วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ห้องเรียนแบบใหม่ : เราไม่เคยทิ้งกัน (No Child to be left behind)



                                                                                           สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน

“ถ้ามีใครสักคนมาบอกว่า นักเรียนในโรงเรียนเล่นดนตรีเป็นหมดทุกคน ไม่เฉพาะคุณหรอกที่ทำหน้าฉงนสนเท่ห์ แม้แต่โฮเวริ์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) เจ้าของทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligent) อาจต้องทึ่งในทฤษฎีของตน”

คำสำคัญ (Key Words): กระบวนการคิด (Cognitive learning) สิ่งประดิษฐ์ (Artifact) การประเมินผลการปฏิบัติงาน (Competency or Performance based Assessment), เส้นโค้งปกติ (Normal Curve) พหุปัญญา (Multiple Intelligent)

                “ผมมาครั้งแรกผมเล่นไม่เป็น” ชาญณรงค์ เชนด์สโต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 บอกถึงความสามารถในการเล่นดนตรี (อูคูเลเล่) ของเขา
                “อยู่ไม่นานพี่ ม. 2 มาเล่นให้ฟังหนึ่งเพลง แล้วสอนให้พวกผมเล่นแบบตัวต่อตัว ใช้เวลาเรียนคอร์ด ดีดจังหวะและร้องด้วย 2 ชั่วโมง แล้วแยกย้ายกันไปซ้อม” เขาเล่าวิธีการเรียนการเล่นอูคูเลเล่จากนักเรียนรุ่นพี่วัยใกล้เคียงกันให้ฟัง
                “ก็ซ้อมครั้งละเล็กละน้อยจนจบเพลง แล้วก็นัดมารวมวงทั้งห้อง ซ้อมเล่นพร้อมกันทั้งหมดใช้เวลาหนึ่งเดือนครึ่งพวกผมก็เล่นได้ 2 เพลงและมีโอกาสเล่นให้ผู้ปกครองฟังมาหนึ่งรอบแล้ว” ชาญณรงค์เล่าสรุปผลการเรียนรู้ทักษะด้านดนตรีในกลุ่มชั้นเดียวกัน ซึ่งเล่นได้หมดทุกคน

                โฮเวริ์ด การ์เนอร์ (Howard Gardner) กล่าวว่า การเรียนรู้ที่หลากหลายสไตล์และการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับเด็ก ๆ ทุกคน ไม่อาจหาได้ในวิธีเรียนแบบเก่า”



                  "เด็กชายชาญณรงค์ เชนด์สโต และเพื่อน ๆ เรียนดนตรีจากมาตรฐานของตนเอง"

                      สิ่งที่เรากำลังทำขณะนี้คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสะท้อนผลการเรียนรู้ให้ได้ดี ซึ่งก็คือการประเมินการทำงานของนักเรียนจริง ๆ ดังนั้นเราจึงมีความสนใจน้อยในการประเมินเรื่องความจำตามวิธีการประเมินผลแบบเดิมกล่าวคือ การประเมินข้อเท็จจริง คำจำกัดความ  กระบวนการที่เป็นขั้นตอน  งานที่ทำซ้ำ  สิ่งที่จำได้และจำได้ว่าทำอย่างไร นั่นเป็นการทดสอบแบบดั้งเดิม แต่ตามความหมายใหม่นี้ เราเริ่มที่จะประเมินผลงานที่เป็น สิ่งประดิษฐ์ (Artifact) ความรู้ประดิษฐ์ (knowledge artifacts) ที่นักเรียนผลิตมากขึ้น
                    ดังนั้น สิ่งที่เราเคยเห็นผลงานของพวกเขา เช่น รายงาน และความจำสำคัญ ๆ เกี่ยวกับความจริง หรือการจำคำจำกัดความที่เราเคยเห็น จะมีความสำคัญน้อยกว่า การสร้างงาน ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ (Artifact)  จะเห็นได้ว่า มันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการประเมินจริง ๆ ที่มีการประเมินความจำน้อยกว่า การประเมินการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการคิดทั้งหมด ที่ทำให้พวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักภูมิศาสตร์ได้ และการผลิตเอกสารก็คล้ายกับเอกสารของนักวิทยาศาสตร์และนักภูมิศาสตร์ทำขึ้น

