาน (Portfolio) มันจะทำให้เด็กคนอื่น ๆ ได้เห็น บางอย่างที่เรารู้สึกว่ายากและไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เราจะรู้วิธีการก็ต่อเมื่อเราได้เห็นบางคนทำให้ดู ลำพังเราไม่สามารถนึกออกถึงวิธีการนั้น
            ดังนั้น เด็ก ๆ ที่ไม่สามารถทำอะไรได้ดี แต่ถ้าได้เห็นตัวอย่างว่าทำอย่างไร ก็สามารถจะทำได้แม้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นจะผ่านมาเป็นปีก็ตาม
            ดังนั้น อยากจะกล่าวถึงเรื่องการสร้างสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับความร่วมมือนั้นทำอย่างไร  ทำไมนักเรียนจึงไม่ประสบความสำเร็จ วิธีการแบบดั้งเดิมทำให้เกิดความล้มเหลว อย่างที่กล่าวมาแล้ว
            ปัจจุบัน เรากำลังใช้กระบวนการเพิ่มพูน (Incremental process) เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร เราไม่ต้องการไปถึงจุดที่ดีที่สุด (The Best) เลยทีเดียว เราต้องการทำดีที่สุดจากการทำแบบค่อย ๆ ดีขึ้น ไปเรื่อย ๆ เพื่อไปหามาตรฐาน ซึ่งเป็นงานที่ยาก แต่สิ่งที่เราพบคือ ความพยายามแล้วพยายามอีกเพื่อให้ความสำเร็จเล็ก ๆ เป็นสิ่งดึงดูดใจไปสู่ผลลัพธ์ของผู้เรียนได้ ดังนั้น ในขณะที่แนวคิดแบบเดิมอยู่ในระบบที่ใช้ผลลัพธ์เป็นฐาน การศึกษาใหม่ให้เหตุผลว่า สิ่งแวดล้อมที่ใช้ในกระบวนการเพิ่มพูนดังกล่าวนี้ จะสร้างสังคมแห่งความร่วมมือและแบ่งปันมาเป็นฐานการเรียนรู้



    "การประเมินมิติใหม่สอดคล้องกับการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้แบบร่วมมือและแบ่งปัน"

            เราอาจเคยเห็นคนอื่น ๆ ได้ทำ แล้วจะทำให้รู้ด้วยตนเองว่าเราสามารถทำได้แค่ไหน นั่นคือ มาตรฐานของตนเอง จะทำให้รู้ว่าจุดเริ่มของความหวังเราอยู่ระดับใด และจะเป็นจุดเริ่มที่จะไปถึงความสำเร็จนั้น แล้วเริ่มที่ตรงนั้น หลักสูตรการศึกษาแบบนี้จะไม่มีคนล้มเหลว

                ผลการเรียนวิชาดนตรีในชั้นเรียนของชาญณรงค์ เชนด์สโต และเพื่อน ๆ เมื่อนำมาแจกแจงความถี่ แล้วสิ่งที่หายไปคือ รูประฆังคว่ำ (Normal Curve)  ไม่มีเพื่อนคนใดถูกทอดทิ้ง (No Child to be left behind)
               

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น