วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บันไดชีวิตนักเรียน (Bamboo Ladder): ส่วนขยายของโครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน


                                                                                                                                          สุริยา เผือกพันธ์ เขียน

“สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เชื่อว่าหนทางที่จะขจัดความยากจนได้ คือ การทำธุรกิจ เพื่อเปลี่ยนความช่วยเหลือจากแบบสังคมสงเคราะห์ไปสู่การส่งเสริมให้ชาวบ้านมีทักษะในการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม”

คำสำคัญ : บันไดชีวิต (Bamboo Ladder), โครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน, ธุรกิจเพื่อสังคม, นักพัฒนาสังคม,
ต้นทุนทางสังคม (Social capital)

                โครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้านหรือ Village Development Partnership (VDP) เป็นโครงการพัฒนาแบบองค์รวมระดับหมู่บ้าน เพื่อขจัดปัญหาความยากจนที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยวิธีการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นวิธีเก่าใช้ไม่ได้ผล สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เชื่อว่าหนทางที่จะขจัดความยากจนได้ คือ การทำธุรกิจ เพื่อเปลี่ยนความช่วยเหลือจากแบบสังคมสงเคราะห์ไปสู่การส่งเสริมให้ชาวบ้านมีทักษะในการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการ ตามทางการพัฒนาแบบยั่งยืน ชาวบ้านจะมีส่วนร่วมการพัฒนาทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ระดมความร่วมมือจากชาวบ้านเพื่อศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตหมู่บ้าน ร่วมกันคัดเลือกคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อเป็นตัวแทนสะท้อนความคิดความต้องการของชาวบ้านและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนแม้การสนับสนุนของหน่วยงานจะสิ้นสุดแล้ว กิจกรรมพัฒนาในหมู่บ้านยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยสมาคมฯ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา

                โครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างหมู่บ้านในชนบทกับผู้สนับสนุนโครงการ ซึ่งอาจเป็นบุคคล ครอบครัว องค์กร หรือธุรกิจเอกชนที่มีความประสงค์จะช่วยเหลือชาวชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีแนวคิดในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ซึ่งสามารถเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาชนบทและเลือกรูปแบบการมีส่วนร่วมตามนโยบาย ทรัพยากรและทักษะความชำนาญของบริษัท โดยบริษัทสามารถให้การสนับสนุนทั้งในรูปแบบของเงินทุน ความเชี่ยวชาญและทักษะความรู้ต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ชาวบ้านได้ริเริ่มธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักในกระบวนการพัฒนาของของโครงการและเป็นการรวมความเชี่ยวชาญทางการประกอบธุรกิจของบริษัทและความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาบทบาทของสมาคม ฯ เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งผลรวมของความร่วมมือนี้ จะแผ่ขยายไปยังการพัฒนาระดับประเทศจนถึงระดับภูมิภาค


                            "นักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาทำการประเมินคุณภาพชีวิตตนเอง"

                โครงการร่วมพัฒนาหมู่บ้าน มีผู้สนับสนุนหลักคือ Bill and Melinda Gates Foundation ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการภายใต้ชื่อ Village Development for Sustainable Health Development and Poverty Alleviation Project (VDP-GATE) มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (มกราคม 2552- ธันวาคม 2555) ซึ่ง ณ บัดนี้ได้สิ้นสุดโครงการแล้ว

                บันไดชีวิตนักเรียน (Bamboo Ladder) เป็นกิจกรรมส่วนขยายที่พัฒนามาเป็นหลักสูตรของสถานศึกษาในรายวิชานักพัฒนาสังคม ที่มีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1) การเตรียมนักเรียน การจัดตั้งองค์กรนักเรียน หรือคณะกรรมการบริหารนักเรียน การจัดทำบันไดชีวิตนักเรียน การประเมินความต้องการของโรงเรียนเพื่อจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนหรือ Community Need (CNA) การจัดทัศนศึกษาดูงานหรือ Eye Opener Tripและการทบทวน CAN และปรับปรุงแผนพัฒนา
2) แนวทางการพัฒนาโรงเรียน ประกอบด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อและเปลี่ยนเงินทุนธนาคารโรงเรียน การจัดตั้งธนาคารโรงเรียนและการดำเนินกิจกรรมตามแผนพัฒนาโรงเรียน (CNA)
เนื้อหาหลักสูตรดังกล่าวใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ 2 ภาคเรียนโดยส่วนที่ 1 เรียนในภาคเรียนที่ 1 และส่วนที่ 2 เรียนในภาคเรียนที่ 2

               หลังการจัดตั้งองค์กรนักเรียนในรูปคณะกรรมการระดับต่าง ๆ นักเรียนจะเรียนรู้วิธีการจัดทำบันไดชีวิต โดยใช้เทคนิคบันได (Ladder Technique) ทั้งนี้เพื่อทำให้ทราบทัศนคติ ความนิยม รวมไปถึงการให้คุณค่าของแต่ละบุคคลและชุมชนที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่จะได้รับทราบสภาพของชุมชนผ่านทางสายตาของคนในชุมชนและเป็นการศึกษาชุมชนอย่างเป็นองค์รวม (Holistic) นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับชุมชนและร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยสมาชิกของชุมชนเอง

              กระบวนการเหล่านี้เป็นการเรียนรู้ถึงต้นธารของการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน การที่คนในชุมชนมารวมตัวกันแล้วจัดรูปเป็นองค์กรการจัดการ มีการเรียนรู้ที่ทรงพลัง ด้วยการวิเคราะห์ปัญหา วินิจฉัยปัญหา วิเคราะห์ทางเลือกและตัดสินใจเลือกที่ถูกต้อง


                                         "นักเรียนร่วมกันวิเคราะห์คุณภาพชีวิตตนเองในระดับชั้นเรียน"

               การรวมตัวของคนในชุมชนทำให้เกิดต้นทุนทางสังคม (Social capital) บวกกับการมีการจัดการและการเรียนรู้ จะทำให้ศักยภาพในการแก้ปัญหาของชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

               โรงเรียนเป็นชุมชนหนึ่งที่มีความหลากหลายทางคุณวุฒิ วัยวุฒิ เช่นสังคมโดยทั่วไป การจัดหลักสูตรเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในโรงเรียน เป็นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนได้มีโอกาสพัฒนาทักษะชีวิตเพื่อนำไปใช้ในสังคมแห่งศตวรรษที่ 21 อันเป็นสังคมที่จะมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในอนาคตข้างหน้า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น