                การประเมินสิ่งประดิษฐ์จึงเป็นหลักฐานจากการปฏิบัติ และแน่ละมันจะมีกระบวนการคิดรวมอยู่ในสิ่งประดิษฐ์นั้นด้วย มันเป็นความคิดระดับสูงกว่าความรู้ความจำ เช่น การคิดวิพากษ์วิจารณ์ การแก้ปัญหา การประยุกต์ใช้ เป็นต้น


                                    
                             "เส้นโค้งปกติรูประฆังค่ำ (Normal Curve) แสดงการแจกแจงความถี่"

                ถ้าเราเคยเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสติปัญญาและความร่วมมือของกลุ่ม ในรูประฆังคว่ำที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมนั้น ได้ให้ความหมายอะไรแก่เรา มันเป็นการกระจายแบบปกติที่โยนเด็กเข้าไปในระฆังคว่ำ และเด็ก ๆ เหล่านี้ จะถูกแยกเป็นสามส่วนคือ แย่มาก กลาง ๆ และดีมาก
                ที่เป็นอย่างนี้เพราะเราต้องการระบบการให้รางวัลแก่คนที่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่ยังมีคนล้มเหลวและคนที่อยู่ระดับกลาง ๆ อยู่ด้วย ความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้อย่างไร นอกจากต้องแข่งขันกัน
แล้วจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ให้มีการทำงานแบบร่วมมืออย่างไร ในขณะที่เรายังอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการทดสอบแบบดั้งเดิม แบบเอาแด็กใส่ลงไปในระฆังคว่ำ แล้วขึงพืดเด็กมัดกับเส้นโค้ง ร่ายมนต์ตัวเลขเสกสถิติให้มีความขลัง
            การประเมินแนวใหม่มีความแตกต่างอย่างไร แตกต่างมาก เพราะว่าสิ่งที่เราสนใจมากไปกว่านี้คือ การประเมินสมรรถนะและผลการปฏิบัติงาน (Competency or performance based assessment) ที่ซึ่งจะทำให้เด็กทุกคนผลิตผลงานที่ยอดเยี่ยมของเขา เราไม่ต้องการเห็นเด็กคนหนึ่งล้มเหลวในขณะที่อีกคนหนึ่งได้รางวัลของความสำเร็จ และอะไรคือ สิ่งที่เราต้องทำให้เด็กทุกคนประสบความสำเร็จ มันไม่ใช่เรื่องตลก
            เราไม่ต้องการทอดทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งให้อยู่เบื้องหลัง รูประฆังคว่ำทำให้พวกเขาถูกทอดทิ้ง เพราะมันเป็นวิธีเดียวที่อธิบายให้รู้ว่า เด็ก ๆ หรือผู้เรียนจะได้รับความสำเร็จ  และบอกให้รู้ถึงคนที่อยู่ระดับกลาง ๆ และคนล้มเหลวได้ด้วย แล้วเราจะทำอย่างไร
            ขอให้เรากลับไปที่กระบวนการอันน่าทึ่งนั้น เราคงเคยทำงานชิ้นเล็ก ๆที่ไม่ยิ่งใหญ่อะไร และอาจไม่ได้รับความน่าเชื่อถือในงานนั้น ๆ ด้วย  ทั้ง ๆ เราที่เคยให้เวลากับมันมาก ๆ มาแล้ว เราเคยกลับไปทำอีกและปรับปรุงแก้ไขไปเรื่อย ๆ
            ต่อมาเมื่อเราได้รับการแนะนำจากคนที่เคยประสบความสำเร็จในงานนั้นมาแล้ว ทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงงานเล็ก ๆ ได้ ภายใต้คำแนะนำและการเฝ้ามองจากผู้รู้  เราใช้เวลาทำงานส่วนนั้นอย่างใจจดใจจ่อ แล้วงานนั้นก็ดีขึ้น
            สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ งานชิ้นต่อ ๆ ไป ซึ่งดีหรือไม่ดีจะอยู่กับคนแต่ละคน และจริง ๆ การเรียนรู้แบบเดียวกันนี้ ในงานอื่น ๆ ของคนอื่น ๆ ก็ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน เราต้องการยืนยันว่ามันดีเยี่ยมได้ แต่กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้เราต้องการดันเด็กขึ้นไปสู่มาตรฐานของงานที่อยู่ไกลไปจากความสามารถของเขา ซึ่งทำไม่ได้



   "การเล่นดนตรีต้อนรับคณะศึกษาดูงานเป็นชีวิตประจำวันของนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนา"

            ความสำเร็จเล็ก ๆเหล่านี้ เมื่อถูกตีพิมพ์หรือเป็นส่วนหนึ่งของแฟ้มผลงาน (Portfolio) มันจะทำให้เด็กคนอื่น ๆ ได้เห็น บางอย่างที่เรารู้สึกว่ายากและไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เราจะรู้วิธีการก็ต่อเมื่อเราได้เห็นบางคนทำให้ดู ลำพังเราไม่สามารถนึกออกถึงวิธีการนั้น
            ดังนั้น เด็ก ๆ ที่ไม่สามารถทำอะไรได้ดี แต่ถ้าได้เห็นตัวอย่างว่าทำอย่างไร ก็สามารถจะทำได้แม้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นจะผ่านมาเป็นปีก็ตาม
            ดังนั้น อยากจะกล่าวถึงเรื่องการสร้างสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับความร่วมมือนั้นทำอย่างไร  ทำไมนักเรียนจึงไม่ประสบความสำเร็จ วิธีการแบบดั้งเดิมทำให้เกิดความล้มเหลว อย่างที่กล่าวมาแล้ว
            ปัจจุบัน เรากำลังใช้กระบวนการเพิ่มพูน (Incremental process) เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร เราไม่ต้องการไปถึงจุดที่ดีที่สุด (The Best) เลยทีเดียว เราต้องการทำดีที่สุดจากการทำแบบค่อย ๆ ดีขึ้น ไปเรื่อย ๆ เพื่อไปหามาตรฐาน ซึ่งเป็นงานที่ยาก แต่สิ่งที่เราพบคือ ความพยายามแล้วพยายามอีกเพื่อให้ความสำเร็จเล็ก ๆ เป็นสิ่งดึงดูดใจไปสู่ผลลัพธ์ของผู้เรียนได้ ดังนั้น ในขณะที่แนวคิดแบบเดิมอยู่ในระบบที่ใช้ผลลัพธ์เป็นฐาน การศึกษาใหม่ให้เหตุผลว่า สิ่งแวดล้อมที่ใช้ในกระบวนการเพิ่มพูนดังกล่าวนี้ จะสร้างสังคมแห่งความร่วมมือและแบ่งปันมาเป็นฐานการเรียนรู้



    "การประเมินมิติใหม่สอดคล้องกับการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้แบบร่วมมือและแบ่งปัน"

            เราอาจเคยเห็นคนอื่น ๆ ได้ทำ แล้วจะทำให้รู้ด้วยตนเองว่าเราสามารถทำได้แค่ไหน นั่นคือ มาตรฐานของตนเอง จะทำให้รู้ว่าจุดเริ่มของความหวังเราอยู่ระดับใด และจะเป็นจุดเริ่มที่จะไปถึงความสำเร็จนั้น แล้วเริ่มที่ตรงนั้น หลักสูตรการศึกษาแบบนี้จะไม่มีคนล้มเหลว

                ผลการเรียนวิชาดนตรีในชั้นเรียนของชาญณรงค์ เชนด์สโต และเพื่อน ๆ เมื่อนำมาแจกแจงความถี่ แล้วสิ่งที่หายไปคือ รูประฆังคว่ำ (Normal Curve)  ไม่มีเพื่อนคนใดถูกทอดทิ้ง (No Child to be left behind)
               

 


วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สร้างความรู้ท่ามกลางสิ่งที่เป็นอยู่ (Theory of Knowledge)



                                                                                                                                       สุริยา เผือกพันธ์ : เขียน

“ในวัฒนธรรมที่เน้นเทคนิควิธีการ เรามักสับสนกันระหว่างคำว่า Authority กับ Power ซึ่งแปลว่า อำนาจเหมือนกัน แต่เป็นสองอย่างที่ต่างกัน Power เป็นอำนาจที่ใช้จากภายนอกเข้าสู่ภายใน ส่วน Authority นั้นเกิดจากด้านในเข้าไปด้านนอก เราพลาดตรงที่มัวหา Authority จากภายนอก” (ปาร์เกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์)

คำสำคัญ (Key words): กระบวนการ A-I-C, สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน, โครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน,

                ในปี พ.ศ.  2533 ทูริต ซาโต้ (Turid Sato) และวิลเลี่ยม สมิธ (William E. Smith) ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้นำเอาการประชุมเพื่อระดมความคิดในการพัฒนาหมู่บ้าน/ตำบล ตามกระบวนการ A-I-C (Appreciation, Influence, Control) มาทดลองใช้และเผยแพร่ในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทยร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนและกองฝึกอบรม กรมการพัฒนาชุมชนได้นำเอาแนวความคิดนี้ไปดัดแปลงและฝึกปฏิบัติในระดับหมู่บ้านและตำบล ซึ่งได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์และนำมาใช้ในการปรับปรุงวิธีการกับกระบวนการพัฒนาชนบทและสภาพแวดล้อมในสังคมไทย

                โรงเรียนมีชัยพัฒนามุ่งส่งเสริมนักเรียนให้ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์สร้างสรรค์ ส่งเสริมให้มีความเสียสละ มีความเป็นประชาธิปไตย เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมและเป็นนักพัฒนาสังคม
             การจัดประชุมระดมความคิดในการพัฒนาหมู่บ้าน เป็นเทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านโดยพลังประชาชนได้ถูกดัดแปลงมาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียน ในการพัฒนาโรงเรียนโดยพลังนักเรียนซึ่งโรงเรียนก็เสมือนหมู่บ้าน
                การจัดประชุมดังกล่าว มีขั้นตอนและวิธีการในการระดมความคิดเห็น เปิดโอการสให้นักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาโรงเรียน คัดเลือกโครงการและบริหารโครงการพัฒนาโรงเรียน


                            "การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นการสร้างความรู้จากฐานราก"

                จากข้อสรุปที่ได้จากการนำเอากระบวนการจัดการประชุมมาใช้ในการพัฒนาชนบทพบว่า

1.กระบวนการนี้ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการพัฒนาหมู่บ้าน
2.เปิดโอกาสให้ผู้แทนกลุ่มชาวบ้านต่าง ๆ ในหมู่บ้าน มีส่วนร่วมในการคิด กำหนดทิศทางในการพัฒนาหมู่บ้าน แก้ไขปัญหาและสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นในการพัฒนาหมู่บ้าน
3.กระบวนการนี้เน้นการวางเป้าหมายการพัฒนาที่พึงประสงค์ในอนาคตนับเป็นการรวมพลังการพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์
4.ชาวบ้านมีความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการและมีพลังในการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาชุมชน
5.เป็นกระบวนการที่ช่วยให้นักพัฒนาโดยเฉพาะนักพัฒนาจากภาครัฐได้มีโอกาสใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น


"ศิลปะคือ ความรู้ที่นำเสนอด้วยภาพ เป็นการนำเสนอแนวคิดทฤษฎี เช่นเดียวกับสาขาวิชาอื่น ๆ " 
              
นับได้ว่า การจัดประชมเพื่อระดมความคิดในการพัฒนาหมู่บ้าน/ตำบล กระบวนการ A-I-C นี้ เป็นวิธีการที่นำประชาชนในชนบทให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านและช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดโครงการที่ตรงกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น
จากแนวคิดดังกล่าว เมื่อโรงเรียนดัดแปลงมาเป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนานักเรียน นอกจากการฝึกให้มีทักษะในการจัดประชุมแบบ A-I-C แล้ว ยังหวังอีกด้วยว่า ในโอกาสข้างหน้าเมื่อนักเรียนลงศึกษาและพัฒนาชุมชนจะสามารถนำทักษะนี้ไปใช้ร่วมกับชุมชนได้อย่างไม่แปลกแยก ที่สำคัญต่อความหมายใหม่ในการจัดการเรียนรู้ก็คือ นักเรียนได้เรียนรู้จากโลกของความจริง เรียนรู้จากสิ่งที่เป็นอยู่ เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองให้ดีขึ้น

  ื่
  "ดนตรีคือ ศิลปะที่นำเสนอแนวคิดทฤษฎีด้วยเสียงมีความทัดเทียมกับศาสตร์อื่น ๆ" 

โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันค้นคิดเพื่อพัฒนาดังกล่าว จึงเป็นองค์ความรู้ที่ถูกสร้างขึ้น มาเพื่อประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ดังนั้นวิชาความรู้กับผู้เรียนจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่รายรอบตัวผู้เรียน

ถ้าครูมีอารมณ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสถานการณ์เดียวกัน จะทำให้ครู นักเรียนและวิชาความรู้เป็นหน่วยเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

ปาร์เกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์ กล่าวว่า ในวัฒนธรรมที่เน้นเทคนิควิธีการ เรามักสับสนกันระหว่างคำว่า Authority กับ Power ซึ่งแปลว่า อำนาจเหมือนกัน แต่เป็นสองอย่างที่ต่างกัน Power เป็นอำนาจที่ใช้จากภายนอกเข้าสู่ภายใน ส่วน Authority นั้นเกิดจากด้านในเข้าไปด้านนอก เราพลาดตรงที่มัวหา Authority จากภายนอก

                

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การลดชั้นของศาสตร์อ่อน (Soft Science) : สารพิษตกค้างจากวัตถุวิสัยนิยม (Objectivism)




                                                                                                        สุริยา เผือกพันธ์ เขียน/เรียบเรียง

ทำไม !! อะไร ?? ทำให้ดนตรี ศิลปะและการเต้นรำตกไปอยู่อันดับล่างสุดของการจัดลำดับชั้นทางวิชาการ โดยมีศาสตร์ที่แข็ง (Hard Science) อยู่ชั้นบนสุด นักปฏิรูปการศึกษาพึงตอบ”

คำสำคัญ : ศาสตร์อ่อน (Soft Science), ศาสตร์แข็ง (Hard Science), ธรรมชาติของความรู้ (Epistemological)
มิติการสอน (Perspective on Teaching), วัตถุวิสัย (Objectivism), อัตวิสัย (Subjectivism)

การสอนเป็นศาสตร์และศิลปะ ที่เป็นศิลปะเพราะครูต้องเผชิญหน้ากับผู้เรียนจำนวนมากและมีตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและตัดสินใจอยู่เสมอ ซึ่งโดยปกติครูที่ดีจะมีความชอบที่จะสอนด้วย ดังนั้นอารมณ์และสติปัญญาจึงมีความสำคัญเท่า ๆ กัน ในหลายกรณี ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ครูต้องเข้าใจนักเรียนและเห็นถึงความยากลำบากในการเรียนรู้ของพวกเขา จึงต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพด้วย ในทำนองเดียวกันศาสตร์ของการสอน ต้องอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีและงานวิจัย เราจะเห็นความจริงโดยทั่วไปว่า บ่อยครั้งที่ทฤษฎีมีความไม่ลงรอยกัน ความแตกต่างกันของธรรมชาติของความรู้ (Epistemological) และระบบค่านิยมเป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลง ในหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา เรามีงานวิจัยที่เป็นประโยชน์มากที่อธิบายถึง ทฤษฎีการสอนและการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความเข้มแข็งและเป็นทฤษฎีมีคุณค่าบนพื้นฐานของข้อมูลที่ปราศจากการใช้ความรู้สึก
ในห้องเรียนแบบดั้งเดิม ที่ประกอบด้วยกำแพงสี่ด้าน มีตารางเรียนกำหนดเวลา เป็นพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน แต่ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนได้เปลี่ยนแปลงไปโดยรอบ เพราะการเติบโตทางเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้การเรียนรู้มีอยู่ทั่วไป (Ubiquitous Learning) การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอยากรู้อยากเห็น ห้องเรียนแบบดั้งเดิมไม่อาจตอบสนองการเรียนรู้แบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้การเรียนรู้มีอยู่ทั่วไป (Ubiquitous Learning)"

การเกิดขึ้นของห้องเรียน (The original of the classroom design model) ด้วยสถาบันต่าง ๆ ของเราได้สร้างสรรค์ขึ้นตามยุคตามสมัย  ฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) กล่าวว่า สถาบันนั้นได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อให้ทำหน้าที่ที่สำคัญแก่รัฐ ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความล้มเหลวในการทำหน้าที่ สถาบันจึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะไปตามกาลเวลาและสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป  เราต้องการตรวจสอบรากเหง้าของระบบการศึกษาสมัยใหม่ เพราะว่าการเรียนการสอนในปัจจุบัน ยังได้รับอิทธิพลจากโครงสร้างของสถาบันที่ได้พัฒนามาเมื่อหลายปีมาแล้ว ความต้องการดังกล่าวนี้ ก็เพื่อหาความพอดีของรูปแบบการสอบแบบเดิมที่ยังดำรงอยู่กับยุคสมัยดิจิตัล
มหาวิทยาลัย วิทยาลัยและโรงเรียนในเมืองใหญ่ยังจัดการเรียนการสอนโดยเน้นการพบกลุ่มผู้เรียนและใช้เวลาเป็นกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีในสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ เรายังคงออกแบบการศึกษาตามแบบที่โรงงานเคยครอบงำมาก่อน
ดังนั้น รูปแบบดังกล่าวนี้จึงเหมือนปลาที่ถูกขังอยู่ในอ่างน้ำ ที่ทำได้เพียงการหายใจเพื่อการมีชีวิตอยู่ สิ่งที่ผู้เรียนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เรียนที่ดีในห้องเรียนแบบนี้ก็คือ การอยู่ในห้องเรียนเดิม ๆ เวลาเดิม ๆ เพื่อให้มีเวลาเรียนครบตามกำหนด (เทอมหรือภาคเรียน) เท่านั้น


                                                  “ห้องเรียนแบบดั้งเดิมมีอายุมากว่า 150 ปีแล้ว”

อย่างไรก็ตามรูปแบบการสอนแบบนี้ใช้มากว่า 150 ปีแล้ว ในขณะที่ปัจจุบันธรรมชาติของความรู้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากกาย
แดน แพรตต์ (Dan Pratt, 1998) ได้ศึกษาครูที่สอนผู้ใหญ่จำนวน 253 คนจากประเทศต่าง ๆ และได้อธิบายถึง รูปแบบการสอน 5 มิติคือ
-การสอนแบบถ่ายทอด (Transmission) เนื้อหา (Content) เกี่ยวกับความจริง กฎเกณฑ์ จะเกิดประสิทธิภาพดี เมื่อใช้วิธีการสอนแบบวัตถุวิสัย (Objectivist approach)
-การสอนแบบฝึกงาน (Apprenticeship) การทำตามตัวแบบ (Modeling ways of being) เหมาะสำหรับการเรียนด้วยการปฏิบัติภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
-การสอนแบบพัฒนา (Developmental) การสอนการคิด (Cultivating ways of thinking) เป็นการสอนแบบสรรสร้างและกระบวนการคิด (Constructivist/Cognitivist)
-การสอนแบบอบรมบ่มเพาะ (Nurturing) สนับสนุนให้การเรียนรู้ด้วยตนเองมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น บนพื้นฐานของการประกอบอาชีพโดยเรียนผ่านหลักสูตรออนไลน์ Massive open online course (MOOCs)
-การสอนแนวปฏิรูปสังคม (Social reform) การสอนเพื่อมองหาหรือสร้างสังคมที่ดีกว่า

ในการสอนแต่ละรูปแบบมีความสัมพันธ์กับทฤษฏีการเรียนรู้และเนื้อหาบางเนื้อหาที่แตกต่างกันไป




“นักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาร่วมกันร่างธรรมนูญโรงเรียน การเรียนรู้ชุมชนแบบประชาสังคม เป็นการสร้างพื้นที่ให้กับชุมชนแห่งความจริงได้ฝึกฝนตนเอง”

แต่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แม้เวลาจะผ่านมาหลายปีแล้ว รูปแบบการสอนในยุคบุกเบิกยังคงมีอิทธิพลอยู่อย่างเหนียวแน่นในยุคปัจจุบัน
ปาร์กเกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer, 2557) กล่าวว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในระบบการศึกษานั้น เป็นสิ่งที่แยกครูอาจารย์ออกจากวิชาที่สอนและนักเรียนนักศึกษา เพราะมันหยั่งรากอยู่ในความกลัว รูปแบบดังกล่าวนี้เรียกว่า วัตถุวิสัย (Objectivism) ซึ่งอธิบายว่า ความจริงเป็นสิ่งที่เราเข้าถึงได้ด้วยการแยกตัวเราเองออกจากสิ่งที่อยากรู้ ทั้งร่างกายและอารมณ์ ในโลกของวัตถุวิสัยนิยม อัตวิสัย (Subjectivism) เป็นเรื่องที่น่ากลัว ไม่เพียงเพราะมันทำให้สิ่งต่าง ๆ แปดเปื้อนเท่านั้น แต่เพราะมันสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสิ่งเหล่านั้นด้วย และความสัมพันธ์นี้ก็กำลังแปดเปื้อนด้วยเช่นกัน เมื่อสิ่งหนึ่งมิได้เป็นเพียงวัตถุอีกต่อไปและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราที่มีปฏิสัมพันธ์ได้และมีชีวิตชีวา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร เช่น งานศิลปะสักชิ้น ชนเผ่าพื้นเมืองหรือระบบนิเวศ มันอาจจะควบคุมเราและทำให้เราลำเอียงเข้าข้างมัน ด้วยเหตุนี้มันจึงคุกคามความบริสุทธิ์ของความรู้อีกครั้ง
สำหรับวัตถุวิสัยนิยม การแสวงหาความรู้ที่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเชิงอัตวิสัยระหว่างผู้รู้และสิ่งรู้จะถือว่าล้าหลัง เชื่อถือไม่ได้และถึงกับอันตรายด้วยซ้ำ ส่วนสัญชาตญาณถูกเยาะเย้ยว่าเป็นสิ่งไร้เหตุผล ความรู้ที่แท้จริงก็ถูกเมินว่าอ่อนไหวเกินเหตุ จินตนาการก็ถูกมองว่าสับสนอลหม่านและไร้ระเบียบ และการเล่าเรื่องก็ถือว่า เป็นเรื่องส่วนตัวและไม่มีแก่นสารอะไร
นี่ ทำให้ดนตรี ศิลปะและการเต้นรำตกไปอยู่อันดับล่างสุดของการจัดลำดับชั้นทางวิชาการ โดยมีศาสตร์ที่แข็ง (Hard Science) อยู่ชั้นบนสุด นี่เป็นเหตุให้ผู้ศึกษาในสาขาวิชาที่เรียกว่าศาสตร์อ่อน (Soft Science) ทำวิจัยแบบวัตถุวิสัยนิยมมากกว่าด้านอัตวิสัย



“นักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาใช้การวิจัยผสมผสานระหว่างเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า บันไดชีวิต (Bamboo Ladder Technique) รวบรวมข้อมูล ในวิชานักพัฒนาสังคม การสอนตามแนวปฏิรูปสังคม (Social Reform)”

แนวคิดวัตถุวิสัยนิยมได้กันตัวคนให้ไกลห่างจากโลกและบิดเบือนความสัมพันธ์ที่เรามีกับวิชาของเรา นักเรียนของเราและกับตัวเราเอง เรารู้ผ่านการเชื่อมสัมพันธ์กับโลก ไม่ใช่ตัดทอนจากโลก การรู้เป็นการที่เราสร้างชุมชนกับสิ่งอื่นที่ไม่มีอยู่ กับความจริงที่อาจหลุดรอดการรับรู้ของเราไปได้ หากปราศจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันแห่งความรู้
ปาร์กเกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์ กล่าวสรุปว่า การรู้เป็นวิถีทางที่มนุษย์แสวงหาความสัมพันธ์ และในกระบวนการนี้จะมีการเผชิญหน้าและแลกเปลี่ยนที่จะทำให้เราเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าให้ลึกที่สุด การรู้เป็นสมบัติของชุมชนเสมอ